แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธไม่ได้ยอมรับตามคำให้การดังกล่าว คำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งโดยลำพังไม่ควรที่จะเชื่อเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน แต่เมื่อคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 การตรวจยึดของกลางก็ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าการที่สามารถยึดของกลางได้เพราะเหตุที่ทราบจากจำเลยที่ 2 ส่วนคำเบิกความของพนักงานสอบสวนก็เป็นผู้สอบสวนคำรับสารภาพนั่นเอง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ด้วย
นอกจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธปืนตาม ป.อ. มาตรา 371 แล้ว โจทก์ยังฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานพาอาวุธตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ด้วย ซึ่งมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์” ข้อที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นการบรรยายฟ้ององค์ประกอบความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง กล่าวคือ การพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หากเป็นกรณีต้องมีติดตัวเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์แล้ว การพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะไม่เป็นความผิด ส่วนความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณตาม ป.อ. มาตรา 371 นั้น มาตรานี้บัญญัติว่า “ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร…ต้องระวางโทษ…” การพาอาวุธที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ต่อเมื่อไม่มีเหตุสมควรอันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความผิดดังกล่าว จึงแตกต่างจากองค์ประกอบความผิดฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ดังกล่าวข้างต้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไม่อาจถือได้ว่าได้บรรยายฟ้อง องค์ประกอบความผิดฐานพาอาวุธตาม ป.อ. มาตรา 371 ด้วย ฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดฐานพาอาวุธตาม ป.อ. มาตรา 371 จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ในความผิดดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 93, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 กับริบอาวุธปืน เครื่องช็อตไฟฟ้าและเสื้อกั๊กคล้ายเสื้อเกราะกันกระสุนของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป จำคุกคนละ 19 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ส่วนความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก 30 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 10 ปี 3 เดือน คำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 20 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 คงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ รวมโทษทุกระทงและลดโทษคนละกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 10 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในชั้นนี้ว่า นายปิยะ ผู้เสียหายขับรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน บล 3084 นครสวรรค์ โดยมีนางสาวสุภาพรรณ ภริยาของผู้เสียหายกับลูกจ้างที่ทำงานอยู่กับผู้เสียหายนั่งโดยสารไปด้วย ไปจอดที่ถนนริมเขื่อนหน้าโรงสูบน้ำ ตรงข้ามศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์ ขณะภริยาของผู้เสียหายกับลูกจ้างของผู้เสียหายลงจากรถ ส่วนผู้เสียหายไปนั่งอยู่ที่เบาะข้างคนขับ มีรถยนต์สีดำยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน กค 89 ประจวบคีรีขันธ์ ขับมาจอดขวางที่หน้ารถของผู้เสียหาย มีคนร้ายหลายคนลงมาจากรถ คนร้ายคนหนึ่งถืออาวุธปืนลูกซองยาวคนร้ายคนหนึ่งมายืนคุมเชิงที่หน้ารถผู้เสียหาย และคนร้ายอีกคนเดินมาที่ด้านหลังรถแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจปัสสาวะและขอดูบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายกับพวก จากนั้นคนร้ายที่ถืออาวุธปืนเข้ามานั่งในรถผู้เสียหายตรงที่คนขับแล้วใช้อาวุธปืนขู่ให้ผู้เสียหายลงจากรถแล้วขับรถของผู้เสียหายออกไปทันที ส่วนคนร้ายที่เหลือพากันไปขึ้นรถยนต์ที่ขับจอดขวางไว้แล้วขับหลบหนีไปทางเดียวกัน ผู้เสียหายกับพวกจึงพากันไปแจ้งความต่อพันตำรวจโทสุพจน์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ต่อมาพันตำรวจโทหมายได้รับแจ้งจากสถานีตำรวจภูธรบางละมุง จังหวัดชลบุรี ว่าได้ตรวจยึดรถกระบะมีลักษณะคล้ายรถที่ถูกลักไปเนื่องจากมีผู้มาเสนอขาย จึงให้สายลับล่อซื้อ เมื่อถึงเวลานัดหมายจำเลยที่ 1 ขับรถกระบะคันที่ตรวจยึดมาขายแต่ไม่สามารถแสดงเอกสารการครอบครองรถได้ พันตำรวจโทหมายกับผู้เสียหายจึงพากันเดินทางไปตรวจดูรถ ผู้เสียหายยืนยันว่ารถกระบะคันดังกล่าวเป็นของตน เจ้าพนักงานตำรวจจึงแจ้งข้อกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ นอกจากนี้ยังได้ตรวจยึดเครื่องช็อตไฟฟ้าและเสื้อกั๊กคล้ายเสื้อเกราะกันกระสุนได้ที่บ้านของจำเลยที่ 1 และยึดได้อุปกรณ์เครื่องเสียงที่รื้อออกไปจากรถได้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ที่อำเภอบางละมุง จากนั้นจึงขอหมายจับจำเลยทั้งสี่และจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 วันต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 4 ได้พร้อมยึดรถยนต์ฮอนด้าสีดำ หมายเลขทะเบียน กค 89 ประจวบคีรีขันธ์ และอาวุธปืนลูกซอง 1 กระบอกพร้อมกระสุน ซึ่งจำเลยที่ 4 นำไปซุกซ่อนไว้ที่จังหวัดชัยนาท ตรวจยึดเอกสารและบัญชีของกลางคดีอาญา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับฟังเป็นยุติ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยไม่มีคู่ความอุทธรณ์คัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม กับร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพยานซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ ขณะจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันปล้นรถกระบะของผู้เสียหายไปมาเบิกความ 2 ปาก คือ ผู้เสียหายและนางสาวสุภาพรรณ ภริยาของผู้เสียหาย พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเบิกความได้ความว่า เมื่อรถยนต์ฮอนด้านสีดำของคนร้ายขับมาจอดขวางหน้ารถกระบะของผู้เสียหายแล้วเห็นคนร้ายเพียง 3 คน ลงจากรถและไม่ทราบว่าจะมีคนร้ายอื่นยังนั่งอยู่ในรถยนต์อีกหรือไม่ คนร้ายที่ลงจากรถมีจำเลยที่ 4 ถือเอาวุธปืนลูกซองเดินมาที่หน้ารถของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 แต่งกายคล้ายตำรวจเดินมาทางด้านหลังรถ และจำเลยที่ 3 มายืนคุมเชิงที่บริเวณหน้ารถ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่เห็นในที่เกิดเหตุ แม้ตามคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายและของนางสาวสุภาพรรณปรากฏว่าพยานทั้งสองปากได้ให้การยืนยันว่า คนร้ายมี 4 คน จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ลงจากรถยนต์มายืนคุมเชิงที่หน้ารถกระบะของผู้เสียหายก็ตาม แต่การให้การของพยานโจทก์ทั้งสองปากได้ให้การเป็นครั้งที่สอง หลังจากเกิดเหตุและหลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสี่ได้แล้ว ซึ่งพยานโจทก์ปากนางสาวสุภาพรรณเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า เหตุที่ให้การไว้ตามคำให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนยืนคุมเชิงอยู่หน้ารถกระบะของผู้เสียหายนั้น เนื่องจากพนักงานสอบสวนแจ้งให้พยานทราบ ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของพันตำรวจโทสุพจน์ พนักงานสอบสวนที่เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า ตามบันทึกคำให้การ ซึ่งเป็นคำให้การเพิ่มเติมนั้น ผู้เสียหายน่าจะทราบเหตุการณ์จากเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรบางละมุง และเมื่อพิจารณาคำให้การของพยานทั้งสองปากในชั้นสอบสวนครั้งแรกซึ่งให้การไว้ในวันเกิดเหตุแล้ว พยานให้การยืนยันว่าคนร้ายมีเพียง 3 คน และให้การเกี่ยวกับพฤติการณ์ของคนร้ายทั้ง 3 คนไว้ด้วย เห็นว่า การที่พยานโจทก์ทั้งสองปากได้ให้การดังกล่าวในเวลาใกล้ชิดกับเวลาเกิดเหตุ จึงน่าเชื่อว่าให้การไปตามความจริงให้รับฟังได้ยิ่งกว่าที่ให้การเพิ่มเติมในเวลาต่อมา และตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏเหตุที่ทำให้พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เบิกความตามที่ได้ให้การเพิ่มเติมไว้ในชั้นสอบสวน ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 2 จึงยังรับฟังไม่ได้ แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดของกลาง แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาก็ไม่ได้ความชัดว่า จำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับของกลางดังกล่าวและนำชี้อย่างไร ในการนำชี้ก็นำชี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งของกลางที่ไปตรวจยึดก็อยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่จังหวัดชลบุรี พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 จึงยังไม่พอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ด้วย ดังที่โจทก์ฎีกา ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา และแม้คำให้การดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่าก็รับฟังประกอบคำเบิกความของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน คำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจที่จำเลยที่ 2 นำไปตรวจยึดของกลาง และคำเบิกความของพนักงานสอบสวนลงโทษจำเลยที่ 2 ได้นั้น เห็นว่า ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธไม่ได้ยอมรับตามคำให้การดังกล่าว คำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งโดยลำพังไม่ควรที่จะเชื่อเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน แต่เมื่อคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ซึ่งได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 การตรวจยึดของกลางก็ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าการที่สามารถยึดของกลางได้เพราะเหตุที่ทราบจากจำเลยที่ 2 ส่วนคำเบิกความของพนักงานสอบสวนก็เป็นผู้สอบสวนคำรับสารภาพนั่นเอง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องและพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานพาอาวุธ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ครบองค์ประกอบความผิดแล้วหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า “โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มี อาวุธปืนติดตัวและโดยไม่มีเหตุอันจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์” จึงมีคำว่า “ไม่มีเหตุสมควร” อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 รวมอยู่กับองค์ประกอบความผิดฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 นั้น เห็นว่า นอกจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 แล้ว โจทก์ยังฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานพาอาวุธตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ด้วย ซึ่งมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์” ข้อที่โจทก์บรรยายฟ้องตามที่โจทก์ฎีกาอ้างมาดังกล่าวเป็นการบรรยายฟ้ององค์ประกอบความผิดพาฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง กล่าวคือ การพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หากเป็นกรณีต้องมีติดตัวเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์แล้ว การพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะไม่เป็นความผิด ส่วนความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นั้น มาตรานี้บัญญัติว่า “ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร…ต้องระวางโทษ…” จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ต่อเมื่อไม่มีเหตุสมควรอันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความผิดดังกล่าว จึงแตกต่างจากองค์ประกอบความผิดฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ดังกล่าวข้างต้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไม่อาจถือได้ว่าได้บรรยายฟ้ององค์ประกอบความผิดฐานพาอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดฐานพาอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 และพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน