คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8479/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ช. ได้เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนขยายผลจากการจับกุมจำเลยทั้งสอง โดยจัดกำลังเฝ้าสะกดรอยติดตาม น. ที่ใช้รถยนต์ หมายเลขทะเบียน บย 5560 เชียงราย จนมีการจับกุม ช. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด ในรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งข้อความที่จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึง ช. หรือ น. และไม่เป็นเหตุให้ทำการจับกุมตัว ช. ได้ โดยข้อมูลเกี่ยวกับ น. ได้ความจากพลตำรวจตรี ภ. เบิกความตอบโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 พยานรับแจ้งจากผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดว่า จะมีกลุ่มคนชนเผ่าม้ง เป็นกลุ่มของ น. ลักลอบลำเลียงยาเสพติดไปส่งให้ลูกค้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แสดงว่าเจ้าพนักงานตำรวจมีข้อมูลอยู่ก่อนแล้วว่า น. มีพฤติการณ์ลักลอบลำเลียงยาเสพติด จึงจัดกำลังเฝ้าสะกดรอยติดตามจนสามารถจับกุม ช. ได้ ทั้งยังได้ความจากพลตำรวจตรี ภ. เบิกความตอบโจทก์อีกว่า เกี่ยวกับคดีนี้ไม่สามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดคนอื่นในคดีนี้ได้อีก ฉะนั้นการที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นเพียงความเข้าใจของพยานโจทก์ทั้งสองเอง แต่ข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมายังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2550 จำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3125/2550 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ จำเลยที่ 2 พ้นโทษในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2553 ได้กลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) กึ่งหนึ่ง คงจำคุกตลอดชีวิต ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 นั้น เนื่องจากจำเลยที่ 2 ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้ ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบมาตรา 100/2 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต และปรับคนละ 5,000,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 25 ปี และปรับคนละ 2,500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกการจับกุมจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมทแอมเฟตามีนทั้งหมดตนรับมาจากชายไม่ทราบชื่อ ว่าจ้างให้นำไปมอบแก่ผู้รับที่บริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส สาขาตลาดแม่มาลัย จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดใส่ในรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค สีขาว ซึ่งเป็นของนางสาวนงลักษณ์ภรรยาของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่า ก่อนถูกจับกุมมีนายอะเบว่าจ้างให้ตนเองขับรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใดไปรับเมทแอมเฟตามีนที่ห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส สาขาตลาดแม่มาลัย และตามบันทึกการจับกุมนายชัชวาล ได้ระบุพฤติการณ์แห่งคดีไว้ว่า “สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมของกลางในคดีนี้ จากการสืบสวนขยายผลการจับกุม พบว่ากลุ่มของนางสาวนงลักษณ์ ภรรยาของจำเลยที่ 1 มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ เลขทะเบียน บย 5560 เชียงราย มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว จึงจัดกำลังเฝ้าสะกดรอยติดตาม… ต่อมาวันที่ 24 ธันวาคม 2555 เวลาประมาณ 5 นาฬิกา พบรถยนต์คันดังกล่าว ขับออกจากบ้านเลขที่ 411/140 หมู่ที่ 5 หมู่บ้านนันทธราธานี เขตอำเภอสันทราย… เข้าไปยังหมู่บ้านคนชนเผ่ากระเหรี่ยงและม้ง ที่ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่… เป็นพื้นที่ส่งมอบยาเสพติดของเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งเคยสะกดรอยติดตามมาแล้วจำนวน 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถจับกุมได้… ต่อมาอีกประมาณ 2 ชั่วโมง พบรถคันดังกล่าวขับออกมาจากหมู่บ้านมุ่งหน้าเข้าอำเภอเมืองเชียงใหม่อย่างรวดเร็ว… จนกระทั่งเวลาประมาณ 10 นาฬิกา สามารถสกัดรถคันดังกล่าวได้ที่บริเวณถนนสายเชียงใหม่ – ฮอด… พบคนขับชื่อนายชัชวาลมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของนางสาวนงลักษณ์… ผลการตรวจค้นภายในรถยนต์… มีเงินสดประมาณ 7,302,000 บาท… เมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด และมีกระดาษสีขาวเขียนข้อความว่า ของตัวอย่าง…” ดังนี้แสดงว่าการที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายชัชวาลได้เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนขยายผลจากการจับกุมจำเลยทั้งสอง โดยจัดกำลังเฝ้าสะกดรอยติดตามนางสาวนงลักษณ์ที่ใช้รถยนต์ หมายเลขทะเบียน บย 5560 เชียงราย จนมีการจับกุมนายชัชวาลได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน จำนวน 50 เม็ด ในรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งข้อความที่จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงนายชัชวาลหรือนางสาวนงลักษณ์และไม่เป็นเหตุให้ทำการจับกุมตัวนายชัชวาลได้ โดยข้อมูลเกี่ยวกับนางสาวนงลักษณ์ได้ความจากพลตำรวจตรี ภาณุเดชเบิกความตอบโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 พยานรับแจ้งจากผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดว่า จะมีกลุ่มคนชนเผ่าม้ง เป็นกลุ่มของนางสาวนงลักษณ์ลักลอบลำเลียงยาเสพติดไปส่งให้ลูกค้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แสดงว่าเจ้าพนักงานตำรวจมีข้อมูลอยู่ก่อนแล้วว่านางสาวนงลักษณ์มีพฤติการณ์ลักลอบลำเลียงยาเสพติด จึงจัดกำลังเฝ้าสะกดรอยติดตามจนสามารถจับกุมนายชัชวาลได้ ทั้งยังได้ความจากพลตำรวจตรี ภาณุเดชเบิกความตอบโจทก์อีกว่า เกี่ยวกับคดีนี้ไม่สามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดคนอื่นในคดีนี้ได้อีก ฉะนั้นการที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นเพียงความเข้าใจของพยานโจทก์ทั้งสองเอง แต่ข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมายังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ส่วนฎีกาของโจทก์ในปัญหาอื่นไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share