คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10025/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลย ย่อมเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้องและกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่คำฟ้องที่โจทก์ได้ถอนฟ้องก็อาจยื่นฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยและศาลชั้นต้นอนุญาต เท่ากับว่าไม่เคยมีการฟ้องร้องกันมาก่อน เพราะกฎหมายกำหนดให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อนมีการฟ้องร้อง คดีดังกล่าวจึงมิใช่เป็นกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่โจทก์ยื่นคำแถลงว่าจำเลยละเมิดข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่โจทก์และจำเลยกระทำกันนอกศาลหลังจากมีการถอนฟ้องแล้ว จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความที่กระทำกันในชั้นศาลและมิใช่เป็นกรณีการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากคำพิพากษาถึงที่สุดที่มีอายุความ 10 ปี
ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่งและวรรคสาม บัญญัติว่า โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม และห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม และมาตรา 193/9 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ คดีนี้เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องล่วงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม คดีโจทก์จึงขาดอายุความต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า นิติกรรมหนังสือสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อยเป็นโมฆะ นิติกรรมหนังสือสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสงครามเป็นโมฆะ นิติกรรมหนังสือสัจจะสัญญาลงวันที่ 1 มีนาคม 2552 ที่กรมที่ดินสำนักงานเขตบางกอกน้อย ลงวันที่ 3 มีนาคม 2552 เป็นโมฆะ และการจดทะเบียนหย่าที่เกิดจากนิติกรรมที่มิชอบด้วยกฎหมายระหว่างโจทก์จำเลยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายเป็นโมฆะ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน ณ สำนักทะเบียนเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย วันที่ 14 ตุลาคม 2546 โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนหย่า ณ สำนักงานทะเบียนเขตยานนาวา วันที่ 15 ตุลาคม 2547 โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนสมรส ณ สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2552 โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนหย่า ณ สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย วันที่ 8 มิถุนายน 2553 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 780/2553 ต่อศาลชั้นต้น กล่าวหาว่า จำเลยกระทำการฉ้อฉลต่อโจทก์ ขอให้เพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 16873 จากจำเลยมาเป็นของโจทก์ เพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 888 จากจำเลยเป็นสินสมรส เพิกถอนการจดทะเบียนหย่า เลขทะเบียน 43/9269 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2552 ให้เป็นโมฆะ ขอให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 52137 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เลขที่ 1/37 และรถยนต์เบนซ์ หมายเลขทะเบียน 5 ษ – 0118 กรุงเทพมหานคร เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย ขอให้รายได้ในบริษัทเทพฤทธิ์ อินเตอร์เทรด จำกัด จำนวน 20,000,000 บาท เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2553 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2553 คดีถึงที่สุด ในประเด็นเรื่องการหย่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้ฎีกาในประเด็นดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์คือ คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้เป็นผลมาจากเหตุคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 780/2553 ที่โจทก์ยื่นคำแถลง การละเมิดข้อตกลงสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2553 ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้มีอายุความ 10 ปี ตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาถึงที่สุด ในข้อนี้โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 780/2553 ของศาลชั้นต้น โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลย โดยตามคำร้องดังกล่าวโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 การถอนฟ้องย่อมเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้องและกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่ว่าคำฟ้องที่โจทก์ได้ถอนฟ้องก็อาจยื่นฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นและศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเท่ากับว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 780/2553 ไม่เคยมีการฟ้องร้องกันมาก่อน เพราะกฎหมายกำหนดให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อนมีการฟ้องร้อง คดีดังกล่าวจึงมิใช่เป็นกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 แม้โจทก์จะยื่นคำแถลงว่า จำเลยละเมิดข้อตกลงสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ตามเอกสารที่โจทก์จัดทำขึ้นมีข้อความระบุว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวได้กระทำกันนอกศาลหลังจากมีการถอนฟ้องแล้ว จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความที่กระทำกันในชั้นศาลและมิใช่เป็นกรณีการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากคำพิพากษาถึงที่สุดที่มีอายุความ 10 ปี ดังที่โจทก์ฎีกา ปรากฏจากคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 780/2553 ของศาลชั้นต้น และคำเบิกความของโจทก์ว่า เมื่อโจทก์ทราบว่าถูกจำเลยทำกลฉ้อฉล เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2553 โจทก์ได้มีหนังสือบอกล้างนิติกรรมสัญญาที่กระทำกับจำเลยก่อนหน้านั้น เพื่อให้นิติกรรมสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะกรรม และเบิกความว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 โจทก์ได้ทำหนังสือบอกล้างหนังสือสัญญาคดีส่งให้จำเลยโดยชอบแล้วตามหนังสือบอกล้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิบอกล้างนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นโมฆียะกรรมเพราะกระทำไปเนื่องจากถูกจำเลยทำกลฉ้อฉลอย่างช้าที่สุดในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่งและวรรคสาม บัญญัติว่า โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม และห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม และมาตรา 193/9 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ เมื่อปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 ล่วงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม คดีโจทก์จึงขาดอายุความต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share