คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2997/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ จำเลย กับพวกเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท ธ. มีต่อบริษัท บ. จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน และถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้ ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ ไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 296 การที่จำเลยและบริษัท บ. ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยชำระหนี้ 1,600,000 บาท และเมื่อจำเลยปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ครบถ้วนเสร็จสิ้น บริษัท บ. จะถอนการยึดที่ดินรวมทั้งหมด 5 แปลง ให้แก่จำเลย และจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ กับจำเลยอีกต่อไป ต่อมาบริษัท บ. มีหนังสือยืนยันการชำระหนี้ว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่บริษัท บ. ครบถ้วนตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 แสดงให้เห็นว่าบริษัท บ. เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ระงับสิ้นไปแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 ประกอบมาตรา 296 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้อีก โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของบริษัท บ. ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้
อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 ประกอบตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กำหนดให้ชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นควรมีคำสั่งให้ชัดแจ้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,387,245 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,177,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,188,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2558 และของต้นเงิน 588,750 บาท นับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์ จำเลย นายชัยยศและนายรุ่งเรืองเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัทธุรกิจเพื่อการเกษตร จำกัด มีต่อธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) โอนหนี้สินดังกล่าวให้บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ยื่นคำฟ้องคดีแพ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทธุรกิจเพื่อการเกษตร จำกัด โจทก์ จำเลยและนายรุ่งเรืองร่วมกันชำระหนี้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด เป็นเงิน 24,002,396.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงิน 17,629,288.25 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนนายชัยยศศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากถึงแก่กรรมไปก่อนที่บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด จะฟ้องคดี ต่อมาบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ยื่นคำฟ้องคดีล้มละลาย ศาลฎีกาพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทธุรกิจเพื่อการเกษตร จำกัด และนายรุ่งเรืองเด็ดขาด
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด มาไล่เบี้ยจากจำเลยให้ชำระหนี้ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ จำเลย กับพวกเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัทธุรกิจเพื่อการเกษตร จำกัด เป็นหนี้ต่อบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ดังนี้ จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งมาตรา 296 บัญญัติว่า ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ คดีนี้โจทก์มีตัวโจทก์และนายอนุชิต อดีตพนักงานบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด เบิกความเป็นพยานว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโจทก์ 2 แปลง เพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ โจทก์ติดต่อเจรจาและทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ไป 2 ครั้ง ครบถ้วนแล้ว ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 เป็นเงิน 4,000,000 บาท ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 เป็นเงิน 2,355,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,355,000 บาท แล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการยึดที่ดินทั้งสองแปลง ดังกล่าว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด และมีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยให้ชำระหนี้แก่โจทก์ แต่โจทก์และนายอนุชิตก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด เมื่อเดือนตุลาคม 2558 ส่วนจำเลยทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด เมื่อเดือนมีนาคม 2555 และบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ได้แจ้งจำเลยว่าจำเลยชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 เห็นว่า โจทก์ จำเลยกับพวกเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัทธุรกิจเพื่อการเกษตร จำกัด มีต่อบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน และถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใดเจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้ร่วมคนใด ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงชำระตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไปตามมาตรา 296 ซึ่งเมื่อพิจารณาสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ปรากฏว่าจำเลยและบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยชำระหนี้ 1,600,000 บาท และเมื่อจำเลยปฏิบัติตามสัญญาฉบับนี้ครบถ้วนเสร็จสิ้น บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด จะยินยอมถอนการยึดที่ดินรวมทั้งหมด 5 แปลง ให้แก่จำเลย และจะไม่ดำเนินคดีใด ๆ กับจำเลยอีกต่อไป ต่อมาบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด มีหนังสือยืนยันการชำระหนี้ว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ครบถ้วนตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 แสดงให้เห็นว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด เจ้าหนี้ได้ปลดหนี้ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมที่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ระงับสิ้นไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 ประกอบมาตรา 296 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้อีก โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 ประกอบตาราง 7 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กำหนดให้ชัดแจ้ง ศาลฎีกาเห็นควรมีคำสั่งให้ชัดแจ้ง
พิพากษายืน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์กับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share