คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12750/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทน จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ อันถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.จัดปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เข้ารื้อถอนที่พักอาศัยของโจทก์และทำลายทรัพย์สินของโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวโดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดไม่ได้
ป.วิ.อ. มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป และมาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ถ้าหากมี ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นจำเลยในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง และศาลชั้นต้นในคดีอาญาดังกล่าวพิพากษาลงโทษโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว แสดงว่าไม่มีการอุทธรณ์ฎีกาหรือขอให้พิจารณาคดีใหม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีอาญาย่อมมีผลบังคับแก่โจทก์ ซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์หามีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าว จึงขอให้บังคับแก่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสาม เป็นการบังคับคดีในคดีอาญาดังกล่าว ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามอาศัยอำนาจตามคำพิพากษาคดีอาญา กรณีจึงไม่มีการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่มีมูลที่จะให้โจทก์ฟ้องร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างว่า ตามฟ้องโจทก์กล่าวอ้างไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ยังร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัวด้วย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดในฐานะส่วนตัวนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทน จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ อันถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติจัดปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เข้ารื้อถอนที่พักอาศัยของโจทก์และทำลายทรัพย์สินของโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวโดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องโจทก์ ข้อหาร่วมกัน ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมสภาพแก่อุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โจทก์ไม่เข้าใจกฎหมายและไม่เข้าใจคำฟ้องของพนักงานอัยการ และได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ว่า หากรับสารภาพจะไม่ถูกลงโทษจำคุก จึงได้ให้การรับสารภาพ คำรับสารภาพจึงเป็นคำรับสารภาพที่ไม่ตรงกับเจตนาของโจทก์ แม้คดีอาญาจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็เป็นคำพิพากษาที่มิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจอาศัยอำนาจตามคำพิพากษาคดีอาญาที่มิชอบด้วยกฎหมายมากระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป และมาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ถ้าหากมี ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นจำเลยในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง และศาลชั้นต้นในคดีอาญาดังกล่าวพิพากษาลงโทษโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว แสดงว่าไม่มีการอุทธรณ์ฎีกาหรือขอให้พิจารณาคดีใหม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีอาญาย่อมมีผลบังคับแก่โจทก์ ซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โจทก์หามีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าว จึงขอให้บังคับแก่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสาม เป็นการบังคับคดีในคดีอาญาดังกล่าว ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share