คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 93 และ 95 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 93 มีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว แต่โฉนดเลขที่ 95 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ ในอีกคดีหนึ่ง คู่ความได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยในคดีนั้นซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ให้แก่โจทก์ในคดีนี้ หากโจทก์คดีนั้นได้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ในคดีก่อนปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชำระหนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 93 คืนแก่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่จำเลยยังอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 93 ย่อมกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินแปลงนี้ได้
ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับการยกให้ที่ดินแปลงนี้มาจากโจทก์และยังคงเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงต้องถือว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของจำเลย ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ยอมไปรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนคนละครึ่ง กรณียังไม่ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในส่วนนี้ โจทก์ไม่อาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ได้ แต่อย่างไรก็ดี โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ก็ยังคงมีสิทธิบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
การมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดี ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 แม้ระบุข้อความทำนองว่า การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปตามหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเสมือนว่าข้าพเจ้าเป็นผู้กระทำการด้วยตนเองทั้งสิ้น เช่นนี้ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ทุกประการ ซึ่งรวมถึงการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) โดยการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด รวมทั้งไม่ต้องระบุว่าให้ฟ้องในข้อหาใดเช่นกัน การระบุหมายเลขคดีในภายหลังเป็นเพียงการระบุข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 93 และ 95 ของโจทก์ และห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอีกต่อไป กับให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสมพงษ์ ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 93 และ 95 ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอีกต่อไป และให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 93 ส่วนจำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ต่อมานางสมพงษ์ กับพวกรวม 3 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 780/2556 ของศาลชั้นต้น แล้วได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และโจทก์ทั้งสามในคดีดังกล่าวได้ชดใช้เงินให้จำเลยคดีนี้ จำนวน 1,021,250 บาท แต่จำเลยยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 95 ให้เป็นชื่อของโจทก์คดีนี้ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ การที่โจทก์ไม่ระบุชื่อจำเลยและข้อหาที่จะฟ้องในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี รวมทั้งเพิ่งมาระบุหมายเลขคดีในหนังสือมอบอำนาจภายหลังฟ้องคดีแล้วเป็นการไม่ชอบ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความระบุไว้ว่า “…ข้าพเจ้านายจอม ขอมอบอำนาจให้นางสมพงษ์ เป็นผู้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ทุกประการ ในคดีหมายเลขดำที่ 1291/2557 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรี ทั้งให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางจำหน่ายสิทธิของข้าพเจ้าได้ เช่น… การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปตามหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเสมือนว่าข้าพเจ้าเป็นผู้กระทำการด้วยตนเองทั้งสิ้น…” ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นางสมพงษ์มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ทุกประการ ซึ่งย่อมรวมถึงการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 (5) ด้วย นางสมพงษ์ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจฟ้องคดี และการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเช่นนี้ ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด รวมทั้งการให้ฟ้องคดีแทนนั้นก็หาจำต้องระบุว่าจะให้ฟ้องข้อหาใดไว้ด้วยไม่ นางสมพงษ์ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แทนโจทก์ ส่วนการระบุหมายเลขคดีในภายหลังนั้นก็เป็นเพียงการระบุข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ย่อมไม่มีผลให้หนังสือมอบอำนาจที่มีความสมบูรณ์อยู่แล้วเสียไป ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 93 และเลขที่ 95 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 95 ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ไปรับโอนและไม่ยอมชำระค่าธรรมเนียมในการโอนตามที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลง เห็นว่า ในส่วนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 93 ซึ่งมีชื่อโจทก์ในคดีนี้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 780/2556 หมายเลขแดงที่ 962/2556 ของศาลชั้นต้น ที่นางสมพงษ์ ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้เป็นจำเลย ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และโจทก์ทั้งสามปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชำระหนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 93 คืนให้แก่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวและเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 93 ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 93 ได้ ส่วนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 95 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับการยกให้ที่ดินแปลงนี้มาจากโจทก์และยังคงเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงต้องถือว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 95 ยังเป็นของจำเลย ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของจำเลย โดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์ไม่ยอมไปรับโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 95 จากจำเลยตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งในการโอนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมคนละครึ่ง กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 95 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 95 ได้ แต่อย่างไรก็ตาม โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ก็ยังคงมีสิทธิบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 95 ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 95 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share