คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8458/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เคยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 เรื่อง สิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาท ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 568/2553 และหมายเลขแดงที่ 229/2555 ของศาลชั้นต้น ประเด็นในคดีดังกล่าวกับคดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทหรือไม่ เมื่อในคดีก่อนศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7956/2557 ว่า นายแผนไม่เคยมอบสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น ประเด็นในคดีนี้ที่ว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทหรือไม่ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 แม้คดีนี้จะมีการฟ้องร้องกันก่อนที่ศาลในคดีก่อนจะมีคำพิพากษาก็ตาม เมื่อศาลชั้นต้นได้พิจารณาชี้ขาดคดีแล้ว กรณีก็ต้องอยู่ใต้บังคับของมาตรา 144 เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6048 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี กลับสู่สภาพเดิม โดยต้องขับไล่ผู้เช่าและผู้อาศัยออกไปจากที่ดิน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบเงิน 9,498,960 บาท คืนแก่กองมรดกหรือผู้จัดการมรดกของนายแผน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบเงินค่าเช่า ค่าหน้าดินปีละ 900,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะดำเนินการให้ที่ดินดังกล่าวกลับสู่สภาพเดิม และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,498,960 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่กองมรดกหรือผู้จัดการมรดก
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินการทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6048 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ส่วนที่นำบุคคลเข้าอยู่อาศัยกลับคืนสู่สภาพเดิม ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบเงิน 2,547,120 บาท คืนกองมรดกของนายแผน เพื่อจัดแบ่งแก่ทายาทตามกฎหมาย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบเงินแก่กองมรดกหรือผู้จัดการมรดกของนายแผน กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนด ค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ในคดีนี้เคยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 เรื่อง สิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาท ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 568/2553 และหมายเลขแดงที่ 229/2555 ของศาลชั้นต้น ประเด็นในคดีดังกล่าวกับคดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยเช่นเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทหรือไม่ เมื่อในคดีก่อนศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7956/2557 ว่า นายแผนไม่เคยมอบสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น ประเด็นในคดีนี้ที่ว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทหรือไม่ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้คดีนี้จะมีการฟ้องร้องกันก่อนที่ศาล ในคดีก่อนจะมีคำพิพากษาก็ตาม เมื่อศาลชั้นต้นได้พิจารณาชี้ขาดคดีแล้ว กรณีก็ต้องอยู่ใต้บังคับของมาตรา 144 เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เคยฟ้องผู้จัดการมรดกต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ 11681/2541 ขอให้แบ่งทรัพย์มรดกของนายแผนและคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นฎีกาที่คัดลอกข้อความในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมาเป็นฎีกาทั้งสิ้น โดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน และสำหรับฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 กับพวกครอบครองที่ดินพิพาทตามส่วนสัดที่ทายาทตกลงกันแล้ว เงินค่าเช่า ค่าหน้าดิน ไม่ใช่เงินของกองมรดก และจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องของโจทก์ทั้งสี่นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยไว้ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share