แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป. เข้าพักที่โรงแรม ก. ของจำเลยโดยนำรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปจอดที่ลานจอดรถของโรงแรม ร. ตามที่พนักงานของโรงแรม ก. บอก โดยไม่มีใครทักท้วงหรือห้ามไม่ให้ ป. นำรถเข้าไปจอด ย่อมแสดงให้เห็นวิธีปฏิบัติว่า โรงแรม ก. อาศัยพึ่งพิงลานจอดรถของโรงแรม ร. เสมือนเป็นลานจอดรถของตนในกรณีที่รถยนต์ของลูกค้าของโรงแรม ก. เป็นรถขนาดใหญ่และไม่สามารถเข้าไปจอดในลานจอดรถของโรงแรม ก. ได้ และน่าจะได้รับความยินยอมจากโรงแรม ร. เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น ย่อมเป็นการยากที่บุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่ลูกค้าของโรงแรม ร. จะสามารถนำรถเข้าไปจอดภายในลานจอดรถของโรงแรมได้ เมื่อรถบรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไป จำเลยในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมจึงต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่ง ป. คนเดินทางหรือแขกอาศัยได้พามา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 674 เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปตามสัญญาประกันภัยแล้ว ย่อมได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 2,043,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 มกราคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 43,750 บาท (ฟ้องวันที่ 20 เมษายน 2550) กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 9,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 1,800,000 บาท เท่าราคาตามสภาพรถบรรทุกคันพิพาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 มกราคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 96 – 0232 กรุงเทพมหานคร ไว้จากบริษัทซีโน – แปซิฟิคเทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2550 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงแรม ชื่อโรงแรมเกสท์เฮ้าส์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เวลาประมาณ 19.50 นาฬิกา นายประเสริฐ และนายอานนท์ พนักงานของบริษัทซีโน – แปซิฟิคเทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด เข้าพักที่โรงแรมเกสท์เฮ้าส์ของจำเลยห้องพักเลขที่ 414 เป็นเวลา 3 คืน โดยในช่วงเวลากลางวันนายประเสริฐจะขับรถบรรทุกคันดังกล่าวพานายอานนท์ไปส่งของให้ลูกค้า ส่วนช่วงเวลากลางคืนจะนำรถไปจอดไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรมราชพฤกษ์ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2549 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา หลังจากส่งสินค้าให้ลูกค้าเสร็จแล้ว นายประเสริฐขับรถบรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปจอดในลานจอดรถของโรงแรมราชพฤกษ์ ต่อมาในช่วงเช้าของวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 เวลา 7.30 นาฬิกา นายประเสริฐไปที่ลานจอดรถ ปรากฏว่ารถบรรทุกสูญหายไป นายประเสริฐแจ้งให้พนักงานของโรงแรมเกสท์เฮ้าส์ทราบ และไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,000,000 บาท ตามจำนวนทุนประกันแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า นายประเสริฐนำรถบรรทุกไปจอดไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรมราชพฤกษ์ ไม่ใช่ลานจอดรถของโรงแรมจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ นั้น เห็นว่า แม้รถบรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้จะสูญหายไปในขณะที่จอดไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรมราชพฤกษ์ แต่โจทก์ก็นำสืบว่า เหตุที่นายประเสริฐนำรถไปจอดไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรมราชพฤกษ์เนื่องจากรถบรรทุกมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถนำเข้าไปจอดในลานจอดรถของโรงแรมเกสท์เฮ้าส์ได้เพราะประตูทางเข้าโรงแรมเกสท์เฮ้าส์มีเหล็กกั้นความสูงอยู่ พนักงานของโรงแรมเกสท์เฮ้าส์จึงบอกให้นายประเสริฐนำรถไปจอดไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรมราชพฤกษ์ ซึ่งในข้อนี้ได้ความจากนายชัยศักดิ์ ผู้จัดการโรงแรมเกสท์เฮ้าส์ว่า ประตูทางเข้าโรงแรมมีเสา 2 ต้นและมีคานบนสูงจากพื้นประมาณเกือบ 3 เมตร และได้ความจากนายทนงศักดิ์ พนักงานของโรงแรมเกสท์เฮ้าส์ว่า นายทนงศักดิ์เคยบอกให้ลูกค้าของโรงแรมเกสท์เฮ้าส์นำรถไปจอดที่บริเวณลานจอดรถของโรงแรมราชพฤกษ์ อันเป็นการเจือสมกับพยานโจทก์ เมื่อจำเลยนำสืบว่าโรงแรมเกสท์เฮ้าส์มีลานจอดรถ 2 แห่ง คือบริเวณถนนด้านหน้าโรงแรม และบริเวณด้านทิศตะวันออกของโรงแรม จะเห็นว่าตรงกับตำแหน่งลานจอดรถที่อยู่ด้านทิศตะวันออกของโรงแรมเกสท์เฮ้าส์ ซึ่งลานจอดรถดังกล่าวปรากฏว่ามีโครงหลังคายาวตลอดแนว เมื่อพิเคราะห์ถึงความสูงของรถบรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้ซึ่งเป็นรถบรรทุกหกล้อขนาดใหญ่ ย่อมไม่สามารถขับผ่านประตูทางเข้าลานจอดรถที่มีคานกั้นสูงเพียงประมาณ 3 เมตร และไม่สามารถนำเข้าไปจอดที่ลานจอดรถที่มีโครงหลังคาดังกล่าวได้ ดังนั้น ข้อที่นายประเสริฐและนายอานนท์เบิกความว่า นายประเสริฐไม่สามารถขับรถเข้าไปจอดในลานจอดรถของโรงแรมเกสท์เฮ้าส์ได้เพราะเป็นรถขนาดใหญ่ และพนักงานของโรงแรมเกสท์เฮ้าส์บอกให้นำรถไปจอดที่ลานจอดรถของโรงแรมราชพฤกษ์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอยรับฟังไม่ได้ดังที่จำเลยฎีกา และแม้ต่อมานายทนงศักดิ์จะเบิกความใหม่ว่าตนไม่เคยบอกให้ลูกค้านำรถไปจอดที่ลานจอดรถของโรงแรมราชพฤกษ์ ก็น่าเชื่อว่าจะเป็นการเบิกความเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยมากกว่าที่จะเกิดจากความประหม่าตื่นเต้น คำเบิกความในส่วนนี้ของนายทนงศักดิ์จึงไม่น่าเชื่อถือ ทั้งพฤติการณ์ที่นายประเสริฐเข้าพักที่โรงแรมเกสท์เฮ้าส์เป็นเวลาถึง 3 คืนโดยนายประเสริฐและนายอานนท์เบิกความยืนยันว่า ช่วงเวลาที่เข้าพักที่โรงแรมเกสท์เฮ้าส์ทั้ง 3 คืน ในช่วงกลางวันนายประเสริฐกับนายอานนท์จะขับรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปส่งสินค้าให้ลูกค้า และในช่วงเย็นนายประเสริฐจะนำรถเข้ามาจอดที่ลานจอดรถของโรงแรมราชพฤกษ์ จากนั้นจึงเข้าพักที่โรงแรมเกสท์เฮ้าส์ โดยนายประเสริฐยืนยันอีกว่า พนักงานของโรงแรมเกสท์เฮ้าส์ทุกคนรู้จักนายประเสริฐ และทราบว่านายประเสริฐขับรถมาส่งสินค้าให้ลูกค้า เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบหรือถามค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า ตลอด 3 คืน ที่เข้าพักที่โรงแรมเกสท์เฮ้าส์ นายประเสริฐจะนำรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปจอดที่ลานจอดรถของโรงแรมราชพฤกษ์ตามที่พนักงานของโรงแรมเกสท์เฮ้าส์บอก โดยไม่มีใครทักท้วงหรือห้ามไม่ให้นายประเสริฐนำรถเข้าไปจอด ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นวิธีปฏิบัติว่า โรงแรมเกสท์เฮ้าส์อาศัยพึ่งพิงลานจอดรถของโรงแรมราชพฤกษ์เสมือนเป็นลานจอดรถของตนในกรณีที่รถยนต์ของลูกค้าของโรงแรมเกสท์เฮ้าส์เป็นรถขนาดใหญ่และไม่สามารถเข้าไปจอดในลานจอดรถของโรงแรมเกสท์เฮ้าส์ได้ และน่าจะได้รับความยินยอมจากโรงแรมราชพฤกษ์ เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น ย่อมเป็นการยากที่บุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่ลูกค้าของโรงแรมราชพฤกษ์จะสามารถนำรถเข้าไปจอดภายในลานจอดรถของโรงแรมได้ เมื่อรถบรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไป จำเลยในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมจึงต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งนายประเสริฐคนเดินทางหรือแขกอาศัยได้พามา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 674 เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปตามสัญญาประกันภัยแล้ว ย่อมได้รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ ปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดเพียงใด นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ