คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1580/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดว่าอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันทั้งสองสำนวน แม้ทรัพย์ตามฟ้องสำนวนหลังที่โจทก์ระบุว่าเป็นโบราณวัตถุ 217 ชิ้น และสร้อยลูกปัดโบราณ 332 เส้น จะเป็นทรัพย์คนละอย่างกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรก แต่เมื่อการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนหลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรก จึงเป็นการกระทำในคราวเดียวอันเป็นกรรมเดียวกัน ฟ้องสำนวนหลังจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำนวนหลังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
สำนวนแรก โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 352, 357
สำนวนหลัง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 352, 357
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องทั้งสองสำนวน
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก แต่ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคแรก จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 3 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ประกอบอาชีพค้าขายโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2552 จำเลยที่ 1 ฟ้องหย่าโจทก์และขอแบ่งสินสมรส หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เอาทรัพย์ตามฟ้องซึ่งเป็นสินสมรสไป ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2553 เจ้าพนักงานตำรวจไปค้นบ้านของจำเลยที่ 2 ตามหมายค้นเพื่อหาสิ่งของผิดกฎหมายอย่างอื่น พบทรัพย์ตามฟ้องและทรัพย์ที่เป็นโบราณวัตถุของจำเลยที่ 2 อีกจำนวนมากอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายโบราณวัตถุเช่นเดียวกัน โดยมีการเก็บทรัพย์ตามฟ้องส่วนหนึ่งไว้ใต้บริเวณที่ใช้เป็นที่นอนภายในบ้านของจำเลยที่ 2 และโบกปูนปิดทับ เจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์ที่ตรวจพบและทำบันทึกไว้ โจทก์ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง จึงมีการ แจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ว่า ยักยอก และจำเลยที่ 2 ว่า ลักทรัพย์หรือรับของโจร พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง มีปัญหาวินิจฉัยว่า ฟ้องสำนวนหลังเป็นฟ้องซ้อนหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดว่าอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันทั้งสองสำนวน แม้ทรัพย์ตามฟ้องสำนวนหลังที่โจทก์ระบุว่าเป็นโบราณวัตถุ 217 ชิ้น และสร้อยลูกปัดโบราณ 332 เส้น จะเป็นทรัพย์คนละอย่างกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรก แต่เมื่อการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนหลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรก จึงเป็นการกระทำในคราวเดียวอันเป็นกรรมเดียวกัน ฟ้องสำนวนหลังจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำนวนหลังได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
สำหรับคดีตามฟ้องสำนวนแรกในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กระทำการตามฟ้องสำนวนแรกอันเป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นพฤติการณ์ที่ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 น่าจะทราบความเป็นมาของทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรกที่จำเลยที่ 1 นำไปไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 2 แม้ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องสอดเข้าไปในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องหย่าโจทก์และขอแบ่งสินสมรส เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้คู่ความในคดีดังกล่าวร่วมกันส่งมอบพระพุทธรูป 12 องค์ ที่จำเลยที่ 2 นำไปฝากจำเลยที่ 1 ขายคืนแก่จำเลยที่ 2 ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยที่ 2 ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสินสมรสทั้งหมดของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่ามีอะไรบ้าง เพราะจำเลยที่ 2 เพียงโต้แย้งเกี่ยวกับทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูป 12 องค์ เท่านั้น ทั้งได้ความจากคำให้การของจำเลยที่ 2 ตามสำเนาบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า นายประยงค์ พี่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งรับเหมาก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรกบางส่วนที่เป็นรูปปั้นพระพิฆเนศ รูปปั้นเจดีย์ และรูปปั้นตุ๊กตาชาย อย่างละ 1 ชิ้น ไปไว้ใต้เตียงนอนภายในบ้านของจำเลยที่ 2 รวมกับทรัพย์ที่เป็นโบราณวัตถุและสร้อยลูกปัดของจำเลยที่ 2 แล้วโบกปูนปิดทับไว้ เพราะเกรงว่าจะถูกลักไปเนื่องจากมีคนงานจำนวนมากมาทำงานก่อสร้างอาคารอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ส่วนทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรกที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา 4 ชิ้น นายประยงค์นำไปเก็บไว้ในห้องพักของตนซึ่งอยู่ภายในบ้านของจำเลยที่ 2 ดังนั้น หากจำเลยที่ 2 ประสงค์จะปกปิดทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรกไม่ให้ถูกพบเห็นได้โดยง่ายแล้ว เหตุใดจึงไม่ให้นายประยงค์นำทรัพย์ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา 4 ชิ้นไปเก็บรวมไว้ใต้เตียงนอนที่มีการโบกปูนปิดทับด้วย พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า จำเลยที่ 2 เจตนาช่วยซ่อนเร้นทรัพย์ตามฟ้องสำนวนแรกโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ยักยอกมา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนหลัง ส่วนสำนวนแรกให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share