คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 661/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ตั้งประเด็นในคำฟ้องว่าโจทก์ปลูกต้นสักล้ำเข้าไปในที่ดิน ป. โดยสุจริต ป. ยินยอมให้ต้นสักคงอยู่ในที่ดินจนกว่าโจทก์จะตัดขาย จำเลยตัดต้นสักของโจทก์เป็นละเมิด จำเลยให้การต่อสู้ว่ารับโอนที่ดินมาและต้นสักเป็นส่วนควบกับที่ดินจำเลย จำเลยเป็นเจ้าของต้นสักจึงมีสิทธิตัดได้โดยไม่เป็นละเมิด คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งคดีนี้จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ปลูกต้นสักโดยไม่สุจริต และโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 จึงต้องฟังว่าโจทก์ปลูกต้นสักในที่ดิน ป. โดยสุจริต เมื่อจำเลยรังวัดออกโฉนดที่ดินทราบว่าต้นสักที่โจทก์ปลูกอยู่ในที่ดินของจำเลย จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ตัดต้นสักออกไปเท่ากับจำเลยบอกปัดไม่ยอมรับต้นสักตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1314 วรรคหนึ่ง ต้นสักจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินจำเลย และเมื่อคดีส่วนอาญาได้ความว่า จำเลยตัดต้นสักของโจทก์เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ คดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่า จำเลยตัดต้นสักของโจทก์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า โจทก์ปลูกต้นสักล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยโดยไม่สุจริต การที่จำเลยตัดต้นสักพอถือได้ว่าจำเลยใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินเลือกเอาไม้สักโดยใช้ราคาต้นสักตาม ป.พ.พ. มาตรา 1311 ประกอบมาตรา 1314 วรรคหนึ่ง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และการกำหนดให้จำเลยใช้ราคาต้นสักแก่โจทก์ ก็เป็นผลจากการวินิจฉัยนอกประเด็น เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนต้นสักที่เอาไป หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 441,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ ให้ยกคำร้องขอให้จำหน่ายคดีชั่วคราวของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 627 เนื้อที่ 26 ไร่เศษ โดยได้รับยกให้จากมารดาตั้งแต่ปี 2527 โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ปลูกต้นสักในที่ดินและปลูกต้นสักล้ำเข้าไปในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 626 ของนายประสิทธิ์ ซึ่งอยู่ติดกัน ต่อมานายประสิทธิ์ขายที่ดินดังกล่าวให้นางกิติมา และนางกิติมาขายที่ดินให้บริษัทศรีสัชพัฒนาจำกัด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 จำเลยซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจากบริษัทศรีสัชพัฒนา จำกัด ซึ่งมีต้นสักที่โจทก์ปลูกอยู่บนที่ดิน ปี 2557 ทางราชการออกโฉนดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 41812 และออกโฉนดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 42242 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 และวันที่ 2 กันยายน 2558 จำเลยตัดต้นสักของโจทก์ 294 ต้น แล้วเอาไปเป็นประโยชน์ของตน โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์พนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 394/2559 ต่อศาลชั้นต้นข้อหาลักทรัพย์เอาต้นสัก 294 ต้น ของโจทก์ไป โจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จำคุก 1 ปี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าจำเลยตัดต้นสักเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินเลือกเอาไม้สักโดยใช้ราคาต้นสักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1311 ประกอบมาตรา 1314 วรรคหนึ่ง เป็นการพิพากษานอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ตั้งประเด็นในคำฟ้องว่าโจทก์ปลูกต้นสักล้ำเข้าไปในที่ดินของนายประสิทธิ์โดยสุจริต นายประสิทธิ์ยินยอมให้ต้นสักคงอยู่ในที่ดินจนกว่าโจทก์จะตัดขาย จำเลยตัดต้นสักของโจทก์เป็นละเมิด จำเลยให้การต่อสู้ว่าต้นสักเป็นส่วนควบกับที่ดินจำเลย จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต้นสักจึงมีสิทธิตัดต้นสักได้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิด คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งต้องวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต้นสัก คดีนี้จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ปลูกต้นสักในที่ดินของนายประสิทธิ์โดยไม่สุจริต และโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ที่ว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต” จึงต้องฟังว่าโจทก์ปลูกต้นสักในที่ดินของนายประสิทธิ์โดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 ประกอบมาตรา 1314 วรรคหนึ่ง แต่นายประสิทธิ์รวมทั้งนางกิติมาซึ่งรับโอนที่ดินจากนายประสิทธิ์ และบริษัทศรีสัชพัฒนา จำกัด ผู้รับโอนที่ดินต่อมาไม่ได้มีข้อโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในต้นสักกับโจทก์ จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า เมื่อรังวัดออกโฉนดที่ดินทราบว่าต้นสักที่โจทก์ปลูกอยู่ในที่ดินของจำเลย จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ตัดต้นสักออกไป เท่ากับจำเลยบอกปัดไม่ยอมรับต้นสักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1314 วรรคหนึ่ง ต้นสักจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินจำเลย และโจทก์มีหน้าที่ต้องตัดต้นสักของโจทก์ออกจากที่ดินของจำเลยข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต้นสัก ทั้งคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นข้อหาลักทรัพย์เอาต้นสัก 294 ต้น ของโจทก์ไป ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาได้ความว่า จำเลยตัดต้นสักของโจทก์เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ไปโดยทุจริต จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ฉะนั้น คดีส่วนแพ่งนี้จึงต้องฟังว่าจำเลยตัดต้นสักของโจทก์อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า โจทก์ปลูกต้นสักล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยโดยไม่สุจริต การที่จำเลยตัดต้นสักพอถือได้ว่าจำเลยใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินเลือกเอาไม้สักโดยใช้ราคาต้นสักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1311 ประกอบมาตรา 1314 วรรคหนึ่ง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดให้จำเลยใช้ราคาต้นสักแก่โจทก์ 100,000 บาท นั้น เป็นผลจากการวินิจฉัยนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในส่วนที่วินิจฉัยว่าโจทก์ปลูกต้นสักในที่ดินของจำเลยโดยไม่สุจริตและจำเลยต้องใช้ราคาต้นสักแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1311 ประกอบมาตรา 1314 วรรคหนึ่ง ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share