แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้อง ข้อ 1 ระบุว่า โจทก์ได้ซื้อสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายทั้งกลุ่มประเภทหนี้ตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อจำนวนลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง 942 ราย (กลุ่ม จ) ตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และข้อ 5 ระบุว่า เมื่อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วจึงจะถือว่าสัญญาฉบับนี้เป็นหลักฐานการโอนสิทธิเรียกร้องและถือว่าการโอนสิทธิเรียกร้องบริบูรณ์ โจทก์จะได้รับโอนสิทธิเรียกร้องเท่ากับสิทธิเรียกร้องที่ผู้ล้มละลายมีอยู่ในขณะที่การโอนสิทธิเรียกร้องบริบูรณ์โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่ซื้อขาย ย่อมแสดงว่าการซื้อขายสิทธิเรียกร้องรายนี้ คู่สัญญาประสงค์ที่จะซื้อขายสิทธิเรียกร้องที่ผู้ล้มละลายมีต่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันทั้งสัญญา หากสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายต่อจำเลยที่ 1 และ ห. ผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมีอยู่เพียงใด โจทก์ซึ่งซื้อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาก็ย่อมรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่เท่าที่สิทธิและหน้าที่ของผู้ล้มละลายมีอยู่เพียงนั้น
สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 กำหนดว่า เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน เมื่อปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของเจ้าของแล้ว แต่ผู้เช่าซื้อละเลยหรือเพิกเฉยเสีย และไม่ปฏิบัติตามภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น เจ้าของมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะบอกเลิกการเช่าซื้อ แสดงว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน ต้องปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของผู้ให้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อเสียก่อนถ้าไม่ชำระภายใน 30 วัน ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะมีสิทธิบอกเลิกการเช่าซื้อ และเมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกการเช่าซื้อแล้ว สัญญาเช่าซื้อจึงจะสิ้นสุดลง มิใช่ว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กันแล้ว สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโดยไม่ต้องปรากฏหลักฐานการบอกกล่าวเป็นหนังสือและการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวก่อน การที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ดำเนินการตามขั้นตอนการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญา แต่ได้ไปยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย และการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น จำเลยที่ 1 จำต้องใช้เงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคท้าย พร้อมดอกเบี้ย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคานั้นไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเรื่องใดได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 195,659.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 111,805.36 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 27,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 ตุลาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท คำขออื่นให้ยก แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกของนายหมีดที่ตกแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 ตุลาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป – 3135 ตรัง ไปจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อ ในราคา 350,256 บาท โดยมีนายหมีดทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ 6 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ วันที่ 5 กันยายน 2540 ผู้ให้เช่าซื้อติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมา แล้วนำประมูลขายเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2540 ได้เงินเพียง 210,090.91 บาท เมื่อนำมาหักค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแล้ว ยังคงเหลือค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่อีก 90,805.36 บาท ต่อมาผู้ให้เช่าซื้อตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำสิทธิเรียกร้องของผู้ให้เช่าซื้อซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่ผู้ให้เช่าซื้อมีต่อจำเลยที่ 1 และนายหมีดออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อได้ และโจทก์ทำสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้องกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้อง ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องคดีนี้ เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีทำรายงานเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ 90,805.36 บาท ต่อมานายหมีดถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นทายาทโดยธรรมของนายหมีด โจทก์แจ้งการรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแก่ฝ่ายจำเลยแล้ว โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายโจทก์สามรายการ คือค่าใช้ทรัพย์ซึ่งเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อ 7 เดือน เดือนละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 21,000 บาท ค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเช่าซื้อส่วนที่ยังขาดอยู่หลังจากขายรถที่เช่าซื้อ 90,805.36 บาท และค่าดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดก่อนฟ้อง 83,854.02 บาท รวม 195,659.38 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่รับผิดใช้ค่าใช้ทรัพย์ 7 เดือน เดือนละ 1,000 บาท รวม 7,000 บาท และค่าขาดราคา 20,000 บาท รวม 27,000 บาท ส่วนค่าดอกเบี้ยค้างชำระศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยและมิได้พิพากษากำหนดให้แต่อย่างใด โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสี่รับผิดค่าเสียหายทั้งสามรายการเต็มตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าใช้ทรัพย์และค่าดอกเบี้ยค้างชำระ คงมีอำนาจฟ้องเรียกเฉพาะค่าขาดราคาเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดจำนวนค่าขาดราคาให้เหมาะสมแล้ว
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาเพียงใด เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้องเอกสาร ข้อ 1 ระบุว่าเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2548 โจทก์ได้ซื้อสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายทั้งกลุ่มประเภทหนี้ตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อจำนวนลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง 942 ราย (กลุ่ม จ) ตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,968,483.38 บาท รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบท้ายสัญญาซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายที่จะทำการขายโดยมีรายชื่อจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ และข้อ 5 ระบุว่า เมื่อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วจึงจะถือว่าสัญญาฉบับนี้เป็นหลักฐานการโอนสิทธิเรียกร้องและถือว่าการโอนสิทธิเรียกร้องบริบูรณ์ โจทก์จะได้รับโอนสิทธิเรียกร้องเท่ากับสิทธิเรียกร้องที่ผู้ล้มละลายมีอยู่ในขณะที่การโอนสิทธิเรียกร้องบริบูรณ์โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่ซื้อขาย ย่อมแสดงว่าการซื้อขายสิทธิเรียกร้องรายนี้คู่สัญญาประสงค์ที่จะซื้อขายสิทธิเรียกร้องที่ผู้ล้มละลายมีต่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันทั้งสัญญา หากสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายต่อจำเลยที่ 1 และนายหมีดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมีอยู่เพียงใด โจทก์ซึ่งซื้อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาก็ย่อมรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่เท่าที่สิทธิและหน้าที่ของผู้ล้มละลายมีอยู่เพียงนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องมาเฉพาะค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามรายงานเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีเท่านั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าใช้ทรัพย์และค่าดอกเบี้ยค้างชำระหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 กำหนดว่า เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน เมื่อปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของเจ้าของแล้ว แต่ผู้เช่าซื้อละเลยหรือเพิกเฉยเสีย และไม่ปฏิบัติตามภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น เจ้าของมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะบอกเลิกการเช่าซื้อ แสดงว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน ต้องปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของผู้ให้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อเสียก่อน ถ้าไม่ชำระภายใน 30 วัน ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะมีสิทธิบอกเลิกการเช่าซื้อ และเมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกการเช่าซื้อแล้ว สัญญาเช่าซื้อจึงจะสิ้นสุดลง มิใช่ว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กันแล้ว สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโดยไม่ต้องปรากฏหลักฐานการบอกกล่าวเป็นหนังสือและการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวก่อน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นมา อันเป็นการผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กันทำให้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงเป็นการวินิจฉัยผิดไปจากข้อสัญญาดังกล่าว เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของผู้ให้เช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาภายใน 30 วัน และมีการบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว สัญญาเช่าซื้อจึงยังมิได้เลิกกันเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันดังฟ้องของโจทก์ การที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ดำเนินการตามขั้นตอนการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญา แต่ได้ไปยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2540 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย และการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น จำเลยที่ 1 จำต้องใช้เงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม พร้อมดอกเบี้ย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในค่าขาดราคานั้นไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเรื่องใดได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 21,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 ตุลาคม 2550) ย้อนหลังไป 5 ปี และนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ