คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมพิมพ์เป็นเล่มมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษขนาด เอ 4 แต่บางกว่า บนหัวกระดาษมีรูปเต่าพร้อมชื่อที่อยู่ของบริษัทพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม มุมขวาบนระบุเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน ซึ่ง 1 ฉบับมี 1 เลขที่ใบเสร็จ ประกอบด้วยกระดาษ 4 แผ่น ใบแรกเป็นสีขาว มีคำที่มุมขวาบนว่า ต้นฉบับ ซึ่งส่งมอบให้ลูกค้าที่ชำระเงิน ใบที่ 2 เป็นสีฟ้า มีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ส่งให้สำนักงานบัญชีตอนปลายเดือนเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบที่ 3 เป็นสีเหลืองที่มุมขวาบนมีคำว่า สำเนา ส่วนนี้เก็บไว้ในแฟ้มของลูกค้าแต่ละราย ใบสุดท้ายเป็นสีชมพูมีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนา ส่วนนี้ติดเล่มใบเสร็จรับเงินไว้กับต้นขั้ว เมื่อใช้ใบเสร็จรับเงินหมดทั้งเล่มแล้วฝ่ายบัญชีจะคืนเล่มใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปคืนกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินที่ยังใช้ไม่หมดเล่มจะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ในการนำเอกสารไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่งจะใช้ใบเสร็จรับเงินสีขาวเป็นต้นฉบับที่กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว โดยนำไปถ่ายเอกสารมาให้กรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนำไปประกอบเอกสารชุดโอน แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่ผู้เช่าซื้อราย ร. พ. จ. ส. ส. ก. ส. ม. ส. และ อ. ตามลำดับ รวม 10 รายนี้ โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่ ศ. ส. ธ. พ. ส. และ อ. ไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดต้นขั้วในเล่มใบเสร็จรับเงินที่ ก. กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้ และตามสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชีซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงฉบับที่ออกให้ ส. เลขที่ 4351 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ พ. ส. และ ส. ฉบับที่ออกให้ ธ. เลขที่ 4451 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ จ. และ ม. กับฉบับที่ออกให้ พ. เลขที่ 4501 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ ก. และ ส. จึงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกผู้เช่าซื้อทั้ง 10 ราย ซึ่งพบและถ่ายสำเนามาจากเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งเป็นเอกสารปลอมมาจากใบเสร็จรับเงินฉบับที่แท้จริงสีชมพูที่ติดอยู่ต้นขั้วในเล่มที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้โดยวิธีการถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับใบเสร็จรับเงินสีขาวที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความแล้วนำมากรอกข้อความแสดงการรับเงินจากลูกค้า โดยฉบับที่ออกให้ จ. ส. และ ก. ระบุจำนวนเงินน้อยกว่าที่คนเหล่านี้จ่ายให้ จากนั้นนำไปถ่ายสำเนาอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่สำนักงานขนส่ง เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทมีหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง และตามคำเบิกความของผู้เช่าซื้อในจำนวน 10 รายนั้น บางคนไปที่บริษัทโจทก์ร่วม ที่เต็นท์ขายรถ ที่ศาลแขวงชลบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา พบจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีแก่จำเลยที่ 1 หรือพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกให้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 บอกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้หรือจะได้รับสมุดคู่มือจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการปลอมใบเสร็จรับเงินและใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมเหล่านี้ประกอบเอกสารชุดโอนรถ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อออกใบเสร็จรับเงินรวมทั้งดูแลเล่มใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วม ในใบเสร็จรับเงินเอกสารปลอมเหล่านี้ล้วนมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจและช่องฝ่ายบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของตนจริง โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนส่งใบเสร็จรับเงินเหล่านี้มาให้ตนเขียนกรอกข้อความบอกว่าจะเอาไปแนบประกอบเอกสารชุดโอนปิดบัญชีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ลูกค้า จำเลยที่ 2 รู้ว่าใบเสร็จรับเงินในเล่มที่ตนเก็บรักษาดูแลไว้เป็นของที่แท้จริงของโจทก์ร่วมมีเลขที่ใบเสร็จรับเงินในแต่ละเลขที่ 1 เลขที่ซึ่งมีจำนวน 4 แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นฉบับอีก 3 แผ่นเป็นสำเนา การออกใบเสร็จรับเงินต้องออกเรียงตามลำดับเลขที่พร้อมใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ยอมกรอกข้อความลงในแบบใบเสร็จรับเงินที่ถ่ายสำเนามาทั้งที่รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเป็นอย่างไร ใบเสร็จรับเงินที่ตนจะออกต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่ตนดูแลเก็บรักษาและใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ออกใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเอกสารถ่ายสำเนาไม่ใช่ของบริษัททั้งที่จำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเลขที่เดียวกันนั้นตนได้ออกให้ลูกค้าคนอื่นไปแล้วจำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาร่วมปลอมใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นด้วย อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเอกสารชุดโอนไปจดทะเบียนแม้จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะใช้ในการโอนรถ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนั้นในการใช้ใบเสร็จรับเงินปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมใช้เอกสารปลอมด้วย
แม้จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี มีหน้าที่รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าผู้เช่าซื้อรถของโจทก์ร่วม และลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีของใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมในการปิดบัญชีเพื่อใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่จำเลยที่ 1 ใช้ทั้ง 10 รายดังกล่าว และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมี ส. จ. ส. ส. และ อ. เบิกความว่า นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเพื่อปิดบัญชีที่บริษัทโจทก์ร่วมพบพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีหรือเจ้าหน้าที่การเงินจึงส่งมอบเงินนั้นให้ไปแล้วพนักงานหญิงนั้นออกใบเสร็จรับเงินให้พยาน แต่ในทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงได้ความจากกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินนั้นมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ในตอนเย็นทุกวันเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งให้กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทุกวัน ซึ่งทางปฏิบัติการทำงานเป็นเช่นนี้โจทก์และโจทก์ร่วมจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นของตนโดยมิได้นำส่งกรรมการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงตามที่วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าทั้ง 10 ราย นำมาปิดบัญชี แต่จะรับฟังโดยสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ถึงขนาดว่าเป็นการแบ่งงานกันทำกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และไม่เป็นพยานแวดล้อมกรณีอย่างหนึ่งที่จะนำมารับฟังประกอบกันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะการรับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 188, 264, 268, 334, 335, 352 และขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3591/2555 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4094/2555 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4404/2555 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7107/2555 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 739/2556 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 742/2556 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 508,296 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 189,344 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทฮาชิลีสซิ่ง จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 188, 335 (11) วรรคแรก จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก แต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง ความผิดสำหรับจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันยักยอก ฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามฟ้องข้อ 1.1 ข้อ 1.3 ข้อ 1.4 ข้อ 1.6 ข้อ 1.7 ข้อ 1.9 ข้อ 1.10 ข้อ 1.12 ข้อ 1.13 ข้อ 1.15 ข้อ 1.16 ข้อ 1.18 ข้อ 1.19 ข้อ 1.21 ข้อ 1.22 ข้อ 1.24 ข้อ 1.25 ข้อ 1.27 ข้อ 1.28 และข้อ 1.30 และความผิดสำหรับจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันยักยอกกับฐานร่วมกันปลอมเอกสารเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งแต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารปลอม และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างกับฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสาร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอมรวม 10 ครั้ง ฐานยักยอกตามฟ้องข้อ 1.31 ข้อ 1.32 และข้อ 1.33 รวม 3 ครั้ง ฐานลักทรัพย์ (สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์) ที่เป็นของนายจ้าง รวม 11 ครั้ง ฐานลักทรัพย์ (รถยนต์) ที่เป็นของนายจ้างตามฟ้องข้อ 1.34 จำนวน 1 ครั้ง จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันยักยอกและร่วมกันปลอมเอกสาร รวม 10 ครั้ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารปลอม 10 กระทง จำคุกกระทงละ 8 เดือน ฐานยักยอกตามฟ้องข้อ 1.31 ข้อ 1.32 และข้อ 1.33 จำคุกกระทงละ 8 เดือน ฐานลักทรัพย์ (สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์) ที่เป็นของนายจ้าง 11 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี ฐานลักทรัพย์ (รถยนต์) ที่เป็นของนายจ้าง ตามฟ้องข้อ 1.34 จำคุก 3 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 14 ปี 110 เดือน ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันปลอมเอกสาร 10 กระทง จำคุกกระทงละ 8 เดือน รวมจำคุก 80 เดือน คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 และทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กระทงละกึ่งหนึ่ง ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 55 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 52 เดือน 40 วัน นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3591/2555 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4094/2555 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4404/2555 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7107/2555 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 739/2556 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 742/2556 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 468,676 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือชดใช้เงินอีกจำนวน 228,964 บาท แก่โจทก์ร่วม ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เฉพาะในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ส่วนความผิดตามฟ้อง ข้อ 1.1 ข้อ 1.4 ข้อ 1.7 ข้อ 1.10 ข้อ 1.13 ข้อ 1.16 ข้อ 1.19 ข้อ 1.22 ข้อ 1.25 และข้อ 1.28 คงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานยักยอก รวม 10 กระทง โดยกำหนดโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2กับให้นับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาทั้ง 6 สำนวนดังกล่าว รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด 20 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในชั้นฎีกาว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์รับจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมโดยจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไป มีหน้าที่หาลูกค้า จัดทำสัญญาเช่าซื้อ เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำสมุดรายการส่งเงินและนำส่งเงินค่าเช่าซื้อและเงินค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ให้โจทก์ร่วมทุกตอนเย็นของวันเดียวกัน จัดทำรายงานการส่งเงินประจำเดือน จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ทำงานตำแหน่งธุรการและบัญชี มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อ ออกใบเสร็จรับเงิน รวบรวมเงินนำส่งจำเลยที่ 1 เพื่อส่งมอบแก่กรรมการของโจทก์ร่วมทุกตอนเย็นเป็นรายวัน สำหรับความผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานลักทรัพย์สมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้าง ฐานยักยอกเงินของโจทก์ร่วม และฐานลักรถยนต์ 1 คัน ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง คงมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารใบเสร็จรับเงินปลอม ตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานยักยอกเงินกับจำเลยที่ 1 ตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมหรือไม่ สำหรับปัญหาแรกโจทก์และโจทก์ร่วมมีนางสาวกิตติวรรณ กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเบิกความสรุปได้ว่า นายไกรฤกษ์และนางจิตติมา กรรมการอีกสองคนของโจทก์ร่วมสงสัยว่าจะมีการทุจริตในบริษัทโจทก์ร่วม จึงให้พยานเข้ามาทำงานที่บริษัทโจทก์ร่วม พยานตรวจสอบโดยละเอียดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 เกี่ยวกับรถยนต์ 13 คัน พบว่า สิบตรี รัชพล ซึ่งทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน กม 460 ชลบุรี ตามฟ้องข้อ 1.3 ค้างชำระค่าเช่าซื้อหลายงวด เมื่อค้างชำระงวดที่ 24 โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปยึดรถคืน แต่ยึดคืนไม่ได้ สอบถามจำเลยที่ 1 บอกว่าลูกค้ารายนี้ไม่ได้ส่งค่างวดค่าเช่าซื้อจริง แต่ยึดรถคืนไม่ได้เพราะเอารถหนี พยานจึงนับจำนวนคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ พบว่าคู่มือจดทะเบียนของรถคันนี้หายไป จึงมอบให้พนักงานของโจทก์ร่วมไปคัดสำเนาคู่มือนี้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดชลบุรี ได้ทราบว่ารถถูกจดทะเบียนโอนให้สิบตรี รัชพลไปแล้วเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 จึงมอบให้ไปคัดสำเนาเอกสารชุดโอนปิดบัญชีของรถยนต์ที่สำนักงานขนส่งดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยแบบคำขอโอนและรับโอน หนังสือมอบอำนาจของกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม หนังสือยืนยันการชำระค่าเช่าซื้อครบตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งเป็นต้นฉบับ สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการ หนังสือรับรองของบริษัทที่กรรมการลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ร่วม นอกจากนี้ยังมีสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนของลูกค้า สำเนาสัญญาเช่าซื้อ สำเนาใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายที่มีการปิดบัญชี ซึ่งกรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ร่วม พบว่าลายมือชื่อของนายไกรฤกษ์ กรรมการในเอกสารชุดโอนไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของนายไกรฤกษ์ สำเนาใบเสร็จรับเงินดังกล่าวมีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจและในช่องฝ่ายบัญชี จากนั้นพยานไปตรวจสอบในการ์ดติดตามลูกค้า พบว่าไม่มีระบุว่าสิบตรี รัชพลจ่ายเงิน 53,030 บาท เพื่อปิดบัญชีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 ดังระบุในใบเสร็จรับเงิน เมื่อตรวจสอบในรายงานการส่งเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องทำส่งกรรมการทุกเดือน ก็ไม่พบว่ายอดเงินจำนวนนี้นำส่งเข้ามาบริษัทโจทก์ร่วม และตรวจดูแฟ้มลูกค้ารายนี้ไม่พบสำเนาใบเสร็จรับเงินสีเหลืองเลขที่ 3992 พยานขอดูสำเนาใบเสร็จรับเงินสีชมพูเลขที่ 3992 ซึ่งอยู่ที่กรรมการ พบว่าใบเสร็จรับเงินเลขที่นี้โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่นางศิริพร ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงิน ซึ่งตรงกับสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชี และตรงกับรายงานภาษีขาย ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดทำส่งให้สำนักงานบัญชีทุกปลายเดือน นอกจากนี้พยานเรียกนายสมโภชน์ พนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ดูแลการ์ดติดตามลูกค้ามาสอบถาม นายสมโภชน์บอกว่าไม่รู้เรื่องสิบตรี รัชพลจ่ายเงินจำนวนนั้นมาก่อน จำเลยที่ 1 บอกไม่ให้ติดตามลูกค้ารายนี้แล้ว ทั้งเมื่อพยานโทรศัพท์สอบถามสิบตรี รัชพลบอกว่านำเงินจำนวนนี้มาที่บริษัทส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 2 รับไว้ และจำเลยที่ 1 บอกไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะโอนรถให้ ส่วนลูกค้ารายนายไพฑูรย์ ซึ่งทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน บท 6387 ฉะเชิงเทรา ตามฟ้องข้อ 1.6 นายจีราวุทธิ์ ซึ่งทำสัญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน กค 3206 ฉะเชิงเทรา ตามฟ้องข้อ 1.9 นางสุภาพร ซึ่งทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน บฉ 3191 ฉะเชิงเทรา ตามฟ้องข้อ 1.12 นายสมศักดิ์ ซึ่งทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน กค 1279 ฉะเชิงเทรา ตามฟ้องข้อ 1.15 นางกุหลาบ ซึ่งทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน บฉ 2781 ฉะเชิงเทรา ตามฟ้องข้อ 1.18 นางสุพักพริ้ง ซึ่งทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน บต 1310 ฉะเชิงเทรา ตามฟ้องข้อ 1.21 นายมนตรี ซึ่งทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน กข 2823 ฉะเชิงเทรา ตามฟ้องข้อ 1.24 นายสุรพงษ์ ซึ่งทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน บง 3687 ฉะเชิงเทรา ตามฟ้องข้อ 1.27 และรายนายอวด ซึ่งทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน กง 2307 ชลบุรี ตามฟ้องข้อ 1.30 พยานก็เบิกความถึงข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์การกระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารใบเสร็จรับเงินปลอมในทำนองเดียวกับรายของสิบตรี รัชพล โดยรายนายไพฑูรย์พบใบเสร็จรับเงินเลขที่4351 อยู่ในเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งจังหวัดฉะเชิงเทรา ระบุว่านายไพฑูรย์ชำระปิดบัญชีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชี แต่สำเนาใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดอยู่กับเล่มใบเสร็จรับเงินที่กรรมการเก็บไว้ ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินสีชมพูเลขที่ 4351 ได้ออกให้นายสุริยันต์ ไปเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 รายนายจีราวุทธิ์ พบใบเสร็จรับเงินเลขที่ 4451 คล้ายใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมที่ออกให้นายจีราวุทธิ์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ระบุว่าจ่ายค่าเช่าซื้อเป็นการปิดบัญชี 39,510 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชี แต่ในสำเนาใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดอยู่ในเล่มใบเสร็จรับเงินที่กรรมการเก็บไว้ปรากฏว่าเลขที่ 4451 นี้ โจทก์ร่วมได้ออกให้นายธีระพงษ์ ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีเช่นกัน ต่อมาพยานโทรศัพท์สอบถามนายจีราวุทธิ์บอกว่านำเงินจำนวน 46,510 บาท ไปชำระให้จำเลยที่ 2 ที่บริษัทโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 ออกใบเสร็จรับเงินสีเขียวซึ่งไม่เคยได้รับมาก่อนและไม่ใช่ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมมาให้นายจีราวุทธิ์ รายนางสุภาพร พบใบเสร็จรับเงินมีลักษณะคล้ายใบเสร็จรับเงินเลขที่ 4351 ระบุว่านางสุภาพรชำระเงินแก่โจทก์ร่วมงวดสุดท้ายเป็นการปิดบัญชีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2551 จำนวน 3,770 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชี แต่ใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งอยู่ในเล่มใบเสร็จรับเงินที่กรรมการเก็บไว้ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ออกให้นายสุริยันต์ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 พยานโทรศัพท์สอบถามนางสุภาพรบอกว่าชำระงวดสุดท้ายที่บริษัท จำนวน 7,540 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงิน และจำเลยที่ 1 บอกว่าอีกสัปดาห์หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้ รายนายสมศักดิ์ พบใบเสร็จรับเงินเลขที่ 4351 ชำระเงินค่าเช่าซื้อ จำนวน 50,000 บาท เป็นการปิดบัญชีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินในช่องฝ่ายบัญชี แต่ในสำเนาใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งอยู่ในเล่มที่กรรมการเก็บไว้ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ออกใบเสร็จรับเงินเลขที่ 4351 ให้นายสุริยันต์ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินในช่องฝ่ายบัญชี รายนางกุหลาบ พบใบเสร็จรับเงิน เลขที่ 4501 ซึ่งมีลักษณะคล้ายใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมระบุว่านางกุหลาบชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ร่วมเป็นการปิดบัญชีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินในช่องฝ่ายบัญชี แต่ในใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งอยู่ในเล่มใบเสร็จรับเงินที่กรรมการเก็บไว้ ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินเลขที่ 4501 โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่นางสาวเพ็ญพัก ไปแล้วเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชี ต่อมาพยานโทรศัพท์หานางกุหลาบบอกว่าได้นำเงินไปชำระปิดบัญชีโดยมอบแก่จำเลยที่ 1 ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา รายนางสุพักพริ้งพบใบเสร็จรับเงินเลขที่ 4553 ระบุว่านางสุพักพริ้งชำระค่าเช่าซื้อเป็นการปิดบัญชีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2551 แต่ในใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งอยู่ในเล่มใบเสร็จรับเงินที่กรรมการเก็บไว้ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ออกใบเสร็จรับเงินเลขที่ 4553 ให้แก่นายเสงี่ยม ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 โดยมีนายพิพัฒน์พนักงานการเงินฝ่ายบัญชีที่มาแทนจำเลยที่ 2 หลังจากจำเลยที่ 2 ออกจากบริษัทโจทก์ร่วมไปแล้วเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชี ต่อมาพยานโทรศัพท์ไปหานางสุพักพริ้งบอกว่าได้นำเงินมาชำระปิดบัญชีที่บริษัทโดยมอบเงินให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 บอกว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะโอนกรรมสิทธิ์รถและมอบคู่มือจดทะเบียนรถให้ รายนายมนตรีพบใบเสร็จรับเงินเลขที่ 4451 ระบุว่านายมนตรีชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายเป็นการปิดบัญชีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินในช่องฝ่ายบัญชี แต่ในใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งอยู่ติดเล่มใบเสร็จรับเงินที่กรรมการเก็บไว้ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ออกใบเสร็จรับเงินเลขที่ 4451 ให้แก่นายธีระพงษ์ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชี ต่อมาพยานโทรศัพท์ถามนายมนตรีบอกว่าได้จ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วที่ศาลแขวงชลบุรี รายนายสุรพงษ์ พบใบเสร็จรับเงิน เลขที่ 4501 ระบุว่านายสุรพงษ์ชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายเป็นการปิดบัญชีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2551 โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินในช่องฝ่ายบัญชี แต่ในใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งอยู่ในเล่มใบเสร็จรับเงินที่กรรมการเก็บไว้ปรากฏว่า โจทก์ร่วมได้ออกใบเสร็จรับเงินเลขที่ 4501 ให้นางสาวเพ็ญพัก ไปแล้วเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชี ต่อมาพยานโจทก์สอบถามนายสุรพงษ์บอกว่าขายรถที่เช่าซื้อให้เพื่อนโดยไม่บอกโจทก์ร่วม และเพื่อนนำเงินไปชำระที่บริษัทโจทก์ร่วมให้พนักงานการเงินซึ่งเป็นผู้หญิง ในเวลานั้นจำเลยที่ 2 ซึ่งทำงานเป็นพนักงานการเงินของโจทก์ร่วมอยู่ และรายนายอวดพบใบเสร็จรับเงินเลขที่ 4009 อยู่ในเอกสารชุดโอนรถที่ถ่ายสำเนามา ระบุว่านายอวดชำระเงินค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายเป็นการปิดบัญชีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินในช่องฝ่ายบัญชี แต่ในใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งอยู่ในเล่มใบเสร็จรับเงินที่กรรมการเก็บไว้ ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ออกใบเสร็จรับเงินเลขที่ 4009 ให้แก่นางสาวอรวรรณ ไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 (มีบุคคลอื่นลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินในช่องฝ่ายบัญชี) ภายหลังทราบจากพนักงานสอบสวนว่านายอวดได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนว่านำเงินไปชำระที่บริษัทโจทก์ร่วมโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงิน จำเลยที่ 1 บอกนายอวดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะโอนกรรมสิทธิ์รถให้ ทั้งนี้โดยโจทก์และโจทก์ร่วมมีสิบตรี รัชพล นายไพฑูรย์ นายจีราวุทธิ์ นางสุภาพร นางมานี ซึ่งเป็นภริยาของนายสมศักดิ์ นางกุหลาบ นางสุพักพริ้ง นายมนตรี นายสุรพงษ์ และนายอวดซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรถมาเบิกความสนับสนุนข้อเท็จจริงดังกล่าว พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จากคำเบิกความของนางสาวกิตติวรรณ พยานโจทก์และโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมพิมพ์เป็นเล่ม มีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษขนาด เอ 4 แต่บางกว่า บนหัวกระดาษมีรูปเต่าพร้อมชื่อที่อยู่ของบริษัทพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม มุมขวาบนระบุเลขที่ของใบเสร็จรับเงินซึ่ง 1 ฉบับมี 1 เลขที่ใบเสร็จ ประกอบด้วยกระดาษ 4 แผ่น ตามตัวอย่างใบเสร็จรับเงิน ใบแรกเป็นสีขาว มีคำที่มุมขวาบนว่า ต้นฉบับ ซึ่งส่งมอบให้ลูกค้าที่ชำระเงิน ใบที่ 2 เป็นสีฟ้า มีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ส่งให้สำนักงานบัญชีตอนปลายเดือนเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบที่ 3 เป็นสีเหลืองที่มุมขวาบนมีคำว่า สำเนาส่วนนี้เก็บไว้ในแฟ้มของลูกค้าแต่ละราย ใบสุดท้ายเป็นสีชมพูมีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ติดเล่มใบเสร็จรับเงินไว้กับต้นขั้ว เมื่อใช้ใบเสร็จรับเงินหมดทั้งเล่มแล้วฝ่ายบัญชีจะคืนเล่มใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปคืนกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินที่ยังใช้ไม่หมดเล่มจะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ในการนำเอกสารไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่งจะใช้ใบเสร็จรับเงินสีขาวเป็นต้นฉบับที่กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว โดยนำไปถ่ายเอกสารมาให้กรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนำไปประกอบเอกสารชุดโอน แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่ผู้เช่าซื้อรถรายสิบตรี รัชพล นายไพฑูรย์ นายจีราวุทธิ์ นางสุภาพร นายสมศักดิ์ นางกุหลาบ นางสุพักพริ้ง นายมนตรี นายสุรพงษ์ และนายอวด ตามลำดับ รวม 10 ราย นี้โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่นางศิริพร นายสุริยันต์ นายธีระพงษ์ นางสาวเพ็ญพัก นายเสงี่ยม และนางสาวอรวรรณ ไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดต้นขั้วในเล่มใบเสร็จรับเงินที่นายไกรฤกษ์ กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้ และตามสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชี ซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงฉบับที่ออกให้นายสุริยันต์ เลขที่ 4351 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่นายไพฑูรย์ นางสุภาพรและนายสมศักดิ์ ฉบับที่ออกให้นายธีระพงษ์ เลขที่ 4451 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่นายจีราวุทธิ์และนายมนตรี กับฉบับที่ออกให้นางสาวเพ็ญพัก เลขที่ 4501 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่นางกุหลาบและนายสุรพงษ์ จึงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกแก่ผู้เช่าซื้อทั้ง 10 ราย ซึ่งพบและถ่ายสำเนามาจากเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งเป็นเอกสารปลอมมาจากใบเสร็จรับเงินฉบับที่แท้จริงสีชมพูที่ติดอยู่ต้นขั้วในเล่มที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้โดยวิธีการถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับใบเสร็จรับเงินสีขาวที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความ แล้วนำมากรอกข้อความแสดงการรับเงินจากลูกค้า โดยฉบับที่ออกให้นายจีราวุทธิ์ นางสุภาพรและนางกุหลาบระบุจำนวนเงินน้อยกว่าที่คนเหล่านี้จ่ายให้ จากนั้นนำไปถ่ายสำเนาเอกสารอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่สำนักงานขนส่ง ดังที่นางสาวกิตติวรรณ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความ เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัท มีหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง และตามคำเบิกความของผู้เช่าซื้อในจำนวน 10 รายนั้น บางคนไปที่บริษัทโจทก์ร่วมบ้าง ที่เต็นท์ขายรถ ที่ศาลแขวงชลบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา พบจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีแก่จำเลยที่ 1 หรือพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกให้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 บอกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้หรือจะได้รับสมุดคู่มือจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการปลอมใบเสร็จรับเงิน และใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมเหล่านี้ประกอบเอกสารชุดโอนรถ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารที่ตนเองปลอม ตามที่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ซึ่งต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง
ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารใบเสร็จรับเงินเหล่านี้ด้วยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อออกใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งดูแลเล่มใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วม ในใบเสร็จรับเงินเอกสารปลอมเหล่านี้ล้วนมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจ และช่องฝ่ายบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของตนจริง โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนส่งใบเสร็จรับเงินเหล่านี้มาให้ตนเขียนกรอกข้อความ บอกว่าจะเอาไปแนบประกอบเอกสารชุดโอนปิดบัญชีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ลูกค้า จำเลยที่ 2 รู้ว่าใบเสร็จรับเงินในเล่มที่ตนเก็บรักษาดูแลไว้เป็นของที่แท้จริงของโจทก์ร่วม มีเลขที่ใบเสร็จรับเงินในแต่ละเลขที่ 1 เลขที่ซึ่งมีจำนวน 4 แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นฉบับอีก 3 แผ่นเป็นสำเนา การออกใบเสร็จรับเงินต้องออกเรียงตามลำดับเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ยอมกรอกข้อความลงในแบบใบเสร็จรับเงินที่ถ่ายสำเนามาทั้งที่รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเป็นอย่างไร ใบเสร็จรับเงินที่ตนจะออกต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่ตนดูแลเก็บรักษาและใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ออกใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเอกสารถ่ายสำเนาไม่ใช่ของบริษัท ทั้งที่จำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเลขที่เดียวกันนั้น ตนได้ออกให้ลูกค้าคนอื่นไปแล้ว (เว้นแต่ใบเสร็จรับเงินที่มีลายมือชื่อบุคคลอื่นลงในช่องฝ่ายบัญชี แต่อย่างไรก็ดี จำเลยที่ 2 ก็ยังรู้อยู่ดีว่าใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารสำเนานั้นไม่ใช่ใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม) จำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาร่วมปลอมใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นด้วย อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเอกสารชุดโอนไปจดทะเบียนแม้จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะใช้ในการโอนรถ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนั้นในการใช้ใบเสร็จรับเงินปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมใช้เอกสารปลอมด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 2 ออกให้ลูกค้าตามฟ้องเป็นสำเนาที่ถ่ายเอกสารจากแบบพิมพ์ใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงซึ่งยังมิได้มีการกรอกข้อความใด ๆ เป็นเพียงสำเนาแบบพิมพ์ที่จำเลยที่ 2 กรอกข้อความทำเอกสารขึ้นมาในนามของจำเลยที่ 2 เอง มิใช่เป็นเอกสารของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นผู้ทำขึ้น แม้ข้อความในเอกสารนั้นจะไม่เป็นจริงก็ตาม ก็เป็นเพียงเอกสารเท็จ ไม่เป็นการทำเอกสารปลอมเพราะการทำเอกสารปลอมต้องเป็นการทำเอกสารขึ้นใหม่เพื่อแสดงให้เห็นว่า เป็นเอกสารที่ผู้อื่นทำขึ้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและการที่จำเลยที่ 1 นำเอกสารนั้นไปใช้ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 2 กรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีนั้นเป็นเพียงสำเนาภาพถ่ายจากต้นฉบับแบบพิมพ์ใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความ นำมากรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีเพื่อแสดงว่าใบเสร็จรับเงินเลขที่นั้นยังไม่ได้ใช้เก็บเงินมาก่อน ทั้งที่ใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเลขที่นั้นได้ใช้ออกเพื่อแสดงการรับเงินให้แก่บุคคลอื่นไป กรณีไม่ใช่การที่จำเลยที่ 2 นำใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมซึ่งใช้งานอยู่มากรอกข้อความที่ไม่ตรงความจริง ซึ่งเป็นเอกสารจริงแต่ข้อความในเอกสารเป็นเท็จ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำขณะอยู่ภายใต้คำสั่งและการบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงสมควรลงโทษในลักษณะที่เบากว่าจำเลยที่ 1
ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานยักยอกเงินของโจทก์ร่วมนี้กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี มีหน้าที่รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าผู้เช่าซื้อรถของโจทก์ร่วม และลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีของใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมในการปิดบัญชีเพื่อใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่จำเลยที่ 1 ใช้ทั้ง 10 ราย ดังกล่าว และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมีสิบตรี รัชพล นายจีราวุทธิ์ นางสุภาพร นางสุพักพริ้ง และนายอวด เบิกความว่า นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเพื่อปิดบัญชีที่บริษัทโจทก์ร่วม พบพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีหรือเจ้าหน้าที่การเงินจึงส่งมอบเงินนั้นให้ไป แล้วพนักงานหญิงนั้นออกใบเสร็จรับเงินให้พยาน แต่ในทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงได้ความจากนายไกรฤกษ์และนางสาวกิตติวรรณซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินนั้นมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ในตอนเย็นของทุกวันเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งให้กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทุกวัน ซึ่งทางปฏิบัติของการทำงานเป็นเช่นนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นของตนโดยมิได้นำส่งกรรมการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงตามที่วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าทั้ง 10 รายนำมาปิดบัญชีแต่จะรับฟังโดยสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ถึงขนาดว่าเป็นการแบ่งงานกันทำกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และไม่เป็นพยานแวดล้อมกรณีอย่างหนึ่งที่จะนำมารับฟังประกอบกันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะการรับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 นอกจากนี้แม้จะได้ความจากนางสาวกิตติวรรณว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาน้อยของจำเลยที่ 1 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิงศศิภา ซี่งจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับแต่ก็ไม่อาจนำไปรับฟังเป็นพยานแวดล้อมกรณีลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมยักยอกเงินของโจทก์ร่วมได้ เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมไม่นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าจำเลยที่ 2 ยักยอกหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอก หรือปลอมใบเสร็จรับเงินเพื่อประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าเช่าซื้อของโจทก์ร่วม ก็ไม่อาจรับฟังและเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วมตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 264 และให้ใช้อัตราโทษใหม่ แต่กฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารใบเสร็จรับเงินของผู้เช่าซื้อ 10 ราย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้เอกสารที่ตนร่วมปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ด้วย จึงให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก แต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง การกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท กับฐานยักยอก 10 กระทง ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารที่ตนร่วมปลอมขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 10 กระทง จำคุก 80 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 40 เดือน เมื่อรวมโทษจำคุกซึ่งลดโทษแล้วของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมจำคุก 11 ปี 7 เดือน แต่เมื่อนับโทษต่อกับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาทั้ง 6 สำนวน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารกระทงละ 3 เดือน จำเลยที่ 2 นำสืบรับว่าลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมเหล่านั้นจริงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม รวม 10 กระทง จำคุก 1 ปี 8 เดือน ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมคืนหรือชดใช้เงินกับจำเลยที่ 1 แก่โจทก์ร่วมเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินค่าเช่าซื้อ 10 กระทง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share