คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2127/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้กระทำการใดที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่อุทธรณ์ ฟ้องแย้งของจำเลยย่อมต้องตกไปด้วย เพราะไม่มีฟ้องเดิมและตัวโจทก์เดิมที่จำเลยจะฟ้องแย้ง
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทและมีคำพิพากษาบังคับโจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องแย้งของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247 (เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 350,000 บาท แก่โจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ารบกวนการครอบครองโดยกระทำการใด ๆ อันเป็นการโต้แย้งขัดขวางการครอบครองที่ดินตามแผนผังที่ดินที่ระบายด้วยสีเขียว และห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์รื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินรวมทั้งบริวารของโจทก์ออกจากที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินหัวไร่ปลายนาที่ติดต่อกับที่ดินแปลงจรดตีนภูเขาที่อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยและใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 เดือน เป็นเงิน 20,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหาย 370,000 บาท และให้โจทก์ชำระค่าขาดประโยชน์เดือนละ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมของโจทก์และในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทตามรูปที่ดินในกรอบเส้นสีดำน้ำเงินในแผนที่พิพาทของจำเลย ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 62,000 บาท แก่จำเลย และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (วันที่ 29 พฤศจิกายน 2556) เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทเสร็จสิ้น กับให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองโดยปลูกบ้านและต้นไม้ในที่ดินพิพาทมาหลายปี โจทก์จึงได้รับประโยชน์แห่งข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง ข้อเท็จจริงได้ความจากสำนวนว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยนำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 640 หมู่ที่ 10 ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ของจำเลย โดยจำเลยนำชี้ให้ช่างรังวัดเข้ามารังวัดที่ดินพิพาทอันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทโดยปกติสุขของโจทก์ ขอให้ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ ที่เป็นการโต้แย้งขัดขวางการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์และบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินต่อเนื่องกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลย โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยเช่าที่ดินพิพาทจากบิดาของจำเลย ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์รื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินกับบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท พร้อมใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินพิพาทตลอดมาแล้วจำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดที่ดินพิพาทโดยที่จำเลยยังไม่ได้เข้าไปยึดถือครองครองที่ดินพิพาท ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่าจำเลยแย่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ทั้งการที่จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินแม้จะรุกล้ำเข้าไปในเขตที่โจทก์ครอบครอง แต่เมื่อถูกโต้แย้งคัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินก็มิได้ดำเนินการรังวัดอีก เพียงแค่จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินดังกล่าว มิใช่การรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้องของโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย โจทก์ไม่อุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาบังคับโจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลย โจทก์ต้องขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทและชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลย โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของโจทก์และยกฟ้องแย้ง เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์โดยให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้กระทำการใดที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์และพิพากษายกฟ้องของโจทก์ ฟ้องแย้งของจำเลยย่อมต้องตกไปด้วย เพราะการฟ้องแย้งนั้นจะมีได้จะต้องมีฟ้องเดิมและตัวโจทก์เดิมที่จะเป็นจำเลยของฟ้องแย้งอยู่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทและมีคำพิพากษาบังคับโจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องแย้งของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งอีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share