แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท กับส่งมอบที่ดินคืนและชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และในการวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือครอบครองแทนจำเลยที่ 1 และต้องพิจารณาว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องมีคุณสมบัติกับปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 รวมทั้งระเบียบของนิคมสร้างตนเองคลองน้ำใสหรือไม่ จึงจะสามารถวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปได้ เป็นฎีกาที่จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 21807 และเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 21807 และส่งมอบที่ดินคืนแก่จำเลยที่ 2 ในสภาพเรียบร้อย กับให้โจทก์ชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,400 บาท แก่จำเลยที่ 2 นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 21807 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 21807 กับส่งมอบที่ดินคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 เดือนละ 800 บาท นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 4 กันยายน 2558) เป็นต้นไป จนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 9,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินนิคมสร้างตนเองคลองน้ำใส จังหวัดสระแก้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองคลองน้ำใส โจทก์ได้รับจัดสรรที่ดินแปลงอื่นของนิคมสร้างตนเองคลองน้ำใสให้ครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับจัดสรรที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นให้ครอบครอง วันที่ 20 ธันวาคม 2547 จำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ วันที่ 11 ตุลาคม 2548 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 1 นำหนังสือแสดงการทำประโยชน์ดังกล่าวไปขอออกโฉนดที่ดิน และในวันที่ 26 มิถุนายน 2551 เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 21807 ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยระบุข้อความว่าห้ามโอนภายใน 5 ปี ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 วันที่ 2 กันยายน 2557 จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.2427/2555 ต่อจากนั้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อพิจารณาฎีกาของโจทก์ทั้งฉบับ สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตนิคมสร้างตนเองมิใช่การครอบครองในฐานะตัวแทนของนิคมสร้างตนเอง เพียงแต่ไม่สามารถยกการครอบครองขึ้นอ้างต่อสู้รัฐเท่านั้น สามารถใช้ยันระหว่างราษฎรด้วยกันได้ การทำสัญญาซื้อขายที่ดิน การนำที่ดินให้บุคคลอื่นเช่า การทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างห้ามโอนมีผลให้สัญญาระหว่างคู่สัญญาสามารถบังคับได้ แต่ใช้ยันต่อรัฐไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 สละสิทธิการครอบครองและไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท หาใช่เป็นการครอบครองแทนจำเลยที่ 1 ไม่ การออกโฉนดที่ดินให้ผู้ไม่มีสิทธิเป็นการออกโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลมีอำนาจเพิกถอนโฉนดที่ดินและนิคมสร้างตนเองคลองนำใสอาจจัดสรรให้สมาชิกที่มีคุณสมบัติต่อไปได้ หากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ซึ่งสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทไปแล้ว กลับมามีสิทธิในที่ดินพิพาท จะเป็นการขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย และทำให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินนิคมสร้างตนเองเลี่ยงกฎหมาย แม้จำเลยที่ 2 จะซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยสุจริตตามคำสั่งศาลก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเกิดจากเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโอนให้แก่กันไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาท ไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท กับส่งมอบที่ดินคืนและชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และในการวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือเป็นการครอบครองแทนจำเลยที่ 1 และจะต้องพิจารณาว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องมีคุณสมบัติกับปฏิบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 รวมทั้งระเบียบของนิคมสร้างตนเองคลองน้ำใสหรือไม่ จึงจะสามารถวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปได้ เป็นฎีกาที่จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ