คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12516/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่พิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่สหกรณ์การเกษตร ว. จำกัด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนที่พิพาทคืนแก่กองมรดก ท. นั้น เป็นการฟ้องเรียกที่พิพาทให้ได้กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสอง คดีของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่พิพาท จึงเป็นหนี้อันอาจแบ่งแยกได้ แม้โจทก์ทั้งสองฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์หรือฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อโจทก์ทั้งสองตีราคาที่พิพาทรวมกันมามีราคา 312,000 บาท ที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องคดีขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาทแปลงที่ห้าตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่จำเลยที่ 1 รับโอนมาทางมรดกจาก ท. และโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ตามฟ้อง มีลักษณะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องถือเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ทรัพย์มรดกของ ท. เจ้ามรดกยังไม่มีการแบ่งปันกันระหว่างทายาท โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิติดตามเอาคืนที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคน เพราะจำเลยที่ 1 โอนยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไป โดยทายาทคนอื่น ๆ ไม่ได้ให้ความยินยอมและไม่รับทราบ รวมทั้ง ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกก็ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว โดยขอให้ศาลฎีกาได้โปรดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 และมีคำพิพากษาตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อไปนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2532 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับสหกรณ์การเกษตรวานรนิวาส จำกัด หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนมรดกที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1693 ตำบลเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร แก่จำเลยที่ 1 และเพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หา ที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ให้กลับสู่กองมรดกของนางทุมเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคน โดยให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาล 20,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1693 ตำบลเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่พิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่สหกรณ์การเกษตรวานรนิวาส จำกัด และให้จำเลยทั้งสองโอนที่พิพาทคืนแก่กองมรดกนางทุม นั้น เป็นการฟ้องเรียกให้ได้กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสอง คดีของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่พิพาท จึงเป็นหนี้อันอาจแบ่งแยกได้ แม้โจทก์ทั้งสองฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์หรือฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินทรัพย์มรดกที่โจทก์ทั้งสองตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมามีราคา 312,000 บาท ที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องคดีขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาทแปลงที่ห้าตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1693 ที่จำเลยที่ 1 รับโอนมาทางมรดกจากนางทุม และโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ตามฟ้อง มีลักษณะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องถือเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ทรัพย์มรดกของนางทุมเจ้ามรดกยังไม่มีการแบ่งปันกันระหว่างทายาท โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนางทุม ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนายสุกัน ซึ่งเป็นบุตรของนางทุมและเป็นผู้จัดการมรดกของนางทุม แต่นายสุกันถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะแบ่งทรัพย์มรดก โจทก์ทั้งสองจึงยังไม่ได้รับการแบ่งปันมรดก โจทก์ทั้งสองได้ใช้สิทธิติดตามเอาคืนที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคน เพราะจำเลยที่ 1 โอนยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไป โดยทายาทคนอื่น ๆ ไม่ได้ให้ความยินยอมและไม่รับทราบ รวมทั้งนายสุกันในฐานะผู้จัดการมรดกก็ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว โดยขอให้ศาลฎีกาได้โปรดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 และโปรดมีคำพิพากษาตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อไปนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน ฎีกาของโจทก์ทั้งสองทุกข้อจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ทั้งสอง คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share