คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12437/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.129/2554 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และ ฉ. เป็นผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องดูแลและบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานเพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ต้องสร้างถนนบนที่ดินพิพาทเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสูงเทียบเท่าถนนสาธารณะ และจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องโดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างเดียวกัน แต่อ้างเพิ่มเติมว่า การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และ ฉ. เพิกเฉยไม่ไปจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยเพื่อเป็นสวัสดิการที่พักให้แก่พนักงานของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเช่าที่พักให้แก่พนักงานของโจทก์และขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งเจ็ด ซึ่งค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และ ฉ. ไม่ไปจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามฟ้องในคดีก่อน อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์สามารถฟ้องเรียกได้ในคดีก่อนอยู่แล้ว
เดิมโจทก์ฟ้องคดีก่อนเป็นคดีผู้บริโภค คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.1543/2552 ของศาลชั้นต้น ต่อมาประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า ไม่เป็นคดีผู้บริโภค และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคดีไว้พิจารณาเป็นคดีแพ่งสามัญ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.129/2554 ให้งดชี้สองสถานและกำหนดวันนัดพิจารณาต่อเนื่อง แต่ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกิดจากสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อซึ่งได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามหนังสือแจ้งอนุมัติสินเชื่อ โจทก์จึงชอบที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ในคดีก่อน ซึ่งเป็นการขอเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องเดิมที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและมีความเกี่ยวข้องกัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 และ 180 การที่โจทก์กลับมาฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้อันเป็นการฟ้องเรื่องเดียวกันขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.129/2554 ของศาลชั้นต้น ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 1,790,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 179,000 บาท นับแต่เดือนที่โจทก์ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งเจ็ดจะจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 466 ตำบลบางตลาด อำเภอตลาดขวัญ (ปากเกร็ด) จังหวัดนนทบุรี ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 154526 และ 131457 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ของโจทก์ และค่าเสียหายต่อจากนั้นมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี
จำเลยทั้งเจ็ดให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยทั้งเจ็ดไม่ได้ประกอบกิจการค้าหรือจัดสรรที่ดิน แต่เป็นการแบ่งที่ดินภายในหมู่ญาติสนิท โดยกันพื้นที่เพื่อใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 466 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 2 ไม่เคยปิดกั้นการใช้สาธารณูปโภค ที่ดินโฉนดเลขที่ 131457 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ของโจทก์ไม่ได้รังวัดแบ่งแยกมาจากที่ดินพิพาท โจทก์ซื้อมาโดยทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยทั้งเจ็ดไม่มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากที่ดินจดทะเบียนแบ่งแยกมาตั้งแต่ปี 2527 ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.129/2554 ของศาลชั้นต้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.129/2554 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.129/2554 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และนายฉลวยเป็นผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องดูแลและบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานเพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ต้องสร้างถนนบนที่ดินพิพาทเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสูงเทียบเท่าถนนสาธารณะ และจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องโดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างเดียวกัน แต่อ้างเพิ่มเติมว่า การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และนายฉลวยเพิกเฉยไม่ไปจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้สถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยเพื่อเป็นสวัสดิการที่พักให้แก่พนักงานของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเช่าที่พักให้แก่พนักงานของโจทก์และขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งเจ็ด ซึ่งค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และนายฉลวยไม่ไปจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามฟ้องในคดีก่อน อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์สามารถฟ้องเรียกได้ในคดีก่อนอยู่แล้ว ที่โจทก์อ้างว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ฟ้องคดีก่อนแล้วนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมโจทก์ฟ้องคดีก่อนเป็นคดีผู้บริโภค คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.1543/2552 ของศาลชั้นต้น ต่อมาประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า ไม่เป็นคดีผู้บริโภค และเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคดีไว้พิจารณาเป็นคดีแพ่งสามัญ คดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.129/2554 ให้งดชี้สองสถานและกำหนดวันนัดพิจารณาต่อเนื่อง แต่ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกิดจากสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อซึ่งได้แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2553 ตามหนังสือแจ้งอนุมัติสินเชื่อ โจทก์จึงชอบที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ในคดีก่อน ซึ่งเป็นการขอเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ในฟ้องเดิมที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและมีความเกี่ยวข้องกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 และ 180 การที่โจทก์กลับมาฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้อันเป็นการฟ้องเรื่องเดียวกันขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.129/2554 ของศาลชั้นต้น ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share