แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยวางเงินโดยชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายต่อศาล ย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงว่าจำเลยได้พยายามบรรเทาความเสียหายอันเป็นผลที่เกิดจากจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย เพื่อประกอบดุลพินิจของศาลในการพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานเบาด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ได้นำเรื่องการวางเงินของจำเลยดังกล่าวมาเป็นเหตุบรรเทาโทษให้แก่จำเลย ทั้งการวางเงินเพื่อให้ผู้เสียหายมารับไปนั้น ก็เป็นการแสดงเจตนาอยู่ในตัวแล้วว่าจำเลยจะไม่ถอนเงินออกไปหากผู้เสียหายยังประสงค์จะรับเงินนั้น การที่ผู้เสียหายยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวไปทันทีหลังจากที่จำเลยนำมาวางเพราะผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าอยู่ มิได้หมายความว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์ที่จะรับเงินดังกล่าว
ส่วนการที่ศาลฎีกาพิพากษาว่า พฤติการณ์ของผู้เสียหายเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมาตรา 30 และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 44/1 ก็เป็นกรณีที่ศาลได้พิพากษาในส่วนการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญา หาได้เกี่ยวกับการวางเงินเพื่อบรรเทาผลร้ายและชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยให้แก่ผู้เสียหาย อันเป็นเรื่องค่าสินไหมทดแทนความรับผิดในทางละเมิดไม่ ผู้เสียหายจึงมีสิทธิรับเงินดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยใช้ไม้เบสบอลเป็นอาวุธตีทำร้ายนายกษิติ์หรือกษิดิ์ ผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า แต่ผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายคงได้รับอันตรายสาหัสและจำเลยใช้ไม้เบสบอลทุบตีรถยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91, 288, 297, 358 และริบของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสและข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ กับจำเลยได้วางเงินจำนวน 200,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นเพื่อบรรเทาผลร้ายและความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,732,347.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 358 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 4 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้ยกคำร้องของผู้เสียหายที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกจำเลยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัสให้จำคุก 1 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ให้จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 3 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 7 เดือน 15 วัน ไม่รอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอรับเงินจำนวน 200,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางไว้แก่ผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เนื่องจากศาลฎีกาวินิจฉัยว่านายกษิติ์หรือกษิดิ์ ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ และยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 จึงยกคำร้อง
ผู้เสียหายอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นจ่ายเงินจำนวน 200,000 บาท ที่จำเลยวางไว้ต่อศาลชั้นต้นแก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า นายกษิติ์หรือกษิดิ์ ผู้เสียหาย มีสิทธิรับเงินที่จำเลยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 4 มีนาคม 2557 ระบุว่า จำเลยรู้สึกสำนึกผิดในการกระทำของตนแล้ว เพื่อบรรเทาผลร้ายและความเสียหายที่เกิดขึ้น จำเลยขอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายเนื่องจากถูกจำเลยทำร้ายและทำให้รถยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหาย โดยขอวางเงินจำนวน 200,000 บาท ต่อศาลชั้นต้น กับขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลย ทั้งในชั้นอุทธรณ์จำเลยก็อุทธรณ์ขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษแก่จำเลย อ้างว่าจำเลยได้บรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นโดยชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 200,000 บาท และในชั้นฎีกาจำเลยก็แก้ฎีกาโดยอ้างถึงการชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 200,000 บาท โดยขอให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลยอีก ดังนั้นการที่จำเลยวางเงินดังกล่าวต่อศาลย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงว่าจำเลยได้พยายามบรรเทาความเสียหายอันเป็นผลที่เกิดจากจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้เสียหายเพื่อประกอบดุลพินิจของศาลในการพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยในสถานเบาด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ได้นำเรื่องการวางเงินของจำเลยดังกล่าวมาเป็นเหตุบรรเทาโทษให้แก่จำเลย ทั้งการวางเงินเพื่อให้ผู้เสียหายมารับไปนั้น ก็เป็นการแสดงเจตนาอยู่ในตัวแล้วว่าจำเลยจะไม่ถอนเงินออกไปหากผู้เสียหายยังประสงค์จะรับเงินนั้น การที่ผู้เสียหายยังมิได้รับเงินดังกล่าวไปทันทีหลังจากที่จำเลยนำมาวางก็เพราะผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าอยู่ มิได้หมายความว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์จะรับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลดังกล่าว ส่วนการที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าพฤติการณ์ของผู้เสียหายเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และมาตรา 30 และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ก็เป็นกรณีที่ศาลได้พิพากษาในส่วนการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญา หาได้เกี่ยวกับการวางเงินเพื่อบรรเทาผลร้ายและชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยให้แก่ผู้เสียหายอันเป็นเรื่องค่าสินไหมทดแทนความรับผิดในทางละเมิดไม่ ผู้เสียหายจึงมีสิทธิรับเงินจำนวน 200,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน