คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2692/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดสิบห้าฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นและฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 215, 309, 364 และ 365 และขอให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษเฉพาะความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และ 83 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 คนละ 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 215 และ 309 แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยดังกล่าวมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกเพียง 6 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219

ย่อยาว

คดีสำนวนที่ 2 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้โอนคดีมายังศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับโอนคดีและมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีสำนวนแรก โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 82 เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 83 ที่ 84 และที่ 85 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดสิบสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92, 210, 215, 309, 358, 364, 365 และ 371 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 22 และ 23 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72 และ 72 ทวิ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7 (8), 26, 76 วรรคสอง และ 102 เพิ่มโทษจำเลยที่ 24 ตามกฎหมาย บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 48 และที่ 70 ที่รอการลงโทษเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ ริบของกลาง โดยวิทยุคมนาคมของกลางให้ริบไว้ใช้ในราชการสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานพาอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของตนเองติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ฐานมีเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนฐานอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานมีกระสุนปืนขนาด .22 จำนวน 1 นัดและกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 5 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนฐานอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 38 ที่ 40 ที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 79 และที่ 81 ถึงที่ 85 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 39 และที่ 80 ให้การรับสารภาพฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) 15 ใบ และ 3 ใบ ตามลำดับไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนฐานอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 42 หลบหนี ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 41 และที่ 43 ถึงที่ 85 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก และมาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และ 83 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6, 23 (ที่ถูก มาตรา 23 ประกอบมาตรา 6 วรรคหนึ่ง) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคสอง ประกอบมาตรา 7 จำเลยที่ 39 และที่ 80 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 76 วรรคสอง ประกอบมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 30 ที่ 47 และที่ 81 อายุยังไม่เกินยี่สิบปี เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำเลยที่ 83 ถึงที่ 85 อายุต่ำกว่าสิบแปดปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 41 และที่ 43 ถึงที่ 85 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นซ่องโจร จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 30 ที่ 47 และที่ 81 คนละ 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 83 ถึงที่ 85 คนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันบุกรุก จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 30 ที่ 47 และที่ 81 คนละ 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 83 ถึงที่ 85 คนละ 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ฐานมีเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 1,000 บาท ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับจำเลยที่ 39 และที่ 80 คนละ 1,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 24 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 41 และที่ 43 ถึงที่ 85 รับว่าบุกรุกสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานพาอาวุธปืนกับฐานมีเครื่องรับและส่งวิทยุไว้ในครอบครอง จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานมีเครื่องกระสุนปืน และจำเลยที่ 39 และที่ 80 ให้การรับสารภาพฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครอง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 18 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และปรับ 500 บาท จำคุกจำเลยที่ 3 ถึงที่ 23 ที่ 25 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 38 ที่ 40 ที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 79 และที่ 82 มีกำหนดคนละ 1 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 39 และที่ 80 มีกำหนดคนละ 1 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 500 บาท จำคุกจำเลยที่ 30 ที่ 47 และที่ 81 มีกำหนดคนละ 12 เดือน จำคุกจำเลยที่ 83 ถึงที่ 85 มีกำหนดคนละ 8 เดือนและจำคุกจำเลยที่ 24 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 30 ที่ 47 ที่ 81 และที่ 83 ถึงที่ 85 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 30 ที่ 47 ที่ 81 และที่ 83 ถึงที่ 85 โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในเวลา 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ที่ 39 และที่ 80 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบของกลาง โดยวิทยุคมนาคมให้ริบไว้ใช้ในราชการของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูง ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควรและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 41 และที่ 43 ถึงที่ 85 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง และ 309 วรรคสอง ด้วยขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 30 ที่ 47 และที่ 81 อายุยังไม่เกินยี่สิบปี เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำเลยที่ 83 ถึงที่ 85 อายุต่ำกว่าสิบแปดปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 41 และที่ 43 ถึงที่ 85 ฐานร่วมกันก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธให้กระทำการใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และฐานร่วมกันบุกรุกสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นในเวลากลางคืน โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันบุกรุกสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นในเวลากลางคืนโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 30 ที่ 47 และที่ 81 คนละ 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 83 ถึงที่ 85 คนละ 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 24 อีกหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือน ฐานมีเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 เดือน คำรับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 41 และที่ 43 ถึงที่ 85 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 23 ที่ 25 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 คนละ 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 24 มีกำหนด 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 30 ที่ 47 และที่ 81 คนละ 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 83 ถึงที่ 85 คนละ 3 เดือน เมื่อรวมโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 500 บาท จำคุกจำเลยที่ 39 และที่ 80 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 500 บาท บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 48 และที่ 70 ที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 48 มีกำหนด 9 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 70 มีกำหนด 8 เดือน ส่วนโทษจำคุกจำเลยที่ 30 ที่ 47 ที่ 81 และที่ 83 ถึงที่ 85 ให้รอการลงโทษไว้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นยกฟ้องฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 ประกอบมาตรา 83 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า ก่อนเกิดเหตุกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมกันที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินกลาง แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อขับไล่รัฐบาลที่มีนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในการชุมนุมดังกล่าวแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมปราศรัยว่าจะนำกลุ่มผู้ชุมนุมไปปิดล้อมสถานที่ราชการต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2551 เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนหาข่าวทราบว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะนำกลุ่มผู้ชุมนุมไปบุกยึดอาคารสำนักงานสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น บี ที และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในวันที่ 26 สิงหาคม 2551 พันตำรวจเอกพีระพงศ์ จึงนำกำลังเจ้าพนักงานตำรวจไปดูแลรักษาความปลอดภัยที่อาคารสำนักงานดังกล่าว ครั้นวันที่ 26 สิงหาคม 2551เวลาประมาณ 5 นาฬิกา จำเลยทั้งแปดสิบห้ากับพวกอีกจำนวนประมาณ 100 ถึง 200 คน แต่งกายใส่เสื้อผ้าชุดสีดำเดินทางไปรวมตัวกันบริเวณประตูทางเข้าออกอาคารสำนักงานสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น บี ที และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยแล้วพากันบุกรุกเข้าไปในอาคารสำนักงานดังกล่าวโดยกลุ่มผู้บุกรุกบางคนพาอาวุธ ไม้แหลมติดตัวเข้าไปด้วย หลังจากนั้นได้กระจายกำลังไปตามชั้นต่าง ๆ ของอาคาร เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยทั้งแปดสิบห้าได้พร้อมของกลางหลายรายการ ได้แก่ อาวุธปืน กระสุนปืนลูกเหล็ก หนังสติ๊ก ก้อนหิน มีดปลายแหลม มีดดาบ มีดพกสั้น ไม้กระบอง ไม้กอล์ฟขวาน และสนับมือ ต่อมาวันเดียวกันเวลาประมาณ 8 นาฬิกา กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำนวนประมาณ 10,000 คน พากันบุกรุกเข้าไปในบริเวณพื้นที่และอาคารสำนักงานสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น บี ที และพากันออกไปจากอาคารสำนักงานดังกล่าวเมื่อเวลาประมาณ 18 นาฬิกา
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 ว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง และ 309 วรรคสอง ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ สมควรริบอาวุธปืนของกลางของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และสมควรรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษหรือลงโทษจำเลยที่ฎีกาในสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดสิบห้าฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ และฐานร่วมกันบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 309, 364 และ 365 และขอให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษเฉพาะความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 และ 83 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 คนละ 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 309 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยดังกล่าวมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ และฐานร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 309, 364 และ 365 แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 คนละ 6 เดือน แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้บทความผิดจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เป็นว่าจำเลยดังกล่าวมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ อันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำคุกเพียง 6 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 ฎีกาว่า จำเลยทั้งแปดสิบห้าไม่ได้มีเจตนาก่อความวุ่นวายและรบกวนความสงบสุขของประชาชน ไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวาย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบุกรุกของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โจทก์ไม่มีพยานมาเบิกความยืนยันการกระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุทั้งสองแห่งยังคงทำงานตามปกติ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้หรือมีอาวุธปืนของกลางไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเพียงแต่พกติดตัวไปในที่เกิดเหตุ กับขอให้รอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษ หรือลงโทษสถานเบาและคืนอาวุธปืนของกลางแก่จำเลยที่ 1 ล้วนแต่เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน ดุลพินิจในการกำหนดโทษและริบอาวุธปืนของกลางของศาลอุทธรณ์ เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ข้างต้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82 มา เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน และให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 41 ที่ 43 ถึงที่ 46 ที่ 48 ถึงที่ 80 และที่ 82

Share