คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โจทก์ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนโดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 โจทก์ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เมื่อมี พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ.2544 และ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 475) พ.ศ.2551 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับภาษีจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจากอัตราปกติร้อยละ 30 คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อใช้สิทธิลดอัตราภาษีตาม พ.ร.ฎ.ทั้งสองฉบับดังกล่าว ต้องนำกำไรสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมารวมคำนวณด้วย การที่โจทก์นำกำไรสุทธิเฉพาะกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามอัตราภาษีที่ได้ลดลงเหลือร้อยละ 25 เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยไม่นำกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมารวมคำนวณด้วยจึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลย เลขที่ ภ.ง.ด. 73.1 – 02017470 – 25550404 – 002 – 0002 ถึง 0007 ลงวันที่ 4 เมษายน 2555 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ ภญ.(อธ.2)/015/2557 ฉบับลงวันที่ 4 กันยายน 2557 เสีย และพิพากษาว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดในเงินเพิ่ม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือของจำเลย เลขที่ ภ.ง.ด.73.1 – 02017470 – 25550404 – 002 – 0002 ถึง 0007 ลงวันที่ 4 เมษายน 2555 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ ภญ.(อธ.2)/015/2557 ฉบับลงวันที่ 4 กันยายน 2557 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2533 มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตและจำหน่ายส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับต่าง ๆ มีกิจการที่เปิดดำเนินการอยู่ 5 แห่ง สำหรับกิจการโรงงานที่ 4 และที่ 8 ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่จังหวัดนครราชสีมาและได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดแปดปี นับตั้งแต่วันที่มีรายได้จากการประกอบกิจการนั้นตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 หากพ้นกำหนดแปดปีแล้ว โจทก์ยังได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุนอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติมีกำหนดห้าปี นับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 โจทก์แยกบันทึกรายได้และรายจ่ายจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีโรงงานผลิตที่กรุงเทพมหานครอย่างชัดเจน รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปี 2547 โจทก์มีกำไรสุทธิสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 334,679,454.84 บาท และจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 88,367,180.76 บาท โจทก์ใช้สิทธิลดอัตราภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ.2544 โดยนำเฉพาะกำไรสุทธิส่วนที่เกิดจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 88,367,180.76 บาท มาคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 25 ส่วนกำไรสุทธิที่เกิดจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น โจทก์มิได้นำมารวมคำนวณภาษีโดยใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปี 2548 โจทก์มีกำไรสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 332,855,526.10 บาท และจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 140,881,318.94 บาท โจทก์นำเฉพาะกำไรสุทธิส่วนที่เกิดจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 140,881,318.94 บาท มาคำนวณภาษีโดยใช้อัตราร้อยละ 25 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ.2544 ส่วนกำไรสุทธิที่เกิดจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น โจทก์มิได้นำมารวมคำนวณภาษีโดยใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปี 2549 โจทก์มีกำไรสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 292,787,183.65 บาท และจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 119,967,784.37 บาท โจทก์นำเฉพาะกำไรสุทธิที่เกิดจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 119,967,784.37 บาท มาคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 25 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ.2544 ส่วนกำไรสุทธิที่เกิดจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น โจทก์มิได้นำมารวมคำนวณโดยใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปี 2551 โจทก์มีกำไรสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 333,393,106.93 บาท และจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 91,367,877.04 บาท โจทก์นำเฉพาะกำไรสุทธิส่วนที่เกิดจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 91,367,877.04 บาท มาคำนวณภาษีอัตราร้อยละ 25 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 475) พ.ศ.2551 ส่วนกำไรสุทธิที่เกิดจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น โจทก์มิได้นำมารวมคำนวณโดยใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปี 2552 โจทก์มีกำไรสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 385,695,613.60 บาท และจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 107,042,299.09 บาท โจทก์นำเฉพาะกำไรสุทธิที่เกิดจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 107,042,299.09 บาท มาคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 25 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 475) พ.ศ.2551 ส่วนกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น โจทก์มิได้นำมารวมคำนวณโดยใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว และรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปี 2553 โจทก์มีกำไรสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 261,676,291.14 บาท และจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 124,751,835.43 บาท โจทก์นำเฉพาะกำไรสุทธิส่วนที่เกิดจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 124,751,835.43 บาท มาคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 25 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 475) พ.ศ.2551 ส่วนกำไรสุทธิที่เกิดจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น โจทก์มิได้นำมารวมคำนวณโดยใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบตามรายการที่ยื่นเพื่อเสียภาษีอากรนั้นแล้ว เห็นว่า โจทก์ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ผลการประกอบการของทั้งสองกิจการมีกำไรสุทธิต้องนำกำไรสุทธิของทั้งสองกิจการรวมเป็นจำนวนเดียวกันเพื่อใช้สิทธิลดอัตราภาษีเหลือร้อยละ 25 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 475) พ.ศ.2551 โดยต้องเฉลี่ยกำไรสุทธิตามสัดส่วนของกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท ในอัตราภาษีร้อยละ 25 และเฉลี่ยตามสัดส่วนของกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300 ล้านบาท ในอัตราปกติ คืออัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า รอบระยะเวลาบัญชีพิพาทโจทก์ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ถูกต้อง เนื่องจากใช้สิทธิลดอัตราเหลือร้อยละ 25 เกินกว่ากำไรสุทธิ โดยใช้อัตราร้อยละ 25 เฉพาะกำไรสุทธิจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เป็นผลให้การชำระภาษีผิดพลาดคลาดเคลื่อนชำระภาษีต่ำไป เจ้าพนักงานประเมินจึงคำนวณภาษีเงินได้ใหม่ โดยนำกำไรสุทธิของทั้งสองกิจการรวมเป็นจำนวนเดียวกัน กำไรรวมส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท คิดภาษีอัตราร้อยละ 25 ส่วนที่เกิน 300 ล้านบาท คิดภาษีอัตราปกติร้อยละ 30 เจ้าพนักงานประเมินแจ้งภาษีและเงินเพิ่มแก่โจทก์ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 475) พ.ศ.2551 ต้องนำกำไรสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมารวมคำนวณด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร หมวด 3 ภาษีเงินได้ ส่วน 3 การเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้ คือ กำไรสุทธิที่คำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ตรี ตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร กำไรสุทธิต้องคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้ (2) (ก) ภาษีจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล อัตราร้อยละ 30 อันเป็นอัตราปกติที่ไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อลดอัตรา เห็นได้ว่าจะต้องมีการคำนวณหากำไรขาดทุนตามเงื่อนไขของมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี จึงได้จำนวนกำไรสุทธิ แล้วคำนวณเงินภาษีหรือมูลค่าของภาษีที่ต้องชำระตามอัตราภาษี เมื่อมีการออกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ.2544 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ สำหรับภาษีจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอัตราปกติร้อยละ 30 คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท เป็นเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ทั้งนี้เฉพาะบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับ ซึ่งพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 5 กันยายน 2544 และต่อมามีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 475) พ.ศ.2551 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับภาษีจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจากอัตราปกติร้อยละ 30 คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท สำหรับบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2551 ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลดอัตราภาษีเงินได้เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อจูงใจให้บริษัทนำหลักทรัพย์ที่ได้ออกไว้ไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นการพัฒนาตลาดทุนโดยรวม เมื่อพิเคราะห์ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ทั้งนี้ ให้พิจารณากำหนดเป็นสัดส่วนของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ซึ่งต้องมีกำหนดเวลาไม่เกินแปดปีนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น” เห็นได้ว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน หาใช่ยกเว้นไม่ต้องนำรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการดังกล่าวที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีมารวมคำนวณเพื่อใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด ดังนั้น บริษัทผู้ได้สิทธิประโยชน์ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ยังคงต้องคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามเงื่อนไขของประมวลรัษฎากรและยังคงต้องคำนวณจำนวนหรือมูลค่าภาษีเงินได้ที่จะได้สิทธิประโยชน์ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร อันหมายถึงการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิของผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งได้สิทธิและประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคลยังคงต้องเป็นไปตามประมวลรัษฎากร โจทก์ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีกำหนดเวลาแปดปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น โจทก์ต้องคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรและใช้อัตราภาษีตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนดเพื่อให้ได้จำนวนหรือมูลค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ใช้สิทธิประโยชน์ลดอัตราภาษีในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี การที่จำเลยออกประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2530 แม้ไม่มีบทกฎหมายใดให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ก็เป็นลักษณะเพื่อให้การคำนวณภาษีของกิจการดังกล่าวเป็นไปโดยถูกต้องและมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โดยหลักเกณฑ์การปันส่วนหรือการเฉลี่ยนั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่ยอมรับกันทั่วไปทางบัญชีในการบันทึกบัญชีรายได้หรือรายจ่ายในกรณีที่บริษัทประกอบกิจการหลายอย่าง ทั้งกรณีประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงกรณีได้รับการส่งเสริมการลงทุนหลายบัตรส่งเสริม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการวัดผลการดำเนินงานและการประเมินผล โดยเป็นหลักเกณฑ์ที่เป็นไปตามหลักแห่งการได้สัดส่วน มีความเป็นธรรมและเสมอภาค กรณีการใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากอัตราปกติร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท สำหรับบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ย่อมเป็นวิธีการที่เหมาะสมและเป็นธรรม หาใช่เป็นวิธีการที่ก่อให้เกิดผลร้ายแก่โจทก์ และหาใช่เป็นการทำลายหลักเกณฑ์ตามหมายเหตุของท้ายพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว ดังนั้น โจทก์นำกำไรสุทธิเฉพาะกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามอัตราภาษีที่ได้ลดลงเหลือร้อยละ 25 เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยไม่นำกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมารวมคำนวณ จึงไม่ถูกต้อง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มจากโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่าการประเมินภาษีรายพิพาทนั้น เจ้าพนักงานประเมินอาศัยอำนาจตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินตามรายการที่ยื่นเสียภาษีอากรนั้นโดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 18 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “การประเมินตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นำมาตรา 27 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” และตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติว่า “บุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้ เกี่ยวกับภาษีอากรประเมิน ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ” และวรรคสาม บัญญัติว่า “การคำนวณเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ หรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี… ไม่ว่าภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งนั้นจะเกิดจากการประเมินหรือคำสั่งของเจ้าพนักงาน หรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาของศาล” ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มจากโจทก์ ข้อนี้ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ

Share