แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลชั้นต้นฟังว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ย่อมมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น โจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์ คงมีแต่โจทก์ที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการร่วม ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและเห็นพ้องด้วยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุน เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ส่วนคดีโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงยุติลง ที่โจทก์ร่วมฎีกาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการร่วม อันเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบหัวกระสุนปืนและรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายปัญญา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควรเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน การกระทำของจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 13 ปี 4 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีกำหนดคนละ 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีกำหนดคนละ 3 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 10 เดือน 20 วัน ริบหัวกระสุนปืน ขนาด .38 SPECIAL จำนวน 3 ลูก และรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน วขก กรุงเทพมหานคร 839 ของกลาง คืนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ชพ 3084 กรุงเทพมหานคร ของกลางแก่เจ้าของ ข้อหาอื่นในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ฟังยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขับรถจักรยานยนต์ไปดักรออยู่ที่เกิดเหตุ เมื่อนายปัญญา โจทก์ร่วมขับรถยนต์โดยมีนางสาวคนึงนิจ ผู้ตาย นั่งมาด้วยมาถึงที่เกิดเหตุและหยุดรถ จำเลยที่ 4 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ลงจากรถเดินเข้าไปที่รถยนต์ของโจทก์ร่วมแล้วใช้อาวุธปืนสั้นยิงใส่โจทก์ร่วมและผู้ตาย กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส และถูกผู้ตายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จากนั้นจำเลยที่ 3 และที่ 4 ขับรถจักรยานยนต์หลบหนี คดีสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยคู่ความไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 288, 80 และ 83 ศาลชั้นต้นฟังว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 86 และ 90 ย่อมมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น โจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์ คงมีแต่โจทก์ที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการร่วม ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและเห็นพ้องด้วยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุน คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ส่วนคดีโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงยุติลง ที่โจทก์ร่วมฎีกาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการร่วม อันเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 มาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่จากพฤติการณ์แห่งคดีที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมานั้นล้วนมีส่วนเกี่ยวพันถึงจำเลยที่ 1 โดยตลอดตั้งแต่ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนรักอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ไปสังเกตและดูลาดเลาผู้ตายกับโจทก์ร่วมที่ห้องอาหารในโรงแรมเดอะริชในคืนวันก่อนเกิดเหตุและในคืนวันเกิดเหตุโดยมีภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดของโรงแรมทั้งสองวันเป็นหลักฐานและจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า ได้ไปที่ห้องอาหารของโรงแรมดังกล่าวในวันนั้นจริง แต่อ้างว่าไปดูสถานที่ที่ได้สมัครงานไว้ ซึ่งไม่มีหลักฐานสนับสนุนและไม่มีเหตุผลให้รับฟัง เพราะไม่ปรากฏความจำเป็นใดที่จำเลยที่ 2 ต้องไปดูสถานที่ในเวลาค่ำคืนเช่นนั้นหลายครั้ง ทั้งหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ก็ยังพาจำเลยที่ 2 หลบหนีเข้าไปในประเทศกัมพูชาทั้งที่ทราบว่าผู้ตายและโจทก์ร่วมถูกลอบยิง และมีการสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการดังกล่าว โดยหากจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริสุทธิ์ย่อมจะต้องรีบแสดงตัวต่อญาติพี่น้องหรือต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ความกระจ่างแจ้งหรือคลายข้อสงสัยนั้น แต่จำเลยที่ 1 กลับกระทำการตรงข้ามสร้างความสงสัยยิ่งขึ้นโดยการหลบหนี ไม่ติดต่อหรือถามข่าวคราวของผู้ตายและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นแม่ยายและพ่อตาของตน จนเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบและติดตามพบจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในเขตประเทศกัมพูชาและมีการขอให้ส่งตัวให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีนี้ ภายหลังถูกจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังให้ข้อมูลถึงขั้นตอนในการกระทำความผิดและให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนพร้อมนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพจนนำไปสู่การจับกุมจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในเวลาต่อมา ซึ่งรวมระยะเวลาตั้งแต่เกิดเหตุวันที่ 12 มกราคม 2556 จนถึงจับกุมจำเลยที่ 4 ได้เป็นคนสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556 เป็นเวลาเพียง 11 วัน แสดงว่าเจ้าพนักงานตำรวจสามารถรวบรวมข้อมูลได้ละเอียดครบถ้วนสมบูรณ์จึงสามารถติดตามจับกุมจำเลยทั้งสี่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ปราศจากช่วงเวลาที่จะเปิดโอกาสให้มีการบิดเบือนหรือปั้นแต่งพยานอันเป็นเท็จ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจบังคับให้จำเลยที่ 1 เขียนตามนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ แม้ข้อความบางตอนที่ใช้คำแทนจำเลยที่ 1 ว่า ผม บางตอนใช้คำแทนจำเลยที่ 1 ว่า พี่ ก็เป็นเรื่องแต่ละช่วงของข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวถึงผู้ใด โดยเฉพาะยังมีข้อความที่จำเลยที่ 1 ปกป้องจำเลยที่ 2 ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 อันส่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เขียนขึ้นเองโดยสมัครใจ เพราะหากเจ้าพนักงานตำรวจบอกให้เขียนก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องปกป้องจำเลยที่ 2 เช่นนั้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ที่ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวนเพราะถูกทำร้ายร่างกาย โดยอ้างภาพถ่าย และมีนายยงยุทธ พยาบาลวิชาชีพ ประจำสถานพยาบาลเรือนจำจังหวัดมีนบุรี ผู้ตรวจร่างกายของจำเลยที่ 1 ในเรือนจำ มาเป็นพยานนั้น ไม่ปรากฏว่าภาพถ่ายดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้มาอย่างไรทั้งที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นผู้ถ่าย แต่ไม่ปรากฏการรับรองของเรือนจำว่าเป็นภาพถ่ายของเรือนจำจริง ทั้งจำเลยที่ 1 มาให้นายยงยุทธตรวจร่างกายในวันที่ 25 มกราคม 2556 หลังจากอยู่ในเรือนจำก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2556 จึงอาจเป็นบาดแผลที่เพิ่งเกิดขณะอยู่ในเรือนจำก็ได้ ข้อที่นายยงยุทธเบิกความตอบศาลว่า บาดแผลของจำเลยที่ 1 ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นสภาพบาดแผลที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 3 วัน ก็เป็นการคาดการณ์ของนายยงยุทธโดยไม่รู้เห็นเหตุการณ์เอง จำเลยที่ 1 ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าบาดแผลดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงรอยฟกช้ำที่ไม่น่าจะเกิดจากการถูกทำร้ายรุนแรง เกิดจากการถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ ทั้งหากจำเลยที่ 1 ถูกทำร้ายร่างกายจริงก็สามารถแจ้งให้ญาติของจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะบิดามารดาทำการร้องเรียนได้ตลอดเวลา แต่ไม่ปรากฏว่ามีการร้องเรียนในเรื่องนี้ ในทางกลับกันจำเลยที่ 1 ยังไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพให้เจ้าพนักงานตำรวจและสื่อมวลชนถ่ายภาพไว้ โดยไม่ดำเนินการรักษาสิทธิของตนเองในทางใด ทั้งคดีนี้มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่และสื่อมวลชนมากมายให้ความสนใจ มีการลงข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ จึงไม่น่าเชื่อว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจกล้าทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 เพื่อให้รับสารภาพ โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งให้การรับสารภาพเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 โดยให้การว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้จำเลยที่ 2 ไปดูผู้ตายและโจทก์ร่วมก่อนลงมือและจ้างวานจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้ฆ่าผู้ตายและโจทก์ร่วม ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาก็มิได้อ้างว่าถูกทำร้ายให้รับสารภาพเช่นจำเลยที่ 1 คงมีจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าถูกข่มขู่จะทำร้ายซึ่งเลื่อนลอย ไม่น่าเชื่อถือ ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังไม่ขึ้น คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสี่แม้เป็นพยานบอกเล่า แต่โดยสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่าดังวินิจฉัยมาน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ทั้งยังสอดคล้องเชื่อมโยงเป็นแนวทางเดียวกันปราศจากข้อระแวงสงสัยว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้แตกต่างไป จึงรับฟังประกอบพยานอื่นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) และมาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสี่เบิกความในชั้นพิจารณากลับคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลที่น่าเชื่อถือและรับฟัง จึงรับฟังไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ร้องเรียนทนายความที่พนักงานสอบสวนจัดหาให้เพื่อร่วมฟังการสอบสวนต่อสภาทนายความ นั้น เห็นว่า การร้องเรียนดังกล่าวเป็นการอ้างเหตุว่าทนายความเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อในคำให้การโดยไม่สนใจความเป็นจริงและความถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับที่อ้างว่าถูกทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพซึ่งได้วินิจฉัยมาแล้วว่ารับฟังไม่ได้ ส่วนที่อ้างเหตุว่าทนายความดังกล่าวไม่ติดต่อญาติให้จำเลยที่ 1 ก็ไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมายของทนายความที่ต้องปฏิบัติตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอ หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างไรก็ชอบที่จะร้องเรียนเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายโดยตรง การร้องเรียนทนายความของจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว ทั้งเพิ่งกระทำภายหลังเป็นเวลาเนิ่นนานถึงปีเศษดังกล่าว เชื่อว่าเป็นเพียงการสร้างหลักฐานไว้ต่อสู้คดีในภายหลังมากกว่า จึงรับฟังไม่ได้เช่นกัน ข้อที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ว่าในวันที่ 11 มกราคม 2556 จำเลยที่ 1 พร้อมด้วยบิดามารดาและน้องสาวเดินทางไปดูฤกษ์บวชของจำเลยที่ 1 ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี โดยเดินทางถึงวัดเวลาประมาณ 21 นาฬิกา ทำธุระเสร็จเวลาประมาณ 23 นาฬิกา และเดินทางกลับถึงบ้านของมารดาเวลาประมาณ 2 นาฬิกา ของวันที่ 12 มกราคม 2556 นั้น ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงปราศจากพิรุธสงสัย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้จ้างวานให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฆ่าผู้ตายและโจทก์ร่วมโดยจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ขวางทางรถยนต์ของโจทก์ร่วมแล้วให้จำเลยที่ 4 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมกับของจำเลยที่ 1 มาโดยละเอียดประกอบด้วยเหตุผลสนับสนุน และลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้น ชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น