คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การชักชวนให้บุคคลทั่วไปหรืออย่างน้อยตั้งแต่สิบคนขึ้นไปมาทำการกู้ยืมเงินกันโดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน คือการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วๆไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่างๆ จึงไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราวๆไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองกับพวกแสดงข้อความหลอกลวงให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองกับพวกก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1 และ พ. หรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 12 ให้จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหาย แต่ละรายตามจำนวนที่ผู้เสียหายแต่ละรายถูกฉ้อโกงไปรวม 6,394,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินของผู้เสียหายแต่ละรายนับแต่วันที่ได้กู้ยืมเงินไปจนกว่าจะคืนเงินต้นเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง และ 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่งและ 12 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 14 กระทง เป็นจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 70 ปี แต่ความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี จึงให้จำคุกเพียงคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) กับให้จำเลยทั้งสองใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 121,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 396,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 2,448,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 674,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตาร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้เสียหายที่ 11 จำนวน 480,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้เสียหายที่ 12 จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้เสียหายที่ 13 จำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และผู้เสียหายที่ 14 จำนวน 550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 มกราคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายทั้งสิบสี่นำเงินมาลงทุนกับนางเดือนเพ็ญ จำเลยที่ 2 กับนางเดือนเพ็ญเป็นสามีภริยากันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ขณะเกิดเหตุอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้คือ อัตราร้อยละ 2.45 ต่อปี ตามประกาศเรื่องอัตราดอกเบี้ยตั๋วสัญญาใช้เงินครั้งที่ 5/2554 พันตำรวจโทสังวรพนักงานสอบสวนตรวจสอบบัญชีของผู้เสียหายที่ 4 และที่ 6 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แล้ว สรุปความเคลื่อนไหวทางบัญชีของจำเลยทั้งสอง จากการตรวจสอบไม่มีสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการตำรวจภูสิงห์หรือธุรกิจรับจำนำรถบริเวณตลาดช่องสะงำ หรือปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ต่อมาผู้เสียหายที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 13 และที่ 14 ทำบันทึกถอนคำร้องทุกข์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนหนึ่งที่ถูกนางเดือนเพ็ญพูดหลอกลวงให้นำเงินมาร่วมลงทุน ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และนางเดือนเพ็ญกระทำความผิด สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์มีผู้เสียหายที่ 8 ที่ 9 และที่ 11 เบิกความเป็นพยานได้ความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 พูดชักชวนผู้เสียหายทั้งสามร่วมลงทุนทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการตำรวจภูสิงห์ รับจำนำรถบริเวณตลาดช่องสะงำ หรือปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกับนางเดือนเพ็ญ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ส่วนผู้เสียหายที่ 7 เบิกความว่า นางเดือนเพ็ญมาที่โรงเรียนบ้านขะยูงและอธิบายเกี่ยวกับการลงทุนในลักษณะเดียวกัน จากนั้นผู้เสียหายที่ 7 โทรศัพท์ไปหานางเดือนเพ็ญ ผู้เสียหายทั้งสี่หลงเชื่อจำเลยที่ 1 กับนางเดือนเพ็ญ จึงมอบเงินให้จำเลยที่ 1 นำไปลงทุนกับนางเดือนเพ็ญหลายครั้ง และจำเลยที่ 1 นำผลประโยชน์ตอบแทนมาจ่ายให้ผู้เสียหายทั้งสี่ สำหรับผู้เสียหายที่ 14 เบิกความว่า ขณะผู้เสียหายที่ 14 ไปประชุมกลุ่มโรงเรียน พบจำเลยที่ 1 กับเพื่อนครูหลายคน ได้ยินกลุ่มเพื่อนครูพูดกันว่านำเงินไปลงทุนกับนางเดือนเพ็ญได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน นางเดือนเพ็ญมาที่โรงเรียนบ้านแก และชักชวนผู้เสียหายที่ 14 ทำธุรกิจรับจำนำรถบริเวณตลาดช่องสะงำ ผู้เสียหายที่ 14 ชวนจำเลยที่ 1 ไปเป็นเพื่อนเพื่อถอนเงินที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ แล้วนำเงินไปให้นางเดือนเพ็ญด้วยกัน และผู้เสียหายที่ 13 เบิกความว่า ขณะผู้เสียหายที่ 13 รับประทานอาหารกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 พูดเกี่ยวกับการนำเงินไปลงทุนกับนางเดือนเพ็ญ ที่ทำธุรกิจรับจำนำรถบริเวณตลาดช่องสะงำ และปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ผู้เสียหายที่ 13 ขอหมายเลขโทรศัพท์ของนางเดือนเพ็ญจากจำเลยที่ 1 เพื่อติดต่อลงทุน นางเดือนเพ็ญให้หมายเลขบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 สำหรับโอนเงินส่วนผลประโยชน์ตอบแทน จำเลยที่ 1 จะโอนเข้าบัญชีธนาคารให้ผู้เสียหายที่ 13 ต่อมานางเดือนเพ็ญไม่จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามกำหนดนัด จึงติดตามทวงถามแต่นางเดือนเพ็ญขอผัดผ่อน เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 และที่ 13 เบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ชักชวนให้มาร่วมลงทุนกับนางเดือนเพ็ญ โดยเสนอจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน และรับเงินจากผู้ร่วมลงทุนนำไปให้นางเดือนเพ็ญ โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ส่วนผู้เสียหายที่ 7 และที่ 14 ก็ยืนยันว่าฝากเงินให้จำเลยที่ 1 นำไปให้นางเดือนเพ็ญ เมื่อนางเดือนเพ็ญจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนได้โอนเงินจากบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 เข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 1 จากนั้น จำเลยที่ 1 จะนำเงินมาจ่ายให้ผู้เสียหายทั้งหก นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 14 ว่า เมื่อนางเดือนเพ็ญยืมเงิน 300,000 บาท จากผู้เสียหายที่ 14 โดยอ้างว่า จะนำเงินไปช่วยจำเลยที่ 2 เพื่อเลื่อนตำแหน่ง จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ซึ่งหากจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ร่วมลงทุนธรรมดาโดยถูกนางเดือนเพ็ญหลอกลวงแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีหน้าที่จะต้องลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันนางเดือนเพ็ญในจำนวนเงินที่สูงขนาดนั้นเพราะอาจจะต้องรับผิดชำระหนี้แทนหากนางเดือนเพ็ญไม่ชำระ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 เบิกความอ้างว่าห้ามผู้เสียหายที่ 14 ไม่ให้นางเดือนเพ็ญยืมเงินจำนวนดังกล่าวเพราะไม่มีงานทำ การที่จำเลยที่ 1 ยอมทำเช่นนั้นก็คงให้ความมั่นใจแก่ผู้เสียหายที่ 14 เพื่อผู้เสียหายที่ 14 จะได้นำเงินมาร่วมลงทุนมากขึ้น จึงเป็นการเกินเลยหน้าที่ของผู้ถูกหลอกลวงพึงกระทำ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งหกมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสอง ทั้งได้ความว่าผู้เสียหายทั้งหกเป็นเพื่อนจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ดังกล่าวจะเบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยทั้งสองให้ต้องรับโทษ เพราะแม้แต่ผู้เสียหายที่ 8 ที่ 9 และที่ 11 จะเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ชักชวนให้ร่วมลงทุน แต่ขณะเบิกความผู้เสียหายที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 13 และที่ 14 ก็ขอถอนคำร้องทุกข์จำเลยที่ 1 เหตุผลดังกล่าวมีน้ำหนักเชื่อได้ว่าผู้เสียหายทั้งหกเบิกความไปตามความจริง ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ถูกนางเดือนเพ็ญชักขวนให้ร่วมลงทุนและมิได้ชักชวนผู้เสียหายทั้งหกให้ร่วมลงทุน แม้จะมีนายไชยโรจน์และนายเพิ่มศักดิ์เบิกความสนับสนุนทำนองเดียวกันว่านางเกศกานต์ดาหรือชไมพรชักชวนจำเลยที่ 1 และพยานทั้งสองร่วมลงทุน จำเลยที่ 1 กับพยานทั้งสองจึงร่วมลงทุนกับนางเกศกานต์ดา หลังจากได้รับผลประโยชน์ตอบแทนประมาณ 2 เดือน นางเกศกานต์ดาพาจำเลยที่ 1 กับพยานไปดูธุรกิจรับจำนำรถที่อำเภอภูสิงห์และแนะนำให้รู้จักนางเดือนเพ็ญ โดยได้ความเพิ่มเติมจากคำเบิกความของนายไชยโรจน์ว่า นางเดือนเพ็ญบอกว่าจะโอนเงินผลประโยชน์ตอบแทนเข้าบัญชีธนาคารของพยาน แต่พยานจำหมายเลขบัญชีธนาคารไม่ได้จึงบอกให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 1 ก่อน จากนั้นให้จำเลยที่ 1 นำมาจ่ายพยานก็ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง เพราะได้ความจากคำเบิกความของนายไชยโรจน์และนายเพิ่มศักดิ์ทำนองเดียวกันว่า เมื่อไม่ได้เงินผลประโยชน์ตอบแทน พยานทั้งสองไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีนางเดือนเพ็ญ เนื่องจากร่วมลงทุนกับนางเกศกานต์ดา ต่อมานางเกศกานต์ดาทยอยจ่ายเงินให้นายไชยโรจน์จนครบถ้วน แต่นายเพิ่มศักดิ์ยังไม่ครบ กรณีดังกล่าวน่าจะรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 นายไชยโรจน์และนายเพิ่มศักดิ์ร่วมลงทุนกับนางเกศกานต์ดา ดังจะเห็นได้จากข้อความระบุในหนังสือมอบอำนาจ หามีน้ำหนักหักล้างให้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ทำนองเดียวกันว่านางเดือนเพ็ญชักชวนให้ผู้เสียหายทั้งสี่ลงทุนทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการตำรวจ ธุรกิจรับจำนำรถบริเวณตลาดช่องสะงำ หรืออ้างว่าขอกู้ยืมเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสอบเลื่อนตำแหน่งของจำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน นางเดือนเพ็ญให้หมายเลขบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ไว้สำหรับโอนเงินลงทุน กับบอกว่าจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการตำรวจ โดยได้ความเพิ่มเติมจากผู้เสียหายที่ 4 ว่า เคยไปสอบถามจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเงินที่นางเดือนเพ็ญยืมไป จำเลยที่ 2 บอกว่าจะติดตามนางเดือนเพ็ญและจะดูแลให้และยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 5 ทำนองเดียวกันว่านางกรรณิกาหรือจ๋าพานางเดือนเพ็ญมาแนะนำให้รู้จักพร้อมกับบอกว่าสามีของนางเดือนเพ็ญเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ นางเดือนเพ็ญขอกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 1 และที่ 5 อ้างว่านำไปลงทุนธุรกิจส่วนตัว ให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน โดยนางเดือนเพ็ญทำหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่กับผู้เสียหายที่ 1 พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 2 ให้ด้วย โดยได้ความเพิ่มเติมจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่า ขณะไปทวงเงินที่บ้านนางเดือนเพ็ญพบจำเลยที่ 2 จึงบอกเรื่องที่นางเดือนเพ็ญยืมเงินไป จำเลยที่ 2 บอกว่าไม่ทราบเรื่อง แต่ถามผู้เสียหายที่ 1 ว่า จะผ่อนให้เดือนละ 5,000 บาท ได้หรือไม่ กับได้ความต่อไปจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 10 และที่ 12 โดยผู้เสียหายที่ 10 เบิกความว่า ปลายปี 2555 ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นพี่ชักชวนให้ลงทุนกับนางเดือนเพ็ญ จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงิน 3,000 ถึง 5,000 บาท ต่อมานางเดือนเพ็ญชักชวนผู้เสียหายที่ 10 ลงทุนทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเดือนละ 5,000 บาท ผู้เสียหายที่ 10 โอนเงิน 30,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ตามที่นางเดือนเพ็ญให้มา หลังจากนั้น 2 วัน นางเดือนเพ็ญโอนเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้ 10,000 บาท พร้อมชักชวนลงทุนเพิ่ม ผู้เสียหายที่ 10 ลงทุนเพิ่มหลายครั้งและได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ต่อมาไม่ได้รับเงินต้นและผลประโยชน์ตอบแทน ส่วนผู้เสียหายที่ 12 เบิกความว่า ทราบจากผู้เสียหายที่ 4 ว่าลงทุนทำธุรกิจรับจำนำรถบริเวณตลาดช่องสะงำกับนางเดือนเพ็ญให้หมายเลขบัญชีของจำเลยที่ 2 สำหรับโอนเงิน ผู้เสียหายที่ 4 โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารดังกล่าวหลายครั้ง เห็นว่า แม้ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนที่นางเดือนเพ็ญชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบสี่ลงทุนทำธุรกิจด้วย แต่การที่จำเลยที่ 2 มอบบัตรฝากถอนเงินอัตโนมัติกับสมุดบัญชีธนาคารของตนให้นางเดือนเพ็ญ และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยอ้างว่าให้นางเดือนเพ็ญดูแลค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวนั้นเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ เพราะจำเลยที่ 2 กับนางเดือนเพ็ญอาศัยอยู่ด้วยกัน และจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ลงทุนเปิดร้านอาหารให้นางเดือนเพ็ญ มีค่าใช้จ่ายวันละ 2,000 ถึง 3,000 บาท ต้องแบ่งเงินเดือนเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่เกิดจากภริยาเก่าเดือนละ 4,000 ถึง 5,000 บาท ดำเนินชีวิตโดยอาศัยรายได้จากการขายอาหาร ทั้งมีรายได้ไม่แน่นอนเพราะจะต้องนำเงินไปหักชำระหนี้เงินกู้จากธนาคารและสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการตำรวจ แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีปัญหาทางด้านการเงิน จึงเป็นการผิดปกติวิสัยที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางบัญชี ประกอบกับผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 เบิกความยืนยันว่าพบจำเลยที่ 2 ที่บ้านขณะไปทวงเงินนางเดือนเพ็ญ โดยจำเลยที่ 2 ถามผู้เสียหายที่ 1 ว่า จะผ่อนให้เดือนละ 5,000 บาท ได้หรือไม่ กับบอกผู้เสียหายที่ 4 ว่าจะติดตามนางเดือนเพ็ญและจะดูแลให้ ซึ่งจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่าผู้เสียหายที่ 1 เคยมาสอบถามเรื่องนางเดือนเพ็ญยืมเงินไป 50,000 บาท ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ทราบถึงการกระทำของนางเดือนเพ็ญ การที่จำเลยที่ 2 มอบบัตรฝากถอนเงินอัตโนมัติกับสมุดบัญชีธนาคารของตนให้นางเดือนเพ็ญมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 รู้ว่าจะมีการนำไปใช้ในการกระทำความผิด ตามพฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องกับนางเดือนเพ็ญและจำเลยที่ 1 โดยวางแผนเป็นขั้นตอนเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดทางกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันทำ การที่จำเลยทั้งสองกับพวกชักชวนผู้เสียหายทั้งสิบสี่และบุคคลอื่นให้นำเงินมาลงทุน ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าไม่มีการประกอบกิจการจริง การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสี่และบุคคลทั่วไปไม่จำกัดว่าเป็นใคร อันเป็นการหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยเจตนาทุจริต ทำให้ผู้เสียหายทั้งสิบสี่หลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองกับพวกไป จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก และการกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3 และเป็นการชักชวนว่า ในการกู้ยืมเงินจำเลยทั้งสองกับพวกจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินที่พึงจ่ายได้ โดยจำเลยทั้งสองกับพวกรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสองกับพวกจะนำเงินจากผู้เสียหายทั้งสิบสี่หรือบุคคลอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบสี่ หรือโดยที่จำเลยทั้งสองกับพวกรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสองกับพวกไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาได้ และเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองกับพวกได้กู้ยืมเงินไป จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม มาตรา 4, 12 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกบทหนึ่ง
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การจะเป็นการหลอกลวงประชาชนต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าขณะที่ผู้กระทำความผิดไปพูดหลอกลวงจะต้องมีการประกาศโฆษณาให้บุคคลอื่นทั่ว ๆ ไปได้เข้าร่วมลงทุนหรือมีประชาชนทั่วไปอยู่บริเวณดังกล่าวและการหลอกลวงไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นคนใด ๆ แต่คดีนี้ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า ขณะนางเดือนเพ็ญไปขอยืมเงินกับผู้เสียหายทั้งหมด นางเดือนเพ็ญและจำเลยทั้งสองหรือคนใดคนหนึ่งประกาศโฆษณาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปมาลงทุน และไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นอยู่ร่วมด้วย เห็นว่า การชักชวนให้บุคคลทั่วไปหรืออย่างน้อยตั้งแต่สิบคนขึ้นไปมาทำการกู้ยืมเงินกันโดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน คือการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่ว ๆ ไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่าง ๆ จึงไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองกับพวกแสดงข้อความหลอกลวงให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองกับพวก ก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1 และนางเดือนเพ็ญหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบา เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 มีโทษตามพระราชกำหนดดังกล่าวมาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีรวม 14 กระทง เป็นกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินยี่สิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจลงโทษให้เบาลงอีกได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share