คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14919/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ และค่าขาดไร้อุปการะ โจทก์ร่วมจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 แต่ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ให้โจทก์ร่วมนำพยานเข้าสืบในคดีส่วนแพ่งและโจทก์ร่วมก็ไม่ได้แถลงว่าไม่ติดใจสืบพยานในคดีส่วนแพ่ง แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 44/2 บัญญัติว่า “…และเมื่อพนักงานอัยการสืบพยานเสร็จ ศาลจะอนุญาตให้ผู้เสียหายนำพยานเข้าสืบถึงค่าสินไหมทดแทนได้เท่าที่จำเป็น…” ซึ่งกำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะอนุญาตให้โจทก์ร่วมนำพยานเข้าสืบถึงค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมได้เท่าที่จำเป็นก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่พนักงานอัยการโจทก์นำสืบเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยและความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์แล้ว เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้นำพยานเข้าสืบเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพและไม่ใช่คดีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เช่นนี้ ศาลชั้นต้นต้องให้โจทก์ร่วมนำพยานเข้าสืบถึงค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องของโจทก์ร่วม เมื่อศาลชั้นต้นไม่ดำเนินการดังกล่าวแล้วกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยไม่ชอบ จึงต้องยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีส่วนแพ่ง แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ร่วมและจำเลยแล้วพิพากษาในคดีส่วนแพ่งใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 78, 157, 160
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางบุญยิ่ง ภริยานายชาญชัย ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 130,900 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ 83,550 บาท ค่าใช้จ่ายวันเก็บอัฐิ ทำบุญเลี้ยงพระ ทำบุญครบรอบ 100 วัน 27,250 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 2,880,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,121,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันกระทำความผิดจนถึงวันฟ้อง
จำเลยแถลงว่าค่าเสียหายสูงเกินส่วน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157, 78 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยประมาทเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 10,000 บาท ฐานขับรถก่อให้เกิดความเสียหายและไม่หยุดให้ความช่วยเหลือหรือแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำคุก 2 เดือน และปรับ 4,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี 2 เดือน และปรับ 14,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 1 เดือน และปรับ 7,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยนำเงินมาวางศาลเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย 50,000 บาท อันเป็นการสำนึกผิด จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ ค่าใช้จ่ายวันเก็บอัฐิ ทำบุญเลี้ยงพระ ทำบุญครบรอบ 100 วัน ที่โจทก์ร่วมเรียกมานั้นสูงเกินควร เห็นควรกำหนดให้ 100,000 บาท ส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ร่วมเรียกมานั้น เห็นว่า ผู้ตายอายุ 65 ปี ไม่มีภาระต้องส่งเสียบุตรเพราะสำเร็จการศึกษาแล้ว เห็นควรกำหนดให้เป็นเงิน 100,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 200,000 บาท จำเลยนำเงินมาวางศาลเพื่อชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม 50,000 บาท จึงให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมอีก 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 6 มีนาคม 2555
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะคดีส่วนแพ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 บัญญัติว่า “…การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง” เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ ค่าใช้จ่ายวันเก็บอัฐิ ทำบุญเลี้ยงพระ ทำบุญครบรอบ 100 วัน และค่าขาดไร้อุปการะ รวมเป็นเงิน 3,121,700 บาท โจทก์ร่วมจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทน โดยนำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่าได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าวจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2555 ศาลชั้นต้นไม่ได้ให้โจทก์ร่วมนำพยานเข้าสืบในคดีส่วนแพ่ง และโจทก์ร่วมก็ไม่ได้แถลงว่าไม่ติดใจสืบพยานในคดีส่วนแพ่ง แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/2 บัญญัติว่า “…และเมื่อพนักงานอัยการสืบพยานเสร็จ ศาลจะอนุญาตให้ผู้เสียหายนำพยานเข้าสืบถึงค่าสินไหมทดแทนได้เท่าที่จำเป็น…” ซึ่งกำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะอนุญาตให้โจทก์ร่วมนำพยานเข้าสืบถึงค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมได้เท่าที่จำเป็นก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่พนักงานอัยการโจทก์นำสืบเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยและความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ร่วมแล้ว เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้นำพยานเข้าสืบเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพและไม่ใช่คดีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เช่นนี้ ศาลชั้นต้นจึงต้องให้โจทก์ร่วมนำพยานเข้าสืบถึงค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องของโจทก์ร่วม เมื่อศาลชั้นต้นไม่ดำเนินการดังกล่าวแล้วกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยมิชอบ เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา จึงต้องยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีส่วนแพ่งแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ร่วมและจำเลยแล้วพิพากษาในคดีส่วนแพ่งใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีส่วนแพ่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ร่วมและจำเลยในคดีส่วนแพ่ง แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share