แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2558 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยข้อ 2.4 ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงให้จำเลยทราบ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับว่าขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยข้อ 2.4 ชอบแล้ว และเมื่อฎีกาของจำเลยในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว ประกอบกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด
จำเลยฎีกาว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาพิเศษใช้ยานพาหนะ เพื่อวัตถุประสงค์ในการขนย้ายทรัพย์หรือบรรทุกทรัพย์ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่วินิจฉัยให้นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นยานพาหนะบรรทุกทรัพย์ที่ลัก เพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์ไป เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยใช้ยานพาหนะเพื่อการกระทำความผิด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว
แม้คำให้การจำเลย มีข้อความว่า จำเลยรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น โดยไม่ได้ระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์หรือข้อหารับของโจรก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นได้สอบคำให้การจำเลยดังกล่าวแล้ว โดยศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ด้านบนซ้ายของคำให้การจำเลยดังกล่าวว่า สอบสวนจำเลยแล้วยืนยันให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ว่าศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ แต่ให้การปฏิเสธข้อหารับของโจร โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อข้อหาลักทรัพย์มิใช่เป็นข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น โจทก์จึงไม่ต้องนำพยานเข้าสืบให้ศาลฟังจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
จำเลยรับมาในฎีกาแล้วว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้ในวันเดียวกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยอย่างไร ถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลและคู่ความชัดแจ้งแล้วว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วโดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก จึงนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ซึ่งเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1104/2557 ของศาลชั้นต้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556 เวลากลางคืนหลังเที่ยง มีคนร้ายหลายคนร่วมกันเข้าไปในบริเวณหอพักชัยเจริญ หมู่ที่ 12 ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา อันเป็นหอพักและเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายยุทธนา ผู้เสียหาย โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร ทำลายกุญแจกับสายยูประตูห้องพักเลขที่ 3 ที่คล้องและล็อกไว้หลุดออก จนประตูห้องพักดังกล่าวเปิดออก เข้าไปในห้องพักดังกล่าวแล้วลักเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง ราคา 20,000 บาท ของผู้เสียหาย ซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไป โดยร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม เหตุเกิดที่ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ต่อมาวันที่ 10 พฤศจิกายน 2556 เวลากลางวัน จำเลยกับนายเฉลิมพลหรือก้าน พวกของจำเลยร่วมกันนำเอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปดังกล่าวไปขายให้แก่นายสมศักดิ์ ทั้งนี้ตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้น จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ดังกล่าวของผู้เสียหาย หรือมิฉะนั้นระหว่างวันเวลาดังกล่าวหลังลักทรัพย์แล้ววันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยกับพวกร่วมกันรับของโจรโดยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายที่คนร้ายลักไปไว้จากคนร้าย โดยจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เหตุรับของโจรเกิดที่ ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา และตำบลห้วยยางขาม อำเภอจุน จังหวัดพะเยา เกี่ยวพันกัน จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335, 336 ทวิ, 357 นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (3) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 หมายเลขแดงที่ 1104/2557 ของศาลชั้นต้น ข้อหารับของโจรให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2558 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยข้อ 2.4 ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 ได้ความว่าศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงให้จำเลยทราบ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับว่าขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยข้อ 2.4 ชอบแล้ว และเมื่อฎีกาของจำเลยในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว ประกอบกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาพิเศษใช้ยานพาหนะ เพื่อวัตถุประสงค์ในการขนย้ายทรัพย์หรือบรรทุกทรัพย์ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่วินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นยานพาหนะบรรทุกทรัพย์ที่ลัก เพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์ไป เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยใช้ยานพาหนะเพื่อการกระทำความผิด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้น
ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร แต่คำให้การของจำเลย ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใด จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบว่าจำเลยกระทำความผิดข้อหาใดนั้น เห็นว่า แม้คำให้การจำเลย มีข้อความว่า จำเลยรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น โดยไม่ได้ระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์หรือข้อหารับของโจรก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นได้สอบคำให้การจำเลยดังกล่าวแล้ว โดยศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ด้านบนซ้ายของคำให้การจำเลยดังกล่าวว่า สอบสวนจำเลยแล้วยืนยันให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ว่าศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ แต่ให้การปฏิเสธข้อหารับของโจร โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อข้อหาลักทรัพย์มิใช่เป็นข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น โจทก์จึงไม่ต้องนำพยานเข้าสืบให้ศาลฟังจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลชั้นต้นนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่แถลงให้ศาลทราบถึงรายละเอียดของคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 แม้คดีอยู่ในศาลเดียวกันก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลต้องรู้เองนั้น เห็นว่า จำเลยรับมาในฎีกาแล้วว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้ในวันเดียวกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยอย่างไร ถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลและคู่ความชัดแจ้งแล้วว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วโดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีกจึงนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ซึ่งเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1104/2557 ของศาลชั้นต้นได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน