คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายวิธีสบัญญัติ เมื่อมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อาจทำการไต่สวน แต่ขณะที่ผู้เสียหายกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดแก่จำเลย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจไต่สวนตามมาตรา 19 (4) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานรับเงิน 3,000,000 บาท จาก ป. ในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือให้ ป. ไม่ต้องถูกย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 แม้ภายหลังจำเลยจะไม่กระทำอย่างใดในตำแหน่งเพื่อช่วยเหลือ ป. หรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ขณะที่จำเลยรับเงินดังกล่าวแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 จำคุก 6 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุนายประสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่น ส่วนจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับอัตรากำลังทั้งหมดของสำนักงานในเรื่องการบรรจุแต่งตั้ง การเก็บทะเบียนประวัติและเรื่องวินัย รวมทั้งการจัดทำข้อมูลข้าราชการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารงานบุคคลพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย และเลื่อนระดับข้าราชการทั้งหมด ในวันเกิดเหตุวันที่ 18 มีนาคม 2540 มีการเบิกถอนเงินจากบัญชีเดินสะพัดธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาวิสุทธิ์กษัตริย์ บัญชีเลขที่ 025-3-xxxxxx ของนายประสิทธิ์ 3,000,000 บาท ตามสำเนาใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัด วันที่ 22 เมษายน 2540 นายประสิทธิ์ถูกย้ายไปรับราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทสกลนคร ต่อมานายประสิทธิ์กล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ว่า จำเลยเรียกรับเงินจากนายประสิทธิ์เพื่อเป็นค่าตอบแทนที่นายประสิทธิ์ไม่ต้องถูกย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น ชั้นไต่สวนจำเลยให้การปฏิเสธ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย แล้วส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุด โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับภายหลังวันเกิดเหตุคดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อาจทำการไต่สวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ได้เพราะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง และจำเลยไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติ การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 ภายหลังวันเกิดเหตุคดีนี้ แต่ขณะที่ผู้เสียหายกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดแก่จำเลยตามกฎหมายเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2543 นั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับแล้ว โดยมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ช มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ …(4) ไต่สวนและวินิจฉัยว่า…เจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ…” อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการไต่สวนจึงเป็นกฎหมายในส่วนวิธีสบัญญัติและมีผลใช้บังคับทันทีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับดังกล่าว ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจไต่สวนตามที่ผู้เสียหายกล่าวหา กรณีเช่นว่านี้หาใช่เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังดังที่จำเลยฎีกาไม่ การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ในปัญหานี้ โจทก์มีนายประสิทธิ์เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกคำให้การของพยานต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ได้ความว่า วันเกิดเหตุนายประสิทธิ์นำเงิน 3,000,000 บาท ไปให้จำเลยเพื่อเป็นค่าตอบแทนที่ตนเองจะไม่ต้องถูกย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น เพราะนายประสิทธิ์ทราบว่ามีคำสั่งให้ตนเองย้ายไปรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองระดับ 8 ในส่วนกลาง แต่ยังไม่เห็นคำสั่ง หากคำสั่งออกแล้วแต่ยังไม่มีการเวียนคำสั่งให้ทราบ ก็สามารถยกเลิกคำสั่งได้ โดยในวันดังกล่าวมีนายไพฑูรย์ นายไพรินทร์ นายสมควร และนายจั่ว ไปด้วย เมื่อไปถึงที่ทำงานของจำเลยที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กรุงเทพมหานคร นายประสิทธิ์กับนายไพฑูรย์เดินไปที่ห้องทำงานของจำเลยที่กองการเจ้าหน้าที่ ส่วนนายไพรินทร์รออยู่ชั้นล่าง นายไพฑูรย์มอบถุงบรรจุเงิน 3,000,000 บาท ให้นายประสิทธิ์และรออยู่หน้าห้อง นายประสิทธิ์ถือถุงบรรจุเงินไปในห้องทำงานของจำเลยคนเดียวแล้วมอบเงินให้จำเลย และมีบันทึกคำให้การของนายไพรินทร์ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนเป็นพยาน โดยนายไพรินทร์ให้การยืนยันได้ความว่า วันเกิดเหตุนายประสิทธิ์ชวนนายไพรินทร์กับนายไพฑูรย์ไปเบิกถอนเงินที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาวิสุทธิ์กษัตริย์ กรุงเทพมหานคร 3,000,000 บาท โดยนั่งรถตู้ของศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่นไป หลังจากเบิกถอนเงินแล้วก็เดินทางต่อไปที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท เมื่อไปถึงนายประสิทธิ์กับนายไพฑูรย์เดินขึ้นไปบนอาคารของสำนักงาน โดยนายไพฑูรย์เป็นผู้ถือกล่องกระดาษใส่เงินที่เบิกถอนมาจากธนาคารส่วนนายไพรินทร์รอที่รถ หลังจากนั้นไม่นานนายประสิทธิ์กับนายไพฑูรย์เดินกลับมาที่รถแต่ไม่ได้ถือกล่องกระดาษใส่เงินมาด้วย ต่อมาจึงทราบจากนายประสิทธิ์ว่าเงิน 3,000,000 บาท ได้นำไปให้จำเลยตามที่จำเลยเรียกร้อง เพื่อไม่ให้นายประสิทธิ์ต้องถูกย้ายไปที่อื่น สอดคล้องกับคำเบิกความของนายประสิทธิ์ดังกล่าว แม้ในชั้นพิจารณานายไพรินทร์จะเบิกความว่า ที่นายประสิทธิ์ไปเบิกถอนเงิน 3,000,000 บาท นายไพรินทร์ไม่ได้ไปด้วย นายประสิทธิ์จะนำเงิน 3,000,000 บาท ไปให้ผู้ใดเป็นค่าอะไรนายไพรินทร์ไม่ทราบ และจำไม่ได้ว่า จะมีใครขึ้นไปบนสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทบ้างก็ตาม แต่นายไพรินทร์ก็เบิกความยอมรับว่า เคยให้การไว้ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนตามบันทึกคำให้การเอกสาร และขอยืนยันข้อเท็จจริงตามบันทึกคำให้การดังกล่าว การที่นายไพรินทร์มาเบิกความในภายหลังบ่ายเบี่ยงไปจากที่ตนเองเคยให้การไว้ก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานถึง 12 ปีเศษ ย่อมทำให้มีโอกาสเสริมแต่งข้อเท็จจริงขึ้นใหม่เพื่อช่วยเหลือจำเลยได้ จึงเชื่อว่าคำให้การของนายไพรินทร์ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา นอกจากนี้โจทก์ยังมีบันทึกคำให้การของนายไพฑูรย์ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งให้การสอดคล้องกับคำเบิกความของนายประสิทธิ์ในข้อสาระสำคัญที่ว่ามีการเดินทางไปที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท โดยนายประสิทธิ์เบิกถอนเงินแล้วนำไปให้จำเลยที่ห้องทำงาน โดยนายไพฑูรย์เป็นผู้ถือเงินขึ้นไปพร้อมกับนายประสิทธิ์ด้วย ส่วนที่แตกต่างกันไปบ้าง เช่น ภาชนะที่ใส่เงินเป็นถุงหรือกล่องกระดาษดังที่จำเลยฎีกา ก็เป็นเพียงรายละเอียดพลความไม่ทำให้คำเบิกความของนายประสิทธิ์ในข้ออื่นมีน้ำหนักลดน้อยลงแต่อย่างใด แม้คำให้การของนายไพฑูรย์เป็นพยานบอกเล่า แต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมพยานบอกเล่าเช่นว่านี้ย่อมพิสูจน์ความจริงได้ ทั้งได้ความว่านายไพฑูรย์ป่วยไม่อาจมาเบิกความได้ จึงมีเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนเป็นไปโดยไม่ชอบประการใด ดังนี้ ศาลย่อมรับฟังคำให้การของนายไพฑูรย์ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) (2) ประกอบมาตรา 227/1 และในประการสำคัญโจทก์ยังมีสำเนาใบแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดตาม อันเป็นหลักฐานสำคัญมาแสดงให้เห็นว่า ในวันเกิดเหตุมีการเบิกถอนเงินจากบัญชีเดินสะพัดธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาวิสุทธิ์กษัตริย์ บัญชีเลขที่ 025 – 3 – xxxxx ของนายประสิทธิ์ 3,000,000 บาท จริง ยิ่งสนับสนุนคำเบิกความของนายประสิทธิ์ให้มีน้ำหนักมากขึ้น พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกันมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า วันเกิดเหตุนายประสิทธิ์กับพวกไปเบิกถอนเงินจากบัญชีเดินสะพัดธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาวิสุทธิ์กษัตริย์ บัญชีเลขที่ 025 – 3 – xxxxx ของนายประสิทธิ์ 3,000,000 บาท แล้วนายประสิทธิ์นำเงินดังกล่าวไปให้จำเลยที่ห้องทำงานของจำเลย เพื่อเป็นค่าตอบแทนที่ช่วยเหลือให้นายประสิทธิ์ที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทขอนแก่นไม่ต้องถูกย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ที่จำเลยฎีกาว่า หากมีการจ่ายเงินจริง เหตุใดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 นายประสิทธิ์จึงถูกย้ายไปอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการเร่งรัดพัฒนาชนบทสกลนคร เห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีการตอบแทนนายประสิทธิ์โดยช่วยเหลือไม่ให้ต้องถูกย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่นนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานรับเงิน 3,000,000 บาท จากนายประสิทธิ์ในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือให้นายประสิทธิ์ไม่ต้องถูกย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แล้ว แม้ภายหลังจำเลยจะได้กระทำอย่างใดในตำแหน่งเพื่อช่วยเหลือนายประสิทธิ์หรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ขณะที่จำเลยรับเงินดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนต้องเรียกพยานบุคคลที่ทำงานอยู่หน้าห้องจำเลยมาไต่สวนว่ามีใครเห็นนายประสิทธิ์กับนายไพฑูรย์ไปที่ห้องทำงานของจำเลยบ้างแต่กลับไม่เรียกพยานบุคคลดังกล่าวมาไต่สวน ถือว่าเป็นการไต่สวนไม่ชอบ ทำให้จำเลยเสียเปรียบนั้น เห็นว่า การไต่สวนพยานเป็นดุลพินิจของคณะอนุกรรมการไต่สวนที่จะไต่สวนบุคคลใดเป็นพยานก็ได้ และหากเห็นว่าข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้วก็ไม่จำต้องเรียกพยานอื่นมาทำการไต่สวนอีก ดังนั้น การที่คณะอนุกรรมการไต่สวนไม่เรียกพยานบุคคลดังกล่าวมาไต่สวน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการไต่สวนไม่ชอบแต่อย่างใด สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลย แม้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share