คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9042/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยครรภ์โจทก์ที่ 1 ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานของการตรวจคัดกรอง การตรวจอัลตราซาวด์ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อหาความผิดปกติของทารกแบ่งได้เป็น 3 ระดับ การตรวจระดับ 1 เป็นการตรวจคัดกรองอย่างง่ายดูจำนวนทารก การมีชีวิตของทารก การประมาณอายุครรภ์ ปริมาณน้ำคร่ำ ส่วนนำของทารก ตำแหน่งทารก และความพิการบางอย่างที่สามารถเห็นได้ง่าย จำเลยที่ 3 ให้ความเห็นในการตรวจว่า ทารกมีชีวิต เพศชาย บุตรในครรภ์ 1 คน รกอยู่ด้านหลังของมดลูกปริมาณน้ำคร่ำปกติ ลักษณะลำตัว ตับ กระเพาะอาหาร ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำคอ และกระดูกสันหลังปกติ ความยาวของกระดูกต้นขา 21 มิลลิเมตร ตรงกับอายุครรภ์ 16.3 สัปดาห์ การเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของทารกอยู่ในเกณฑ์ปกติ แสดงให้เห็นว่าในการตรวจอัลตราซาวด์สามารถเห็นอวัยวะส่วนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกายของทารกในครรภ์ได้ หากจำเลยที่ 3 ไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติหรือความพิการของทารกในครรภ์ก็มีหน้าที่ต้องแจ้งผลการตรวจให้โจทก์ที่ 1 ทราบว่ายังไม่สามารถตรวจพบความพิการในส่วนแขนและขาของทารกได้เพราะยังมองเห็นไม่ครบถ้วน การที่จำเลยที่ 3 แจ้งว่าทารกในครรภ์มีสภาพร่างกายสมบูรณ์หรือไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งๆที่สภาพร่างกายทารกมีความพิการรุนแรง ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เสียโอกาสในการตัดสินใจว่าจะหาทางแก้ไขเยียวยาหรือดำเนินการเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และหากโจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ย่อมมีโอกาสเตรียมใจยอมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนการคลอดโจทก์ที่ 2 มากกว่าที่จะรู้ถึงความพิการของโจทก์ที่ 2 โดยกะทันหันกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจโจทก์ที่ 1 อย่างรุนแรง การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ไม่พบความพิการของโจทก์ที่ 2 และไม่ได้แจ้งโจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนด้วยภาษาที่โจทก์ที่ 1 จะเข้าใจได้ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจอันเป็นความเสียหายแก่อนามัย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 แพทย์เจ้าของไข้ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ร่วมในการตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ที่ 1 ด้วย
แม้โจทก์ที่ 2 พิการรุนแรงเรื่องจากมีความผิดปกติในขณะที่โจทก์ที่ 1 ตั้งครรภ์อยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสาม และจำเลยที่ 3 ตรวจไม่พบ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่า ความพิการของโจทก์ที่ 2 เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสามนอกจากนี้ กรณีของโจทก์ที่ 2 แม้ตรวจพบความพิการก็ไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขในระหว่างทารกอยู่ในครรภ์ได้ต้องรอให้คลอดออกมาก่อน โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบว่า หากจำเลยที่ 3 พบความพิการของโจทก์ที่ 2 แล้วจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 ตรวจไม่พบความพิการนั้น ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายหรือพิการมากขึ้น แต่กลับได้ความว่า หากพบความพิการของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 จะปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ความพิการทางร่างกายของโจทก์ที่ 2 เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 390,966,293 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสอง 12,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2550 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2550 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องในส่วนของโจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชน สถานพยาบาล รับรักษาคนไข้และผู้ป่วยเจ็บ โดยใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ตั้งครรภ์โจทก์ที่ 2 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์ที่ 1 ไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 ขณะนั้นอายุครรภ์ประมาณ 6 สัปดาห์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นแพทย์เจ้าของไข้ จำเลยที่ 2 นัดตรวจครรภ์โจทก์ที่ 1 ทุก ๆ 3 ถึง 4 สัปดาห์ และนัดถี่ขึ้นเมื่อใกล้กำหนดคลอด ในแต่ละครั้งที่โจทก์ที่ 1 ไปตรวจครรภ์ จำเลยที่ 2 จะสั่งจ่ายยาให้แก่โจทก์ที่ 1 การตรวจครรภ์จำเลยที่ 2 จะฟังการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ ตรวจเลือดและปัสสาวะของโจทก์ที่ 1 เมื่อครรภ์มีอายุ 17 ถึง 18 สัปดาห์ จำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 ตรวจครรภ์โจทก์ที่ 1 ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ จำเลยที่ 3 ตรวจแล้วไม่พบความพิการของโจทก์ที่ 2 และแจ้งแก่โจทก์ที่ 1 ว่าทารกในครรภ์สมบูรณ์ดี ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2549 จำเลยที่ 2 นัดโจทก์ที่ 1 ไปผ่าตัดทำคลอดที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 คลอดโจทก์ที่ 2 ออกมา ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 มีร่างกายพิการรุนแรง แขนข้างขวามีแค่ข้อศอก ไม่มีขาขวา ขาข้างซ้ายไม่สามารถเหยียดตรงได้ นิ้วเท้าซ้ายมีไม่ครบ โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดข้อหาละเมิด ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท แต่ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองฎีกาขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง ส่วนจำเลยทั้งสามฎีกาขอให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองและฎีกาของจำเลยทั้งสามก่อนว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในข้อหาละเมิดหรือไม่ สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสองคือ โจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 ตรวจครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ จำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อไม่ได้ตรวจดูทารกที่ปรากฏในจอภาพอย่างละเอียดว่ามีลักษณะผิดปกติตามร่างกายหรือไม่ และไม่แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบรายละเอียดของภาพแต่อย่างใด กลับแจ้งแก่โจทก์ที่ 1 ว่า ทารกในครรภ์สมบูรณ์ดี จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 3 ตรวจครรภ์โจทก์ที่ 1 ถูกต้องตามมาตรฐานทุกประการ การตรวจโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทารกในครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ ผลการตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือสุขภาพของโจทก์ที่ 1 จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 3 ตรวจครรภ์โจทก์ที่ 1 ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ไม่พบความพิการของโจทก์ที่ 2 และไม่ได้แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย… ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ทั้งสองมีโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า ช่วงที่จำเลยที่ 3 ตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ โจทก์ที่ 1 มีอายุครรภ์ประมาณ 17 ถึง 18 สัปดาห์ จำเลยที่ 3 ใช้เวลาตรวจประมาณ 5 ถึง 10 นาที ก็แจ้งแก่โจทก์ที่ 1 ว่า ทารกในครรภ์สมบูรณ์ดี โจทก์ที่ 1 จึงเชื่อว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีความผิดปกติใดๆ โจทก์ที่ 1 สอบถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ดูภาพอัลตราซาวด์ในจอคอมพิวเตอร์และบอกว่าทารกสมบูรณ์ดี ภายหลังจากวันนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้แนะนำให้ตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์อีก จำเลยทั้งสามมีจำเลยที่ 3 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขารังสีวินิจฉัย ก่อนทำอัลตราซาวด์ จำเลยที่ 3 ทบทวนประวัติการฝากครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ไม่พบความผิดปกติใดๆ และไม่มีข้อบ่งชี้เป็นพิเศษ จำเลยที่ 3 จึงตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ในลักษณะตรวจคัดกรองทั่วไป เพื่อดูว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งพบว่าทารกมีการเจริญเติบโตอยู่ในเกณฑ์ปกติสอดคล้องกับอายุครรภ์ การตรวจครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ได้กระทำตามมาตรฐานวิชาชีพ วัตถุประสงค์ในการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ในกรณีของโจทก์ที่ 1 คือดูว่าทารกจะมีชีวิตอยู่รอดหรือไม่ มีความพิการของอวัยวะที่จะมีผลต่อชีวิตหรือไม่ เช่น สมอง กระดูกสันหลัง หัวใจ ท้อง ไต กระเพาะปัสสาวะ ส่วนกระดูกต้นขา หากปกติดีไม่ต้องวัดส่วนที่เหลือ การตรวจอัลตราซาวด์อาจไม่เห็นอวัยวะทุกส่วนขึ้นอยู่กับท่าและการเคลื่อนไหวของทารก แต่หากเป็นอวัยวะสำคัญต้องตรวจให้พบตามมาตรฐานแพทย์ต้องทำการตรวจจนพบ สำหรับกระดูกต้นขาของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 3 ก็ตรวจพบและสามารถวัดความยาวได้ และมีนายแพทย์ดำรง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยามาเป็นพยานเบิกความว่า การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ขณะอายุครรภ์ 17 ถึง 22 สัปดาห์ เพื่อดูว่าทารกมีชีวิต 1 หรือ 2 คน แฝดหรือไม่ ท่าของทารกเป็นอย่างไร ตำแหน่งของรก ปริมาณน้ำคร่ำ และดูความพิการของทารกที่ทำให้ไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ หรือมีชีวิตรอดแต่ไม่ดีก็จะคุยเรื่องทำแท้ง เป็นการตรวจตรงตามเกณฑ์มาตรฐานของการตรวจคัดกรองระยะครรภ์ 17 สัปดาห์ กรณีของโจทก์ที่ 1 หากพบความพิการก็ไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ นอกจากนั้น มีแพทย์หญิงจิราพร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวินิจฉัย พยานจำเลยทั้งสามเบิกความว่า การตรวจอัลตราซาวด์ของโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 เปรียบเทียบกับมาตรฐานของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยและของประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าครบมาตรฐานเบื้องต้น เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสามมีนายแพทย์ดำรง และแพทย์หญิงจิราพรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวินิจฉัยเป็นพยานเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยครรภ์โจทก์ที่ 1 ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานของการตรวจคัดกรองระยะครรภ์ 17 ถึง 18 สัปดาห์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ซึ่งระบุว่า “การตรวจอัลตราซาวด์ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ตามมาตรฐานที่สมาคมอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ (ไทย) ให้ความเห็น โดยอ้างอิงมาตรฐานที่ใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และการตรวจระดับ 1 เป็นการตรวจคัดกรองอย่างง่ายโดยแพทย์ที่มีความรู้ทางอัลตราซาวด์ทั่วไปสามารถตรวจได้ กล่าวคือ ดูจำนวนทารก การมีชีวิตของทารก การประมาณอายุครรภ์ ปริมาณน้ำคร่ำ ส่วนนำของทารก ตำแหน่งทารก และความพิการบางอย่างที่สามารถเห็นได้ง่าย” ซึ่งแสดงว่าการตรวจระดับ 1 ได้ตรวจเพียงเพื่อให้ทราบถึงการมีชีวิตของทารกเท่านั้น แต่ต้องการตรวจเพื่อให้ทราบถึงความพิการบางอย่างของทารกที่สามารถเห็นได้ง่ายด้วย ประกอบตามใบรายงานผลการตรวจครรภ์ ระบุว่า จำเลยที่ 3 ให้ความเห็นในการตรวจว่า “ทารกมีชีวิต เพศชาย บุตรในครรภ์ 1 คน รกอยู่ด้านหลังของมดลูก ปริมาณน้ำคร่ำปกติ ลักษณะลำตัว ตับ กระเพาะอาหาร ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำคอ และกระดูกสันหลังของทารกปกติ ความหนาของผนังคอ 2 และ 2.3 มิลลิเมตร ตรงกับอายุครรภ์ 17.8 สัปดาห์ เส้นรอบท้องยาว 122.8 มิลลิเมตร ตรงกับอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ ความยาวของกระดูกต้นขา 21 มิลลิเมตร ตรงกับอายุครรภ์ 16.3 สัปดาห์ การเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของทารกอยู่ในเกณฑ์ปกติ” ย่อมแสดงให้เห็นว่า ในการตรวจอัลตราซาวด์สามารถเห็นอวัยวะส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกายของทารกในครรภ์ได้ ประกอบกับจำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า อวัยวะต่าง ๆ ของทารก 17 สัปดาห์ น่าจะมีครบทุกส่วนแล้ว และอวัยวะเพศชายของทารกซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับแขนหรือขา โดยปกติย่อมมีขนาดเล็กกว่ามาก จำเลยที่ 3 ก็ยังสามารถพบเห็นได้ แขนและขาทั้งสองข้างของทารกจึงเป็นอวัยวะส่วนที่สามารถตรวจและพบเห็นได้ง่าย หากจำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอตามวิสัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจครรภ์โจทก์ที่ 1 ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ ก็เชื่อว่าจะพบความพิการรุนแรงส่วนแขนและขาของโจทก์ที่ 2 ได้ ในขณะยังเป็นทารกในครรภ์ของโจทก์ที่ 1 นอกจากนั้น โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ขอรับการตรวจรักษาพยาบาลจากจำเลยทั้งสามย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริงและเพียงพอเกี่ยวกับการตรวจ การรักษา ผลดีและผลเสียจากการตรวจ การรักษาจากจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ด้วยภาษาที่ผู้ป่วยสามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน หากจำเลยที่ 3 ไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติหรือความพิการของทารกในครรภ์ ก็มีหน้าที่ต้องแจ้งผลการตรวจให้โจทก์ที่ 1 ทราบด้วยว่า ยังไม่สามารถตรวจพบความพิการในส่วนแขนและขาของทารกได้ เพราะยังมองเห็นไม่ครบถ้วนและควรที่จะทำการตรวจซ้ำให้ได้ความแน่ชัดว่าทารกในครรภ์มีสภาพร่างกายสมบูรณ์หรือไม่ การที่จำเลยที่ 3 แจ้งว่าทารกในครรภ์มีสภาพร่างกายสมบูรณ์หรือไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่สภาพร่างกายทารกมีความพิการรุนแรงนั้น ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เข้าใจผิดและคาดหวังว่าทารกในครรภ์มีสภาพร่างกายปกติเช่นคนทั่วไป จึงมิได้ขอให้มีการตรวจวินิจฉัยครรภ์ซ้ำอีก ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เสียโอกาสในการตัดสินใจว่าจะหาทางแก้ไข เยียวยา หรือดำเนินการเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และหากโจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนจากจำเลยที่ 3 เสียตั้งแต่แรก และทราบว่าความพิการของทารกไม่อาจแก้ไขได้ดังที่จำเลยทั้งสามนำสืบ โจทก์ที่ 1 ก็ย่อมมีโอกาสเตรียมใจยอมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนการคลอดโจทก์ที่ 2 อันจะเกิดผลดีแก่สภาพจิตใจของโจทก์ที่ 1 มากกว่าที่จะรู้ถึงความพิการของโจทก์ที่ 2 โดยกะทันหันอันเป็นเหตุให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจโจทก์ที่ 1 อย่างรุนแรง การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ไม่พบความพิการของโจทก์ที่ 2 และไม่ได้แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนด้วยภาษาที่โจทก์ที่ 1 จะเข้าใจได้ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจ อันเป็นความเสียหายแก่อนามัย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 แพทย์เจ้าของไข้ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ร่วมในการตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ที่ 1 ด้วย ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า จำเลยที่ 2 แนะนำให้โจทก์ที่ 1 ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เพิ่มเติม แต่โจทก์ที่ 1 ปฏิเสธนั้นเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งไม่มีการระบุไว้เป็นหลักฐานในบันทึกการตรวจ ดังเช่นที่จำเลยที่ 2 เคยบันทึกไว้ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ต้องการตรวจทริปเปิลมาร์คเกอร์ อันเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองภาวะผิดปกติของไขสันหลังและภาวะปัญญาอ่อนของทารก ซึ่งหากจำเลยที่ 2 แนะนำว่าควรตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เพิ่มเติมและแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนว่า การตรวจอัลตราซาวด์ครั้งแรกยังไม่สามารถบอกได้ว่าทารกพิการหรือไม่ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ที่ 1 จะปฏิเสธการตรวจตามคำแนะนำของจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปว่า จำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ที่ 2 พิการรุนแรงเนื่องจากมีความผิดปกติในขณะโจทก์ที่ 1 ตั้งครรภ์อยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสามและจำเลยที่ 3 ตรวจไม่พบความผิดปกติอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดมาพิสูจน์ให้เห็นว่า ความพิการของโจทก์ที่ 2 เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม คงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอจึงตรวจไม่พบความพิการของโจทก์ที่ 2 เท่านั้น นอกจากนั้น ยังได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์กำแหง ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาว่า กรณีของโจทก์ที่ 2 แม้ตรวจพบความพิการดังกล่าวก็ไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขในระหว่างทารกอยู่ในครรภ์ได้ ต้องรอให้คลอดออกมาก่อน ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า หากจำเลยที่ 3 ตรวจพบความพิการของโจทก์ที่ 2 และแจ้งให้ทราบแล้ว โจทก์ที่ 1 จะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 3 ตรวจไม่พบความพิการและมิได้แจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบนั้นทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายหรือพิการมากยิ่งขึ้น แต่กลับได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่า หากตรวจพบความพิการของโจทก์ที่ 2 แล้ว โจทก์ที่ 1 ก็จะปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ ส่วนที่โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า หากทราบก่อนว่าโจทก์ที่ 2 พิการก็จะได้ปรึกษาแพทย์ทั้งในและต่างประเทศนั้น โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบว่าจะปรึกษาอย่างไรและจะแก้ไขความพิการของโจทก์ที่ 2 ขณะอยู่ในครรภ์ได้หรือไม่เพียงใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าความพิการทางร่างกายของโจทก์ที่ 2 เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในส่วนของโจทก์ที่ 2 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามต่อไปว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 3 ตรวจครรภ์โจทก์ที่ 1 ไม่พบความพิการของทารกในครรภ์ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 คาดหวังว่าโจทก์ที่ 2 จะมีสภาพร่างกายสมบูรณ์เช่นคนปกติทั่วไปทำให้ไม่มีโอกาสเตรียมใจยอมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนการคลอดโจทก์ที่ 2 อีกทั้งโจทก์ที่ 1 ย่อมรู้สึกว่าไม่มีโอกาสแม้แต่จะคิดหาหนทางเยียวยาแก้ไขหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ในขณะเป็นทารกอยู่ในครรภ์ ย่อมจะเกิดผลกระทบ กระเทือนต่อสภาพจิตใจโจทก์ที่ 1 ผู้เป็นมารดาอย่างรุนแรงดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงถือว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายแก่อนามัย เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการละเมิดดังกล่าวแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนด ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดรายได้เพราะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติเนื่องจากต้องดูแลโจทก์ที่ 2 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคคลอื่นมาดูแลโจทก์ที่ 2 กับต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโจทก์ที่ 2 เสียค่าอุปกรณ์และอวัยวะเทียมของโจทก์ที่ 2 นั้น เห็นว่า แม้ตามทางพิจารณาได้ความว่า หากมีการตรวจพบความพิการของทารกในครรภ์ หนทางที่เป็นไปได้คือการยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้ง แต่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า กรณีของโจทก์ที่ 1 ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะทำแท้งโดยชอบด้วยกฎหมายได้ ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2548 ข้อ 5 (2) วรรคสอง ที่กำหนดว่า “การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ในกรณีที่หญิงนั้นมีความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากพบว่าทารกในครรภ์มีหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง…. ซึ่งจะต้องได้รับการรับรองหรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์…” แต่โจทก์ทั้งสองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่า หากจำเลยที่ 3 ตรวจพบความพิการของโจทก์ที่ 2 ขณะอยู่ในครรภ์จะมีผลกระทบต่อจิตใจของโจทก์ที่ 1 ถึงขนาดมีความเครียดอย่างรุนแรงอันจะเข้าเงื่อนไขที่แพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้หรือไม่ และการแก้ไขปัญหาโดยขอให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์ที่ 1 ซึ่งไม่แน่ว่าจะกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งหากโจทก์ที่ 1 ทราบถึงความพิการของโจทก์ที่ 2 ก่อน ก็ยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์ที่ 1 จะตัดสินใจเลือกใช้แนวทางการทำแท้งในการแก้ปัญหาความพิการของโจทก์ที่ 2 หรือไม่ ดังนั้น ค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องดังกล่าว จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า หากโจทก์ที่ 1 ใช้วิธีการแก้ปัญหาความพิการของโจทก์ที่ 2 โดยวิธีการขอให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ โจทก์ที่ 1 ก็จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและเลี้ยงดูโจทก์ที่ 2 ต่อไป ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงมิใช่ความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงมาจากการทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม อีกทั้งยังเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่ไกลกว่าเหตุ จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 1 ฎีกาของโจทก์ทั้งสองและฎีกาของจำเลยทั้งสามประการอื่น ๆ นอกจากนี้ล้วนเป็นเรื่องรายละเอียดที่ไม่ทำให้คำวินิจฉัยข้างต้นเปลี่ยนแปลงไปได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองและฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share