คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8403/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายแล้วจุดไฟเผาผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 2 มิได้คบคิดนัดหมายกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องการแบ่งหน้าที่กันทำ จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่พฤติการณ์ที่ผู้ตายโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายให้จำเลยที่ 2 ไปพบผู้ตายที่บ้าน จำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ผู้ตายไปพบยังสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องบอกว่า จำเลยที่ 1 จะเดินทางไปด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายซึ่งมีการคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว และจำเลยที่ 2 เพียงแต่มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อจะทำให้ผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายหรืออันตรายสาหัสเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 เลือกที่จะทำร้ายผู้ตายโดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายและจุดไฟเผาผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 289 (4) อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่โจทก์ฟ้องและเป็นความผิดได้ในตัว ศาลฎีกาสามารถลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 288, 289 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางรัชวรรณ มารดาของนายณขจรหรือจีโน่ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำเลยทั้งสองประหารชีวิต คำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ให้จำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายเดินทางไปยังป้ายจอดรถประจำทางที่เกิดเหตุ แล้วปล่อยให้จำเลยที่ 2 นั่งอยู่ที่ป้ายจอดรถประจำทางดังกล่าวเพียงคนเดียว ส่วนจำเลยที่ 1 จอดรถจักรยานยนต์อยู่ห่างจากป้ายจอดรถประจำทางที่เกิดเหตุ ต่อมานายณขจรหรือจีโน่ ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาจอดอยู่ห่างจากจำเลยที่ 2 ประมาณ 2 เมตร แล้วนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่ ต่อมาจำเลยที่ 1 ถือขวดพลาสติกที่ตัดปากขวดออกภายในบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินแก๊สโซฮอล์ 95 เดินออกมาจากพงไม้ด้านหลังป้ายจอดรถประจำทางที่เกิดเหตุเข้าไปทางด้านหลังของผู้ตาย จำเลยที่ 1 จุดไฟแช็ก หลังจากนั้น เกิดไฟลุกไหม้ตามร่างกายของผู้ตาย และไฟลุกไหม้แขนกับมือซ้ายจำเลยที่ 1 ด้วย แต่จำเลยที่ 1 ดับไฟที่ลุกไหม้ตนเองได้ แล้วจำเลยทั้งสองวิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ห่างจากป้ายจอดรถประจำทางที่เกิดเหตุ หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายหลบหนีไป ผู้ตายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลไฟไหม้ผิวหนังโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ ลำตัวจนถึงสะดือ แขนทั้งสองข้าง และบาดแผลไฟไหม้ผิวหนังบางส่วนบริเวณขาทั้งสองข้าง ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2558 หลังเกิดเหตุ 2 เดือนเศษ ผู้ตายถึงแก่ความตาย สาเหตุการตายเพราะปอดอักเสบเฉียบพลันจากการบาดเจ็บด้วยความร้อนของทางเดินหายใจเนื่องจากถูกไฟไหม้
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และคดีนี้มีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาในอุทธรณ์ฉบับเดียวกับจำเลยที่ 2 โดยอุทธรณ์ข้อ 2.1 ถึง 2.2 มีข้อความในทำนองว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และอุทธรณ์ข้อ 2.5 ระบุว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้รับการสอบสวนอย่างเป็นธรรมเพราะจำเลยทั้งสองได้ให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน และได้ร้องขอความเป็นธรรมขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสอง ฉะนั้นการฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบเพราะเมื่อไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริงของจำเลยทั้งสองเพื่อเปรียบเทียบพิสูจน์ความผิดตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดไว้แล้วว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันวางแผนนำน้ำมันเชื้อเพลิง (เบนซิน) ซึ่งเป็นวัตถุไวไฟราดใส่ศีรษะและลำตัวผู้ตายแล้วจุดไฟเผาผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัสแล้วถึงแก่ความตาย ส่วนจำเลยทั้งสองร่วมวางแผนกันอย่างไรกระทำอย่างไรอันเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อนและเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง ล้วนเป็นรายละเอียดที่โจทก์ต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิด เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์จึงเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะรวบรวมพยานหลักฐาน เมื่อเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว จะไม่รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่ดำเนินการสอบพยานตามที่จำเลยทั้งสองร้องขอก็ได้ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยฎีกาข้อ 2.1 ข้อ 2.2.1 และข้อ 2.1.3 มีข้อความทำนองเดียวกับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.2 และฎีกาข้อ 2.1.2 มีข้อความตอนต้นเหมือนกับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ข้อ 2.5 เพียงแต่มีข้อความตอนท้ายเพิ่มเติมว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาว่าพนักงานสอบสวนใช้ดุลพินิจเห็นว่า พยานหลักฐานที่ได้สอบสวนเพียงพอแล้ว การไม่สอบสวนตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการพิจารณาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า พิพากษาไม่ชอบอย่างไร หรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้ก็ไม่ทำให้กลายเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 อีกประการหนึ่งว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า ถนนเศรษฐกิจ 1 บริเวณสถานที่เกิดเหตุ เป็นถนนขนาด 6 ช่องเดินรถกับมีเกาะกลางถนนกว้างประมาณ 2 เมตร และเหตุเกิดเวลากลางวัน ขณะเกิดเหตุ นายจักรกฤษณ์และนางสาวพัชรีประจักษ์พยานทั้งสองปากอยู่คนละฟากถนนห่างจากป้ายจอดรถประจำทางที่เกิดเหตุไม่ไกลนักและไม่ปรากฏว่ามีสิ่งใดปิดบังสายตาของประจักษ์พยานทั้งสองปาก ซึ่งในข้อนี้จำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ร่วมว่า บริเวณเกาะกลางถนนไม่มีต้นไม้ใหญ่สามารถมองเห็นฝั่งตรงข้ามได้ชัดเจนเจือสมคำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสองปาก แสดงให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดปิดบังสายตาของประจักษ์พยานทั้งสอง แม้นายจักรกฤษณ์ประจักษ์พยานปากหนึ่งเบิกความว่า คนร้ายที่จุดไฟเผาผู้ตายสวมหมวกนิรภัย แต่นางสาวพัชรีประจักษ์พยานอีกปากหนึ่งเบิกความว่า คนร้ายที่จุดไฟเผาผู้ตายไม่ได้สวมหมวกนิรภัยซึ่งขัดแย้งกัน แต่คำเบิกความของนางสาวพัชรีประจักษ์พยานสอดคล้องกับภาพถ่ายการนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้สวมหมวกนิรภัย แต่หลังเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 สวมหมวกนิรภัยขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายหลบหนีไปด้วยกัน ขณะเกิดเหตุไม่มีสิ่งใดปิดบังใบหน้าจำเลยทั้งสอง เชื่อว่า ประจักษ์พยานทั้งสองปากมองเห็นเหตุการณ์อย่างชัดเจนและจดจำจำเลยทั้งสองได้ หลังเกิดเหตุนางสาวพัชรีประจักษ์พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ ส่วนนายจักรกฤษณ์ประจักษ์พยานอีกปากหนึ่งให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ภายหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นเวลาที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ อีกทั้งประจักษ์พยานทั้งสองเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลำดับขั้นตอนเชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันและสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของประจักษ์พยานทั้งสอง แม้ประจักษ์พยานทั้งสองปากเบิกความแตกต่างกันบ้างและแตกต่างจากคำให้การชั้นสอบสวนอยู่บ้างก็เป็นเพียงพลความไม่ทำให้คำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสองปากมีน้ำหนักลดน้อยลงไปหรือไม่น่าเชื่อถือ ประกอบกับประจักษ์พยานทั้งสองปากไม่เคยรู้จักและมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสองให้ต้องรับโทษหนักเช่นนี้ เชื่อว่า ประจักษ์พยานทั้งสองปากเบิกความไปตามความเป็นจริงที่ได้รู้เห็นมาโดยปราศจากมูลเหตุจูงใจ นอกจากนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นพยาน โดยจำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า วันเกิดเหตุ ขณะที่จำเลยทั้งสองรับประทานอาหารอยู่ที่ตลาดน้ำดอนหวาย ผู้ตายโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายให้จำเลยที่ 2 ไปพบผู้ตายที่บ้าน จำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ผู้ตายไปพบยังสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องบอกว่าจำเลยที่ 1 จะเดินทางไปด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 ไปถึงสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 นั่งรอและพูดโทรศัพท์ติดต่อกับผู้ตาย จำเลยที่ 1 ได้ยินว่าผู้ตายด่าจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงหยิบขวดน้ำที่หาได้จากข้างทางมาแล้วตะแคงรถจักรยานยนต์ให้น้ำมันไหลลงขวดได้ประมาณ 1 ใน 4 ส่วนของขวด แล้วจำเลยที่ 1 เดินไปปัสสาวะในพงไม้ เป็นเวลาเดียวกับผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาถึงพอดี จำเลยที่ 1 จึงเดินออกไปใกล้ถึงตัวผู้ตายแล้วใช้มือขวาที่ถือขวดราดน้ำมันไปที่บริเวณหลังของผู้ตาย และใช้มือซ้ายล้วงหยิบไฟแช็กที่อยู่ในกระเป๋ากางเกงข้างซ้ายออกมาจุดใส่ตัวผู้ตาย เมื่อไฟลุก ผู้ตายสะบัดตัว ทำให้ไฟลุกไหม้มือขวา มือซ้าย แขนซ้าย และเท้าทั้งสองข้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ตกใจจึงรีบดับไฟ ส่วนผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ออกไปพร้อมกับไฟที่ลุกไหม้ลำตัวผู้ตาย แต่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายล้มลง เมื่อจำเลยที่ 1 ดับไฟที่ตัวได้แล้วจึงขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปพร้อมกับจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 9 นาฬิกา จำเลยที่ 2 เดินทางไปที่บ้านจำเลยที่ 1 ขณะอยู่ที่บ้านจำเลยที่ 1 ผู้ตายโทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 2 หลายครั้ง จำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 เปิดลำโพงโทรศัพท์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้ยินด้วย ผู้ตายบอกให้จำเลยที่ 2 ไปพบ จำเลยที่ 1 บอกจำเลยที่ 2 ว่าให้ไปคุยกันให้รู้เรื่อง ครั้งแรกผู้ตายนัดพบที่สามแยกกระทุ่มแบน แต่จำเลยที่ 2 ไม่รู้จักจึงนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปจนถึงสถานที่เกิดเหตุจึงได้ลงไปนั่งรอบริเวณที่นั่งผู้โดยสารในป้ายจอดรถประจำทาง ส่วนจำเลยที่ 1 เดินไปปัสสาวะในพงไม้ด้านหลังป้ายจอดรถประจำทาง ระหว่างนั้น ผู้ตายโทรศัพท์สอบถามจำเลยที่ 2 ว่าอยู่ตรงไหน จำเลยที่ 2 ตอบว่าอยู่ตรงข้ามร้านแบตเตอรี่ สักครู่หนึ่งผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาถึง จำเลยที่ 2 ลุกจากที่นั่ง เดินเข้าไปหาผู้ตายแล้วเดินกลับไปนั่งที่เดิมเพราะเข้าใจว่าผู้ตายจะลงจากรถจักรยานยนต์เข้าไปนั่งคุยกับจำเลยที่ 2 แต่ไม่ทันที่ผู้ตายจะลงจากรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 1 เดินเข้าไปหาผู้ตายแล้วยกขวดพลาสติกที่ถืออยู่ในมือราดของเหลวที่อยู่ข้างในขวดใส่ตัวผู้ตาย ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ออกไปพร้อมกับไฟที่ลุกไหม้ตามร่างกาย และไฟยังลุกไหม้ที่เสื้อและมือของจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ดับไฟแล้วก็วิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 2 วิ่งตามจำเลยที่ 1 แล้วซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์หลบหนีไปกับจำเลยที่ 1 คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองดังกล่าวสอดคล้องกับคำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสองปาก นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีร้อยตำรวจโทวิวรรธน์ พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนแล้ว จำเลยที่ 1 พาไปชี้จุดที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าหลังป้ายจอดรถประจำทาง และจุดที่จำเลยที่ 1 ราดน้ำมันที่ศีรษะและจุดไฟเผาผู้ตาย ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสอง แม้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นพยานบอกเล่า แต่ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาซึ่งเป็นคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองระบุว่า พนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิและดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 มาตรา 134/3 และมาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง ก่อนที่จะถามคำให้การจำเลยทั้งสอง ประกอบกับจำเลยทั้งสองให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเวลาที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ โดยเฉพาะคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ระบุว่า มารดาของจำเลยที่ 1 ร่วมฟังการสอบสวนอยู่ด้วย และจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบปฏิเสธว่า พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบประการใด ๆ เพื่อจูงใจให้จำเลยทั้งสองให้การอย่างใด ๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น อีกทั้งการนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพก็ได้กระทำต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจและประชาชนที่มาดูเหตุการณ์ เชื่อว่า จำเลยทั้งสองเต็มใจให้การต่อพนักงานสอบสวนและนำชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพตามความเป็นจริงโดยปราศจากมูลเหตุจูงใจ เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) และรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) และคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองดังกล่าวทำให้คำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสองมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากยิ่งขึ้นด้วย พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินซึ่งเป็นวัตถุไวไฟราดใส่ศีรษะและลำตัวของผู้ตายแล้วจุดไฟเผาผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตาย พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ศีรษะและลำตัวของผู้ตาย แต่จำเลยที่ 1 ถือขวดบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินไว้ในมือซ้ายแล้วจุดไฟแช็กขู่ไม่ให้ผู้ตายเข้าไปทำร้ายจำเลยที่ 1 แต่ไฟลุกไหม้ที่ปากขวดและมือซ้าย จำเลยที่ 1 ตกใจสะบัดขวดที่ไฟกำลังลุกไหม้ทิ้งและดับไฟที่ตัวเอง ผู้ตายขยับรถจักรยานยนต์ไปเตะขวดที่ไฟกำลังลุกไหม้ตกอยู่ใกล้ล้อหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ไฟจึงลุกไหม้เท้าผู้ตายแล้วลุกลามตามลำตัวของผู้ตาย ผู้ตายไม่ดับไฟแต่เร่งเครื่องรถจักรยานยนต์พุ่งไปทางจำเลยที่ 1 แล้วล้มลง ขัดแย้งกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองโดยปราศจากเหตุผลและเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน จึงไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ เมื่อน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินชนิดแก๊สโซฮอล์ 95 เป็นของเหลวไวไฟที่ร้ายแรงติดไฟได้ง่ายและสามารถลุกลามไปได้ทั้งร่างกาย การที่จำเลยที่ 1 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินดังกล่าวราดใส่ศีรษะและลำตัวของผู้ตายแล้วจุดไฟเผาผู้ตายก่อให้ไฟไหม้ตามร่างกายร้อยละ 65 ของพื้นผิวหนังแท้ แผลไหม้กระจายทั่วร่างกายยกเว้นบริเวณอวัยวะเพศ ก้น และบางส่วนของขาทั้งสองข้าง จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่าผู้ตาย แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดเตรียมขวดบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินติดตัวมาด้วย แต่เพิ่งหยิบขวดที่หาได้จากข้างทางใกล้เคียงกับสถานที่เกิดเหตุแล้วตะแคงรถจักรยานยนต์เทน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินลงในขวด และการที่จำเลยที่ 1 พกไฟแช็กติดตัวไปด้วยโดยไม่ได้มีเจตนาจะใช้จุดไฟเผาผู้ตายมาก่อนดังข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ริเริ่มบอกให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ผู้ตายไปพบยังสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องบอกผู้ตายว่าจำเลยที่ 1 จะเดินทางไปด้วย แล้วจำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 ไปยังสถานที่เกิดเหตุ แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 คิดทบทวนวางแผนหลอกให้ผู้ตายเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งจำเลยที่ 2 นั่งรอที่ป้ายจอดรถประจำทางที่เกิดเหตุและพูดโทรศัพท์ติดต่อกับผู้ตาย จำเลยที่ 1 ได้ยินว่าผู้ตายด่าจำเลยที่ 2 และก่อนที่ผู้ตายจะขับรถจักรยานยนต์ไปถึงสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 หยิบขวดน้ำที่หาได้จากข้างทางมาแล้วตะแคงรถจักรยานยนต์ให้น้ำมันไหลลงขวดได้ประมาณ 1 ใน 4 ส่วนของขวดก่อนที่จะเดินไปปัสสาวะในพงไม้ แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้เวลาคิดทบทวนล่วงหน้าและตระเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินใส่ขวดไว้ก่อนจะกระทำผิดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 เดินเข้าไปปัสสาวะในพงไม้เป็นเวลาเดียวกับผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาถึงพอดี จำเลยที่ 1 จึงเดินออกไปใกล้ถึงตัวผู้ตายแล้วใช้มือขวาที่ถือขวดราดน้ำมันไปที่ศีรษะและลำตัวของผู้ตาย แล้วใช้มือซ้ายล้วงหยิบไฟแช็กซึ่งพกติดตัวไว้ในกระเป๋ากางเกงข้างซ้ายออกมาจุดไฟใส่ตัวผู้ตาย การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของจำเลยที่ 1 อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า การที่จะเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้ต้องมีเจตนาร่วมกันและมีการกระทำร่วมกัน แต่โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้รู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 ที่จะหลอกพาผู้ตายไปฆ่าโดยวิธีราดน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินใส่ผู้ตายแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น คงได้ความตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองแต่เพียงว่า ผู้ตายโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายให้จำเลยที่ 2 ไปพบผู้ตายที่บ้าน จำเลยที่ 1 เป็นผู้ริเริ่มบอกให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ผู้ตายไปพบยังสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องบอกว่า จำเลยที่ 1 จะเดินทางไปด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 ไปถึงสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 นั่งรอและพูดโทรศัพท์ติดต่อกับผู้ตายเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 พกขวดน้ำติดตัวไปด้วย แต่กลับได้ความว่า จำเลยที่ 1 หยิบขวดน้ำซึ่งหาได้ใกล้สถานที่เกิดเหตุแล้วตะแคงรถจักรยานยนต์เทน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินลงในขวด แม้จำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 2 เห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยที่ 1 ตะแคงรถจักรยานยนต์เทน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินลงในขวดแล้ว เดินเข้าไปหาผู้ตาย ขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ศีรษะและลำตัวของผู้ตายแล้วจุดไฟเผาผู้ตาย จำเลยที่ 2 นั่งเล่นโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ป้ายจอดรถประจำทางที่เกิดเหตุห่างจากผู้ตายประมาณ 2 เมตร ซึ่งอยู่ในลักษณะที่อาจจะเข้าช่วยขจัดอุปสรรคอันอาจมีขึ้นได้ทันและสามารถช่วยเหลือให้การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 สำเร็จลุล่วงไปได้ และหลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองวิ่งไปด้วยกันตรงไปยังรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับมาแล้วจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายหลบหนีไปด้วยกันก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายแล้วจุดไฟเผาผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 2 มิได้คบคิดนัดหมายกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องการแบ่งหน้าที่กันทำ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีเจตนาร่วมกันและมีการกระทำร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายและจุดไฟเผาผู้ตาย จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ที่ผู้ตายโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายให้จำเลยที่ 2 ไปพบผู้ตายที่บ้าน จำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ผู้ตายไปพบยังสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องบอกว่า จำเลยที่ 1 จะเดินทางไปด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 พาจำเลยที่ 2 ไปถึงสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 นั่งรอและพูดโทรศัพท์ติดต่อกับผู้ตายนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายซึ่งมีการคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว และจำเลยที่ 2 เพียงแต่มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อจะทำให้ผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายหรืออันตรายสาหัสเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 เลือกที่จะทำร้ายผู้ตายโดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายและจุดไฟเผาผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 289 (4) อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่โจทก์ฟ้องและเป็นความผิดได้ในตัว ศาลฎีกาสามารถลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 289 (4) จำคุก 6 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share