คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ยิงปืนเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายเป็นการยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อันเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายอยู่ในตัว จึงเป็นการกระทำความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งศาลจะลงโทษอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อีกสถานหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตร 32, 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืนและซองพกในผ้าสีดำของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหามีและพาอาวุธปืน ส่วนข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นให้การปฏิเสธ แต่รับว่าใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเพื่อข่มขู่โดยไม่ได้มีเจตนาฆ่าและเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองมีอายุสิบเก้าปีเศษ แต่จากลักษณะความผิดจำเลยทั้งสองย่อมรู้ผิดชอบดีแล้ว จึงไม่มีเหตุลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 10 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและร่วมกันพาอาวุธปืนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 เดือน ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น คำรับและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 17 เดือน คำรับและทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 20 เดือน ริบอาวุธปืนและซองพกในผ้าสีดำของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย เมื่อขับมาจากท้ายซอยและผ่านหน้าบ้านนายพิชานนท์ ผู้เสียหาย ซึ่งขณะนั้นผู้เสียหายนั่งเล่นกีตาร์ที่ม้านั่งหน้าบ้านห่างจากถนนหน้าบ้าน 10 เมตร จำเลยที่ 2 ชะลอความเร็วของรถแล้วจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปถูกฝาผนังบ้านตรงที่วางม้านั่ง สูงจากพื้นประมาณ 2 เมตร เหนือศีรษะผู้เสียหายประมาณ 1 เมตร ไม่ถูกผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนไปตรวจสอบที่เกิดเหตุหลังเกิดเหตุประมาณ 50 นาที พบรอยกระสุนปืนที่ฝาผนังบ้าน และพบลูกกระสุนปืน 1 ลูก ที่ตกบริเวณที่เกิดเหตุจึงยึดเป็นของกลาง จากการตรวจสอบภาพในกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุพบจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 ซ้อนท้ายหลบหนีจากที่เกิดเหตุ และคืนเกิดเหตุ ขณะร้อยตำรวจโทภานุ กับพวกขับรถยนต์ของราชการตรวจพื้นที่ถึงซอย สท.ธำรงค์ เวลาประมาณ 22 นาฬิกา พบจำเลยที่ 1 ขับจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนโดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้าย ลักษณะท่าทางพิรุธ จึงขอตรวจค้นจำเลยทั้งสอง ผลการตรวจค้นจำเลยที่ 1 พบอาวุธปืนสั้นไทยประดิษฐ์ ขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนบรรจุอยู่ในรังเพลิง 1 นัด อยู่ที่สะเอวด้านหน้ามีชายเสื้อปิดไว้ และพบกระสุนปืน ขนาด .38 อีกจำนวน 3 นัด ในกระเป๋ากางเกงด้านหน้าข้างซ้าย ส่วนจำเลยที่ 2 ค้นตัวแล้วไม่พบสิ่งผิดกฎหมายจึงทำประวัติไว้เบื้องต้นแล้วปล่อยตัวจำเลยที่ 2 ไป จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โจทก์มีนายพิชานนท์ ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความในทำนองว่า ผู้เสียหายเคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน เคยมีการมองหน้าท้าทายกันหลายครั้ง วันที่ 24 สิงหาคม 2559 เวลาประมาณช่วงเย็น จำเลยที่ 1 ส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊กไปหานางสาวธนาพร คนรักของผู้เสียหายว่า “ไอสัส” เป็นเหตุให้ผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 มีการส่งข้อความโต้ตอบกันจนมีการนัดหมายกับจำเลยที่ 1 ไปชกต่อยกันที่สนามกีฬากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่เมื่อผู้เสียหายไปตามเวลาที่นัดกลับไม่พบจำเลยที่ 1 ในวันถัดมาซึ่งเป็นวันเกิดเหตุตั้งแต่ช่วงเช้าถึงช่วงค่ำ ผู้เสียหายเขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กด่าว่าจำเลยที่ 1 ถึงเหตุที่ไม่ยอมไปตามนัด ว่าเหตุใดท้าแล้วไม่ยอมออกมา จนกระทั่งเวลาประมาณ 22 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายนั่งเล่นกีตาร์อยู่ที่ม้านั่งหน้าบ้าน เห็นชาย 2 คน สวมหมวกนิรภัยขับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นเวฟ 110 สีน้ำเงินขาว ก่อนถึงหน้าบ้านได้ชะลอความเร็วลง ผู้เสียหายเห็นคนนั่งซ้อนท้ายชักอาวุธปืนสั้นเล็งยิงมาที่ผู้เสียหาย 1 นัด กระสุนปืนเฉี่ยวศีรษะไปถูกผนังปูนด้านหลัง ขณะนั้นคนร้ายอยู่ห่างจากผู้เสียหายประมาณ 4 เมตร แล้วเร่งเครื่องรถจักรยานยนต์หลบหนีไปอย่างรวดเร็ว ผู้เสียหายวิ่งตามไปเห็นรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเลี้ยวเข้าซอย สท.ธำรงค์ไป จึงกลับมาที่บ้าน เห็นว่า โจทก์นำสืบถึงสาเหตุที่จำเลยที่ 1 ยิงปืนเข้าไปในบ้านผู้เสียหายว่าเป็นเพราะจำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายมีปัญหาโต้เถียงกัน มีการนัดหมายกันไปชกต่อยที่สนามกีฬามาก่อนแต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ไปตามนัด ผู้เสียหายจึงส่งข้อความมาด่าว่าจำเลยที่ 1 นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 มีปัญหาเรื่องอื่นใดต่อกันอีก มูลเหตุดังกล่าวจึงไม่ได้ร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยที่ 1 จะต้องเอาชีวิตผู้เสียหาย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เห็นผู้เสียหายในขณะนั่งเล่นกีตาร์ที่ม้านั่งหน้าบ้านอยู่ห่างจากถนนหน้าบ้านเพียง 10 เมตร โดยไม่รู้ตัว จำเลยที่ 1 มีเวลาและมีโอกาสเลือกยิงผู้เสียหายได้สะดวก ทั้งนายพิบูลย์ บิดาของผู้เสียหาย เบิกความเป็นพยานโจทก์ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า รั้วหน้าบ้านที่เกิดเหตุสูงประมาณ 1.5 เมตร โดยครึ่งล่างเป็นปูนทึบ ครึ่งบนเป็นลูกกลึงปูนสูงประมาณ 40 เซนติเมตร ลูกกลึงแต่ละลูกอยู่ห่างกันประมาณ 40 เซนติเมตร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าวิถีกระสุนที่จำเลยที่ 1 ยิงเข้าไปในบ้านผู้เสียหายสูงจากกำแพงบ้านไปและมีรอยกระสุนอยู่ห่างจากพื้นถึง 2 เมตร เหนือศีรษะผู้เสียหายประมาณ 1 เมตร เป็นระยะที่สูงเกินกว่าที่จะทำอันตรายผู้เสียหายได้ และเป็นการยิงเพียงนัดเดียวโดยไม่ได้ยิงซ้ำทั้งที่มีโอกาสกระทำ ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้เสียหายที่วิ่งตามรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ออกมาหน้าบ้านทั้งที่ตนมีแค่มือเปล่าในขณะที่คนร้ายมีอาวุธปืนและเพิ่งยิงเข้าไปในบ้านตนเองนั้น แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายเองก็ทราบเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่าประสงค์ที่จะยิงข่มขู่ผู้เสียหายเพราะถูกผู้เสียหายเหยียดหยามที่ไม่ไปตามนัดหมายมากกว่าที่จะประสงค์จะเอาชีวิตของผู้เสียหาย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย คงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนายิงปืนเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ให้จำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายแล้วจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงขู่ผู้เสียหายดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 พยายามฆ่าผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น แต่เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ยิงปืนเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายเป็นการยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน อันเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายอยู่ในตัว จึงเป็นการกระทำความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งศาลจะลงโทษอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร และฐานร่วมกันยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชนหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 2 ฎีกาทำนองที่ว่า จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ไปตามที่จำเลยที่ 1 บอกทาง โดยจำเลยที่ 1 บอกเพียงว่าจะไปบ้านเพื่อนเท่านั้น จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ทางนำสืบโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 1 ไปที่บ้านของผู้เสียหายและชะลอความเร็วที่หน้าบ้านของผู้เสียหายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ยิงปืนเข้าบ้านผู้เสียหายจากนั้นจึงขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อน จำเลยที่ 1 เบิกความว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปรับจำเลยที่ 2 เพื่อไปดื่มน้ำชากันที่ร้านข้างซอย สท.ธำรงค์ เมื่อรับจำเลยที่ 2 แล้วเปลี่ยนให้จำเลยที่ 2 เป็นคนขับไปยังร้านน้ำชา ขณะถูกจับจำเลยที่ 1 ก็เป็นคนขับขี่รถจักรยานยนต์แสดงว่า จำเลยที่ 1 ก็เคยให้จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของตนเองโดยมีตนเองซ้อนท้าย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 2 ช่วยขับรถจักรยานยนต์ไปบ้านเพื่อนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 เคยทำให้อยู่แล้ว สาเหตุการยิงก็เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างจำเลยที่ 1 และผู้เสียหาย ทั้งจำเลยที่ 1 ยืนยันตลอดมาตั้งแต่ถูกจับกุมว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามภาพถ่ายจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 เขียนยืนยันไว้ อาวุธปืนก็มีขนาดเล็กสะดวกแก่การซุกซ่อนพกติดตัว ขณะจับกุมจำเลยที่ 1 อาวุธปืนก็เหน็บอยู่ที่เอวด้านหน้าของจำเลยที่ 1 โดยมีชายเสื้อปิดไว้ ส่วนจำเลยที่ 2 จากการตรวจค้นตัวชั้นจับกุมไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย เจ้าพนักงานก็ยังปล่อยตัวจำเลยที่ 2 จับกุมแต่เฉพาะจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ยังมีเหตุให้ระแวงสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนับสนุนให้สิ้นสงสัย จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุก 3 เดือน นั้น เห็นว่า เหมาะสมแก่ความผิดแล้ว แต่พฤติกรรมการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เป็นเพราะมีสาเหตุกันส่วนตัวกับผู้เสียหายเท่านั้นไม่ใช่ภัยสาธารณะ ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุสิบเก้าปีเศษ ยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน หากได้รับโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนต่อไปและได้รับการขัดเกลานิสัยและความประพฤติในสังคมน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 1 และสังคมในระยะยาวมากกว่าการลงโทษจำคุกในระยะสั้นซึ่งนอกจากจะไม่เกิดผลในการฟื้นฟูแก้ไขความประพฤติของจำเลยที่ 1 แล้ว ยังทำให้จำเลยที่ 1 มีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วยากที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวโดยสุจริตต่อไปได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และคุมความประพฤติในระหว่างรอการลงโทษโดยให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 อีกสถานหนึ่งด้วย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 6 วัน และปรับ 3,000 บาท รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 วัน และปรับ 1,500 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 อีกสถานหนึ่ง ฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 10,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 10,000 บาท รวม 20,000 บาท รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 10,000 บาท รวมปรับ 11,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ จำนวน 6 ครั้ง ภายในกำหนดระยะเวลา 2 ปี ให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ตามพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร จำนวน 24 ชั่วโมง หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share