แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2266/2552 ของศาลชั้นต้น เป็นคดีที่ อ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 เป็นจำเลย โดยมูลเหตุมาจากการที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ในฐานะ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ใช้หลักเกณฑ์ขัดกับหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาคราวเดียวกันกับมูลเหตุคดีนี้ และศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในส่วนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีของศาลชั้นต้นดังกล่าวด้วยนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า วันที่ 11 สิงหาคม 2549 อันเป็นวันที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์แล้วพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 เท่ากับศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดนั้นแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้ว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2549 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาย้ายและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 เพื่อช่วยเหลือพวกของตน กลั่นแกล้งโจทก์และผู้บริหารสถานศึกษาอื่นให้ได้รับความเสียหาย การร่วมกันกำหนดแนวทางในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยกำหนดให้มีการประเมินเป็นคะแนน ต่อมาร่วมกันประเมินคะแนนและร่วมกันพิจารณาอนุมัติย้าย ณ. ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ส. ตามคะแนนที่ประเมินโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามแนวทางในการพิจารณาซึ่งกำหนดขึ้น เห็นได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่แสดงความจำนงจะขอย้ายในคราวเดียวกันให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ส. การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ตามฟ้องจึงเป็นกรรมเดียว และข้อกล่าวหาในคดีก่อนและคดีนี้มีมูลมาจากเหตุเดียวกัน เมื่อการกระทำตามฟ้องได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 157
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 6 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 นั้นให้ยกฟ้อง
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้เป็นที่ยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุมัติการย้ายและให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 โจทก์เป็นข้าราชการครูตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเวียงเจดีย์วิทยา ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ได้ยื่นคำขอย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 อันอยู่ในเขตอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ในการพิจารณาอนุมัติการย้ายและการแต่งตั้ง โดยมีผู้แสดงความจำนงขอย้ายไปดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีก 7 คน รวมทั้งนายณรงค์ ก่อนมีการพิจารณาโยกย้าย จำเลยที่ 9 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ร่วมเป็นกรรมการ จำเลยที่ 9 เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการดังกล่าวนี้ประเมินการปฏิบัติงานโดยให้คะแนนนายณรงค์ว่าสมควรได้รับการย้าย ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2549 คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประชุมและมีมติเห็นควรย้ายนายณรงค์และข้าราชการครูรายชื่อตามสำเนารายงานการประชุม และเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2549 อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ประชุมและมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งข้าราชการไปดำรงตำแหน่ง รวมถึงให้นายณรงค์ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ โดยจำเลยที่ 9 มีคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ให้ย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง 21 คน รวมทั้งนายณรงค์
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) แล้วหรือไม่ กรณีของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2266/2552 ของศาลชั้นต้น เป็นคดีที่นายเอกชัย เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 เป็นจำเลย โดยมูลเหตุมาจากการที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ในฐานะ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ใช้หลักเกณฑ์ ขัดกับหลักเกณฑ์ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนดในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาคราวเดียวกันกับมูลเหตุคดีนี้ และศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในส่วนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ในความผิดเดียวกับที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ไปแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีของศาลชั้นต้นดังกล่าวด้วยนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า วันที่ 11 สิงหาคม 2549 อันเป็นวันที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 ประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์แล้วพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 เท่ากับศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดนั้นแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) แล้วเช่นกัน
การที่โจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้ว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2549 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาย้ายและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาลำพูน เขต 1 เพื่อช่วยเหลือพวกของตน กลั่นแกล้งโจทก์และผู้บริหารสถานศึกษาอื่นให้ได้รับความเสียหาย การร่วมกันกำหนดแนวทางในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยกำหนดให้มีการประเมินเป็นคะแนน ต่อมาร่วมกันประเมินคะแนนและร่วมกันพิจารณาอนุมัติย้ายนายณรงค์ ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ตามคะแนนที่ประเมินโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามแนวทางในการพิจารณาซึ่งกำหนดขึ้น เห็นได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันในการพิจารณาย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่แสดงความจำนงจะขอย้ายในคราวเดียวกันให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ตามฟ้องจึงเป็นกรรมเดียว และข้อกล่าวหาในคดีก่อนและคดีนี้มีมูลมาจากเหตุเดียวกัน เมื่อการกระทำตามฟ้องได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาชอบแล้ว เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาตามฎีกาข้ออื่นของโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเป็นอื่น ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน