คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7789/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเอง และปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา ที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินสินสมรสไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และจำเลยที่ 2 ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ดินเลขที่ 19654 และ 2508 อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ระหว่างจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์และห้ามเกี่ยวข้องหรือทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 2 ใหม่ โดยแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 1 ทราบ แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ยกอุทธรณ์ของโจทก์คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ดินเลขที่ 19654 และ 2508 อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ระหว่างจำเลยทั้งสองเสีย ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้แก่โจทก์ และห้ามจำเลยที่ 2 เข้าไปเกี่ยวข้องหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เคยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ระหว่างสมรสมีทรัพย์สินเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินโฉนดเลขที่ 19654 อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น โดยมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2553 จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 19654 ไปจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลยที่ 2 และวันที่ 8 มีนาคม 2554 จดทะเบียนขยายระยะเวลาไถ่ถอนออกไปอีก 1 ปี และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนขายฝากไว้แก่จำเลยที่ 2 อีก ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2508 และ 19654 เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากไว้โดยสุจริตหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ระหว่างสมรสโจทก์กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันซื้อที่ดินทั้งสองแปลงโดยใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 นำสินสมรสไปขายฝากหลายรายการ โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 โดยไม่ได้บันทึกเรื่องทรัพย์สินไว้เพราะยังไม่ทราบรายละเอียด ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 โจทก์ประสงค์จะแบ่งสินสมรสจึงทราบว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไปขายฝากไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอม ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์เป็นสามีของจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขายฝาก ขณะทำสัญญาขายฝากจำเลยที่ 1 ทำงานเป็นพนักงานที่ดินอยู่สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขากระนวน นายภูษิต เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขากระนวน เบิกความว่า การทำสัญญาขายฝากครั้งนี้ คู่สมรสของผู้ขายฝากไม่ได้ให้ถ้อยคำยินยอมโดยผู้ซื้อฝากทราบว่าผู้ขายฝากมีคู่สมรสและคู่สมรสไม่ได้มาให้ความยินยอม ฝ่ายจำเลยที่ 2 มีตัวจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 มีอาชีพรับซื้อฝากที่ดิน จำเลยที่ 1 นำที่ดินมาขายฝาก 9 แปลง จำเลยที่ 2 ทราบว่าโจทก์เป็นสามีของจำเลยที่ 1 แต่สอบถามจำเลยที่ 1 แจ้งว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาเอง โจทก์ไม่เกี่ยวข้อง เห็นว่า ตามบันทึกด้านหลังหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อให้ถ้อยคำไว้เองว่า การจดทะเบียนนิติกรรมรายนี้คู่สมรสของฝ่ายผู้ขายฝากไม่ได้ให้ถ้อยคำยินยอม การจดทะเบียนนิติกรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน และอาจเกิดผลเสียหายได้ ข้าพเจ้าทั้งสองฝ่ายยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนได้ หากเกิดการเสียหายขึ้นภายหลัง ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้นไม่เกี่ยวแก่พนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญาขายฝากฉบับที่จำเลยที่ 2 เก็บรักษาไว้ตามเอกสารแนบท้ายฎีกา ไม่มีข้อความเกี่ยวกับการให้ความยินยอมของคู่สมรสเหมือนกับที่ปรากฏในเอกสารสำเนาสัญญาขายฝาก ซึ่งเมื่อพิจารณาสำเนาสัญญาขายฝาก เป็นฉบับที่เจ้าพนักงานที่ดินรับรองความถูกต้องแล้ว อีกทั้งจำเลยที่ 2 ก็มิได้นำสืบปฏิเสธความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวหรือปฏิเสธว่า ลายมือชื่อที่ลงรับทราบข้อความดังกล่าวในช่องผู้รับซื้อฝากมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ประกอบกับจำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับเองว่า ทราบว่าโจทก์เป็นสามีของจำเลยที่ 1 แสดงว่าขณะทำสัญญาขายฝากที่ดินทั้งสองแปลงจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าโจทก์เป็นคู่สมรสของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินทั้งสองแปลงมาขายฝาก จำเลยที่ 2 อ้างต่อสู้เพียงว่า สอบถามจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 บอกว่าซื้อเอง โจทก์ไม่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเองและปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา ที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินสินสมรสไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 (1) และจำเลยที่ 2 ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share