แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยมิได้ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าหนี้ที่จำเลยกู้เงินจากบิดามานั้นเป็นหนี้ร่วมที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดคนละกึ่งหนึ่ง หรือขอให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยให้หักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อน การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยหักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อนจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในฟ้องแย้ง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
การที่สามีภริยาต้องรับผิดในหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 และมาตรา 1490 นั้น จะต้องรับผิดต่อเมื่อสามีหรือภริยาชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้ว หากฝ่ายที่ชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปเกินส่วนที่ตนได้สินสมรสไปเท่าใดก็มีสิทธิเรียกร้องอีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ให้ มิใช่ว่าหากสามีหรือภริยาหย่าและแบ่งสินสมรสกันแล้วจะต้องนำหนี้ร่วมมาหักออกจากสินสมรสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเก็บรักษาไว้เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนแล้วจึงจะแบ่งสินสมรสส่วนที่เหลือกัน เพราะหากไม่นำเงินที่หักไว้ไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้อาจเรียกให้อีกฝ่ายรับผิดชำระหนี้เงินกู้เต็มจำนวนได้อยู่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว และให้แบ่งสินสมรสที่ดินโฉนดเลขที่ 19249 เลขที่ดิน 274 พร้อมบ้านเลขที่ 111/119 จังหวัดนนทบุรี ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลย หากประมูลไม่ได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง และแบ่งเงินฝากในบัญชีธนาคาร ของจำเลยจำนวน 4,900,900 บาท ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งจำนวน 2,450,450 บาท และเงินจำนวนใด ๆ ที่จะปรากฏในภายหลังในบัญชีดังกล่าวจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากกันให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้พิพากษาให้จำเลยกับโจทก์หย่าขาดจากกัน และให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรเพียงผู้เดียว กับให้โจทก์จ่ายค่าการศึกษาของบุตรผู้เยาว์ปีละไม่น้อยกว่า 400,000 บาท โดยเริ่มชำระปีการศึกษา 2554 และค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เดือนละไม่น้อยกว่า 40,000 บาท เริ่มชำระเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะเรียนจบในระดับชั้นสูงสุด และให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่จำเลยเดือนละ 50,000 บาท นับแต่เดือนตุลาคม 2555 เป็นต้นไป เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่ปี หรือเท่ากับระยะเวลาที่จำเลยทำงานในประเทศไทย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน โดยให้แบ่งทรัพย์สินซึ่งโจทก์และจำเลยมีอยู่ร่วมกันอันเป็นสินสมรสในวันฟ้อง (วันที่ 2 พฤษภาคม 2554) คนละกึ่งหนึ่ง สำหรับสินสมรสบ้านเลขที่ 111/119 บนที่ดินโฉนดเลขที่ 19249 เลขที่ดิน 274 จังหวัดนนทบุรี ให้แบ่งคนละกึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลย หากประมูลไม่ได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งคนละส่วนเท่ากัน ทั้งนี้ ให้หักใช้หนี้เงินกู้จากนายสินไชย บิดาของจำเลยจำนวน 2,500,000 บาท เสียก่อน ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว และให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาบุตรผู้เยาว์เป็นเงินเดือนละ 60,000 บาท นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นบุคคลสัญชาติอังกฤษ สมรสกับจำเลยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 ระหว่างสมรสมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กหญิง ค. เกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2543
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของโจทก์ว่า อำนาจปกครองเด็กหญิง ค. ผู้เยาว์ควรเป็นของโจทก์หรือจำเลย โดยโจทก์ฎีกาอ้างว่า การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยมีอำนาจปกครองเพียงผู้เดียวเป็นการตัดอำนาจปกครองของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่ควรรับฟังความเห็นของเด็กหญิง ค. ผู้เยาว์เพราะยังอ่อนอายุนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์กับจำเลยฟ้องและฟ้องแย้งเพื่อขอให้หย่าขาดจากกัน จึงเป็นกรณีที่ขอให้หย่าโดยมีคำพิพากษาของศาล กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคสอง ที่ให้ศาลชี้ขาดได้ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ทั้งนี้ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ ดังนี้ การที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดให้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่กับจำเลยฝ่ายเดียวจึงกระทำได้ และแม้เด็กหญิง ค. จะเป็นผู้เยาว์ แต่ก็มีอายุ 10 ปีเศษ มีความคิดของตนเอง สามารถรับรู้ความทุกข์สุขที่เกิดขึ้นในครอบครัว และมีวิจารณญาณเพียงพอที่จะรับรู้ถึงความรักความผูกพันและความสุขที่ตนควรจะได้รับจากการอยู่ร่วมกับผู้เป็นบิดาหรือมารดาอย่างไร การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังความเห็นของเด็กหญิง ค. ที่มาเบิกความต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดให้จำเลยเป็นผู้ปกครองของเด็กหญิง ค. ผู้เยาว์จึงชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของเด็กหญิง ค. ผู้เยาว์เดือนละ 60,000 บาท สูงไปหรือไม่นั้น เห็นว่า เด็กหญิง ค. ผู้เยาว์เป็นบุตรของโจทก์และจำเลย ทั้งโจทก์และจำเลยผู้เป็นบิดามารดาจึงต้องมีส่วนร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตามความในบทบัญญัติมาตรา 1564 วรรคแรก และการที่จะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษามากน้อยเพียงใด ย่อมต้องคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีด้วย ตามมาตรา 1598/38 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากโจทก์ จำเลยและบุตรผู้เยาว์เดินทางออกจากประเทศอังกฤษมาอยู่ประเทศไทย โจทก์ไม่มีงานทำ คงมีแต่จำเลยทำงานมาตลอดโดยได้รับเงินเดือนเดือนละแสนบาทเศษนำมาใช้จ่ายทั้งโจทก์ จำเลยและเด็กหญิง ค. ผู้เยาว์ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่โจทก์ไปทำงานที่ประเทศออสเตรเลียเกิดขึ้นหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง ค. ผู้เยาว์เดือนละ 60,000 บาท เท่ากับรวมกับส่วนที่จำเลยในฐานะมารดาต้องร่วมอุปการะเลี้ยงดูด้วยก็จะเป็นการใช้จ่ายเป็นค่าอุปการะเด็กหญิง ค. ผู้เยาว์เดือนละ 120,000 บาท เป็นจำนวนเงินที่สูงเกินกว่าฐานะของผู้รับ จึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง ค. ผู้เยาว์เดือนละ 40,000 บาท ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อต่อไปมีว่า กรณีมีเหตุควรจะต้องนำหนี้ที่จำเลยและโจทก์กู้เงินจากบิดาของจำเลย 2,500,000 บาท หักออกจากสินสมรสก่อนการแบ่งสินสมรสหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาอ้างว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ชำระหนี้ดังกล่าวออกจากสินสมรสก่อนการแบ่งสินสมรสเกินไปกว่าที่ปรากฏในฟ้องแย้งนั้น เห็นว่า จำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยมิได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่า หนี้ที่จำเลยกู้เงินจากบิดามานั้นเป็นหนี้ร่วมที่โจทก์จำเลยจะต้องร่วมกันรับผิดคนละกึ่งหนึ่ง หรือขอให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยหักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อน การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้แบ่งบ้านอันเป็นสินสมรสโดยหักใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าวก่อนจึงเป็นการวินิจฉัยที่ให้เกินไปกว่าที่ปรากฏในฟ้องแย้งซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 เนื่องจากการที่จะให้สามีภริยารับผิดในหนี้ร่วมต่อกันตาม มาตรา 1489 และ 1490 นั้น จะต้องรับผิดต่อเมื่อสามีหรือภริยาได้ชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้ว หากฝ่ายที่ชำระหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้ไปเกินส่วนที่ตนได้สินสมรสไปเท่าใด ก็มีสิทธิเรียกร้องอีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ให้ มิใช่ว่าเมื่อมีหนี้ร่วมหากสามีหรือภริยาฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสแล้ว ถ้ามีเหตุหย่าและจะต้องแบ่งสินสมรสกันแล้วจะต้องหักหนี้ร่วมออกจากสินสมรสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรักษาไว้เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนแล้วจึงจะแบ่งสินสมรสส่วนที่เหลือกัน การจะให้หักหนี้ดังกล่าวออกเพื่อจำเลยจะได้นำไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ก่อนแล้วจึงแบ่งสินสมรสกันย่อมกระทำไม่ได้ เพราะหากจำเลยไม่นำเงินที่หักไว้ไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้อาจเรียกให้โจทก์รับผิดชำระหนี้เงินกู้เต็มจำนวนได้อยู่ ศาลชอบแต่จะให้แบ่งสินสมรสเท่ากันโดยให้โจทก์ร่วมรับผิดชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวคนละกึ่งหนึ่งกับจำเลยเท่านั้นหากจำเลยขอมา ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้แบ่งบ้านและที่ดิน อันเป็นสินสมรสโดยหักใช้หนี้ที่จำเลยกู้เงินจากบิดาจำเลยมาก่อนจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า การแบ่งสินสมรสที่เป็นบ้านเลขที่ 111/119 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 19249 เลขที่ดิน 274 จังหวัดนนทบุรี นั้น ไม่ต้องหักใช้หนี้เงินกู้จากนายสินไชย บิดาของจำเลยจำนวน 2,500,000 บาท ก่อน ทั้งนี้การแบ่งบ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ให้อยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าการศึกษาบุตรผู้เยาว์เป็นเงินเดือนละ 40,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ