แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยระบุเหตุเลิกสัญญาตามข้อ 7 ข้อ 13 และข้อ 14 ไว้ด้วย ชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาให้บริการพื้นที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และในชั้นพิจารณาทั้งโจทก์และจำเลยนำสืบอ้างถึงสัญญาให้บริการพื้นที่พร้อมเอกสารแนบและบันทึกต่อท้ายสัญญาระหว่างจำเลยกับโจทก์ ในการวินิจฉัยคดีว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณารายละเอียดตามคำให้การของจำเลยประกอบเอกสารดังกล่าวได้ เพราะเป็นข้อที่นำสืบปรากฏในชั้นพิจารณาโดยชอบแล้ว ฉะนั้น แม้จำเลยจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยระบุเหตุตามข้อ 7 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็มีอำนาจนำข้อเท็จจริงมาวินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของจำเลยเป็นไปตามข้อ 14 ได้ เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายและคืนเงินหลักประกันรวมเป็นเงิน 4,865,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 6,160,000 บาท แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน 242,000 บาท แก่จำเลย กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่จำเลยชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท คำขออื่นตามฟ้องแย้งให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องเดิมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน 158,000 บาท แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 จำเลยทำสัญญาตกลงให้โจทก์ใช้บริการพื้นที่ร้านค้าในสถานีบริการน้ำมันบางจาก สาขานาโคก ของจำเลย ตั้งอยู่เลขที่ 84/7 หมู่ที่ 2 ถนนสายธนบุรี – ปากท่อ ตำบลนาโคก อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อดำเนินธุรกิจร้านขายเสื้อผ้าและกระเป๋าจากโรงงานในนามร้านมิสเตอร์แบงค์ Mr. Bank Factory Outlet มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 ตามสัญญาให้บริการพื้นที่พร้อมเอกสารแนบและบันทึกต่อท้ายสัญญาให้บริการพื้นที่เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 (เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2) ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมนางสาวปนัดดา พนักงานประจำร้านมิสเตอร์แบงค์ดังกล่าวของโจทก์ แจ้งข้อกล่าวหาว่าช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อจำกัด วันที่ 5 กันยายน 2556 จำเลยบอกเลิกสัญญา ครั้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนางสาวปนัดดาและโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การบอกเลิกสัญญาของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.5 ระบุว่า จำเลยบอกเลิกสัญญาตามข้อตกลงในเอกสารแนบ 1 ข้อ 7 และข้อ 13 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยบอกเลิกสัญญาได้โดยชอบตามเอกสารแนบ 1 ข้อ 14 เป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ตามคำให้การจำเลย จำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยระบุเหตุเลิกสัญญาตามข้อ 7 ข้อ 13 และข้อ 14 ไว้ด้วย และชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาให้บริการพื้นที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และในชั้นพิจารณาทั้งโจทก์และจำเลยนำสืบอ้างถึงสัญญาให้บริการพื้นที่พร้อมเอกสารแนบและบันทึกต่อท้ายสัญญาให้บริการพื้นที่ระหว่างจำเลยกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 (เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2) โดยเอกสารแนบ 1 ข้อ 7 มีความว่า ผู้รับบริการ…ต้องไม่ใช้พื้นที่ที่ให้สิทธิดำเนินการเพื่อกระทำการหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ประกาศ ระเบียบและคำสั่งของทางราชการ หรือกระทำการใดอันผิดศีลธรรมหรือเป็นการรบกวน เดือดร้อน รำคาญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทบางจากฯ (มหาชน) หรือบุคคลอื่นใด ข้อ 13.6 มีความว่า ผู้รับบริการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการบริการที่ดี ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาพลักษณ์หรือชื่อเสียงทางการค้าของบริษัทบางจากฯ (มหาชน) และข้อ 14 มีความว่า แม้สัญญาฉบับนี้จะระบุไว้เป็นอย่างอื่นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้แม้ยังไม่สิ้นระยะเวลาของสัญญาโดยการบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังอีกฝ่ายหนึ่งล่วงหน้า 1 เดือน ดังนั้น ในการวินิจฉัยคดีว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณารายละเอียดตามคำให้การของจำเลยประกอบเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 (เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2) ได้ เพราะเป็นข้อที่นำสืบปรากฏในชั้นพิจารณาโดยชอบแล้ว ฉะนั้น แม้จำเลยจะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยระบุเหตุในข้อ 7 ไว้ในเอกสารหมาย จ.5 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็มีอำนาจนำข้อเท็จจริงมาวินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของจำเลยเป็นไปตามข้อ 14 ได้ และตามเอกสารหมาย จ.5 ก็ได้ให้เวลาโจทก์ขนย้ายภายใน 30 วัน หรือเท่ากับ 1 เดือน นับแต่วันที่ 27 กันยายน 2556 ซึ่งโจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาตามที่ข้อ 14 ระบุว่าต้องให้เวลาล่วงหน้าดังกล่าว การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์โดยชอบจึงไม่มีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ