แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะแต่ทางพิจารณาไม่ได้ความว่าจำเลยได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะ จำเลยเป็นแต่ลูกจ้างคนขับรถยนต์โดยสารสาธารณะของนายจ้างเท่านั้น แม้จำเลยจะขับรับผู้โดยสารล่วงล้ำเข้าไปในเส้นทางที่รถบริษัทอื่นได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทางก็ตาม คนขับหรือจำเลยซึ่งมิใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะ ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14
พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ.2497 มาตรา 14 บัญญัติห้ามเฉพาะผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะเท่านั้น จะขยายความไปถึงคนอื่นด้วยไม่ได้ เพราะเป็นความผิดอาญา
แม้การเก็บค่าโดยสารมีลักษณะเป็นการแข่งขันก็จริง แต่เมื่อจำเลยมิใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะ ก็ขาดองค์ความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ.2497 มาตรา 14
กรณีบุคคลสองคนขึ้นไปร่วมกันทำความผิดนั้น โจทก์จะไม่ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาด้วยก็ได้ แต่โจทก์ต้องบรรยายฟ้อง มิฉะนั้นก็ไม่มีข้อหาหรือประเด็นว่าจำเลยกระทำผิดร่วมกับพวกหรือไม่
ความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง มาตรา 14 เป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคลผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะเท่านั้น ไม่อาจมีการร่วมกันกระทำผิดกับผู้ที่มิได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะด้วยได้
ย่อยาว
คดีทั้ง 6 สำนวนนี้ โจทก์ฟ้องมีใจความอย่างเดียวกันว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตการขนส่งสาธารณะได้เข้าทำการขนส่งโดยรับจ้างขนส่งคนโดยสารด้วยรถยนต์ในเส้นทางสาย 138 หมวด 3 อันเป็นการแข่งขันกับบริษัทเพชรประเสริฐ จำกัด ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทางในเส้นทางดังกล่าว และจำเลยในสำนวนที่ 6 ได้กระทำผิดฐานขับรถยนต์รับจ้างโดยไม่มีใบอนุญาตให้ขับรถยนต์อีกด้วยขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 14, 60 และให้ลงโทษจำเลยในสำนวนที่ 6 ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 33 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ด้วย
จำเลยทุกสำนวนให้การปฏิเสธความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งส่วนข้อหาฐานขับรถยนต์รับจ้างโดยไม่มีใบอนุญาตสำหรับนายชุมพลจำเลยจำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วรวมพิพากษาทั้ง 6 สำนวนโดยฟังว่าจำเลยทุกคนไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะ เป็นแต่คนขับรถของนายสวง บัวเจริญ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตการขนส่งสาธารณะและใช้ให้จำเลยขับรถยนต์รับส่งคนโดยสารไปในเส้นทางที่นายสวง บัวเจริญ ไม่ได้รับอนุญาตการขนส่งประจำทาง จำเลยจึงเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนายสวง บัวเจริญ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พิพากษาว่าจำเลยทุกสำนวนมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2479(ที่ถูกเป็น พ.ศ. 2497) มาตรา 14 ให้ปรับจำเลยทุกสำนวนคนละ 1,000บาท สำหรับนายชุมพล สุขเจริญ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2473 มาตรา 33 อีกกระทงหนึ่งด้วย ให้ปรับ 80 บาท ลดโทษฐานรับสารภาพข้อหานี้ให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 40 บาท บังคับค่าปรับตามมาตรา 29, 30
จำเลยทุกสำนวนอุทธรณ์ว่า ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 14
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นเพียงผู้ขับรถอย่างเดียวไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องและไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยร่วมกระทำผิดกับนายสวง บัวเจริญ เจ้าของรถยนต์นายจ้างของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกระทำผิดกับผู้ใดและไม่มีคำขอตามมาตรา 83 ด้วย ประเด็นอื่นที่จำเลยอุทธรณ์ ไม่ต้องวินิจฉัยพิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์ทุกสำนวนในความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาทุกสำนวน ขอให้ลงโทษตามฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะถูกต้องตามความในมาตรา 14 ดังกล่าวแต่ทางพิจารณาไม่ได้ความเลยว่าจำเลยได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะจำเลยเป็นแต่ลูกจ้างคนขับรถยนต์โดยสารสาธารณะของนายสวงเท่านั้นแม้จำเลยจะขับรับผู้โดยสารล่วงล้ำเข้าไปในเส้นทางที่บริษัทเพชรประเสริฐจำกัดได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทางก็ตาม คนขับหรือจำเลยซึ่งมิใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นคนขับรถยนต์ขนส่งสาธารณะ เมื่อจำเลยถูกจับจำเลยมิได้แจ้งว่าจำเลยมิใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะประการใด จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะตามฟ้องนั้น เห็นว่า จะฟังดังโจทก์อ้างมิได้เพราะข้อนี้เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสารสำคัญข้อแรกของความผิดตามมาตรา 14 ที่โจทก์ฟ้องเมื่อจำเลยปฏิเสธฟ้อง โจทก์ต้องนำสืบ แต่โจทก์มิได้นำสืบข้อนี้เลย และทางพิจารณาก็ไม่ได้ความเช่นนั้นด้วย
ที่โจทก์อ้างว่า ถ้าความผิดตามมาตรา 14 นี้จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะเท่านั้นแล้ว ก็จะหลบเลี่ยงกฎหมายกันได้ โดยจ้างคนอื่นมาขับรถขนส่งสาธารณะแทนโดยผู้ขับไม่มีความผิดนั้น เห็นว่า เมื่อมาตรา 14 บัญญัติห้ามเฉพาะผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะเท่านั้นแล้ว จะขยายความไปถึงคนอื่นด้วยไม่ได้ เพราะเป็นความผิดอาญา และจะว่าหลบเลี่ยงกฎหมายกันได้ก็ไม่ได้เพราะผู้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะที่เป็นเจ้าของรถขนส่งสาธารณะนั้น ๆ ย่อมมีความผิดอยู่แล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า ปรากฏว่าจำเลยทุกคนได้เรียกเก็บค่าโดยสารหาใช่นายสวงเจ้าของรถขนส่งสาธารณะเป็นผู้เก็บไม่ จึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะเข้าทำการขนส่งในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทาง จำเลยจึงมีความผิดนั้น เห็นว่า การเก็บค่าโดยสารมีลักษณะเป็นการแข่งขันจริง แต่เมื่อจำเลยมิใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะแล้วก็ขาดองค์ความผิดตามมาตรา 14
ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดร่วมกับผู้ใดก็เพราะการที่มีบุคคลสองคนร่วมกันกระทำผิดนั้นโจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้อง เพียงแต่บรรยายว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายก็พอแล้ว และไม่ต้องระบุมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญาในคำขอด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์จะไม่ระบุประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 มาด้วยก็ได้ แต่กรณีบุคคลสองคนขึ้นไปร่วมกันกระทำความผิดนั้นโจทก์จะต้องบรรยาย มิฉะนั้นก็ไม่มีข้อหาหรือประเด็นว่าจำเลยกระทำผิดร่วมกับพวกหรือไม่ และเห็นว่า ความผิดตามมาตรา 14 ที่โจทก์ฟ้อง เป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคลผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะเท่านั้นไม่อาจมีการร่วมกันกระทำผิดกับผู้ที่มิได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะด้วยได้
พิพากษายืน