แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มี ช. เป็นนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช และเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุ ร. ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่เก็บขนถ่ายขยะตามคำสั่งของจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวในคำฟ้องว่า ที่ข้างรถบรรทุกคันเกิดเหตุมีข้อความว่า เทศบาลนครนครศรีธรรมราช แต่จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครศรีธรรมราชแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 รับว่า ร. ทำหน้าที่ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เมื่อการเก็บขนขยะเป็นภารกิจของเทศบาล การขับรถเก็บขนขยะของ ร. จึงเป็นการทำไปตามหน้าที่ในภารกิจของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่า ร. เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และรถบรรทุกคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดำเนินการเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของ ร. ด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะบังคับกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น หาได้มีผลผูกพันกับบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสามด้วยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ร. ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสองและกระทำละเมิด จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกับ ร. รับผิดในผลแห่งละเมิดที่ ร. กระทำด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 425
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันกับนายราเชนทร์ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ถึงวันฟ้องแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,032,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 107,500 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 83,312.50 บาท รวมเป็นเงิน 1,222,812.50 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,032,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 107,500 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 83,312.50 บาท กับให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ทั้งสามจากต้นเงินค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 จำนวน 960,000 บาท ของโจทก์ที่ 2 จำนวน 100,000 บาท ของโจทก์ที่ 3 จำนวน 77,500 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 31 ตุลาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ทั้งสามเสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเกิดเหตุตามฟ้อง นายราเชนทร์ ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เพื่อเก็บและขนถ่ายขยะ เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายราเชนทร์ขับรถด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถจักรยานยนต์ที่นางสาวกุลธิดา ผู้ตายขับ และโจทก์ที่ 2 กับโจทก์ที่ 3 นั่งซ้อนท้าย ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส และโจทก์ที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย ส่วนรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับนายราเชนทร์ในผลแห่งละเมิดด้วยหรือไม่ เพียงใด ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามและคำให้การของจำเลยที่ 1 ประเด็นแห่งคดีมีเพียงว่า จำเลยทั้งสองเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับนายราเชนทร์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เพียงใด ไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการให้นายราเชนทร์ขับรถบรรทุกในฐานะตัวแทน ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำว่า วาน มีความหมายว่า ขอให้ช่วยทำแทน จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดที่นายราเชนทร์ก่อขึ้น เป็นการวินิจฉัยนอกคำฟ้องและนอกประเด็นนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีนายเชาวน์วัศ เป็นนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช และเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุนายราเชนทร์ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่เก็บขนถ่ายขยะตามคำสั่งของจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวในคำฟ้องว่า ที่ข้างรถบรรทุกคันเกิดเหตุมีข้อความว่า เทศบาลนครนครศรีธรรมราช แต่จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครศรีธรรมราชแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้นย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 รับว่านายราเชนทร์ทำหน้าที่ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เมื่อการเก็บขนขยะเป็นภารกิจของเทศบาล การขับรถเก็บขนขยะของนายราเชนทร์จึงเป็นการทำไปตามหน้าที่ในภารกิจของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่านายราเชนทร์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และรถบรรทุกคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดำเนินการเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของนายราเชนทร์ด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะบังคับกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น หาได้มีผลผูกพันกับบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสามด้วยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า นายราเชนทร์ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสองและกระทำละเมิดในคดีนี้ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกับนายราเชนทร์รับผิดในผลแห่งละเมิดที่นายราเชนทร์กระทำด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล สำหรับปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดเพียงใดนั้น เมื่อในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 คงอุทธรณ์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดชำระเงินใด ๆ แก่โจทก์ทั้งสามโดยมิได้โต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด และศาลฎีกาเห็นว่าจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้นั้นเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จึงสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดเท่ากับที่ศาลชั้นต้นกำหนด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ