คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3873/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทจดรายการที่ตั้งของสำนักงานผู้ชำระบัญชีคือเลขที่ 87/149 อาคารออลซีซั่น กรุงเทพมหานคร ถือว่าโจทก์ได้เลือกเอาที่ตั้งดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเกี่ยวกับการชำระบัญชีและถือว่าเอกสารรายการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่เจ้าพนักงานทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน การจดทะเบียนเลิกบริษัทถือว่าบริษัทยังคงอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นในการชำระบัญชี ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจทำการแทนโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการเกี่ยวกับการชำระบัญชีทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับย่อมเป็นการส่งที่ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และมีบุคคลลงชื่อรับไว้ โดยระบุว่าเป็นพนักงาน ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2553 ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 มาตรา 22 ประกอบมาตรา 6 แห่ง พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ.2546 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น ตามหมวด 6 ระบบงานไปรษณีย์ การนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ข้อ 64 ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ บริษัทถือว่าบุคคลต่อไปนี้ เป็นผู้แทนของผู้รับ ข้อ 64.1 บุคคลซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดือนกันกับผู้รับ 64.2 บุคคลซึ่งทำงานอยู่ในสถานที่เดียวกันกับผู้รับ 64.3 เจ้าหน้าที่รับรองหรือผู้ดูแลของโรงแรมหรืออาคาร 64.4 ผู้ทำหน้าที่เวรรับส่งหรือเวรรักษาการณ์ของหน่วยงานหรืออาคาร เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวข้างต้นให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้วตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม
การที่ผู้ชำระบัญชีของโจทก์ย้ายสำนักงานไปยังเลขที่ 345/13 ตรอกต้นโพธิ์ กรุงเทพมหานคร นานถึงหนึ่งปีเศษ จึงแจ้งย้ายที่อยู่ของผู้ชำระบัญชี ก็เป็นกรณีหลังจากถือว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยชอบแล้ว เป็นความบกพร่องของโจทก์เอง ดังนั้น คำสั่งของรัฐมนตรีที่ไม่อนุญาตให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์จึงชอบแล้ว อนึ่ง อำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่จะพิจารณาสั่ง หากคำสั่งของรัฐมนตรีไม่ชอบ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ แต่มิใช่เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยอาศัยมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และขอให้ศาลมีคำสั่งขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์แก่โจทก์และให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 โดยมีนางสาวศิรินทิพย์เป็นผู้ชำระบัญชี สำนักงานผู้ชำระบัญชีตั้งอยู่เลขที่ 87/149 อาคารออลซีซั่น แขวงลุมพินี กรุงเทพมหานคร ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการต่อจำเลยที่ 1 (สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 14) เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ผู้ชำระบัญชีแจ้งแก้ไขเพิ่มเติมที่ตั้งสำนักงานของผู้ชำระบัญชีเป็นเลขที่ 345/13 ตรอกต้นโพธิ์ แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ผู้ชำระบัญชีของโจทก์มอบอำนาจให้บุคคลรับหนังสือเรื่องเตือนให้นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2555 ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมกับคำอุทธรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือที่ กค 0706/ก4/14952 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2555 เรื่อง ไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์ไม่เห็นด้วยและอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2556 สรรพากรภาค 2 ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังโดยรายงานผ่านจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์และให้ส่งคำร้องขอขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ของโจทก์ไปยังจำเลยที่ 2 และแจ้งโจทก์ทราบ จำเลยที่ 1 มีบันทึกข้อความส่งคำร้องขอขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยที่ 2 พิจารณา เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 มีความเห็นตามลำดับบังคับบัญชา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 โจทก์ได้รับหนังสือที่ กค 0206/1535 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 แจ้งคำสั่งไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงมาฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ไม่อนุญาตให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาอุทธรณ์การประเมินให้แก่โจทก์ชอบด้วยมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานประเมินส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งส่งไปยังที่อยู่ตามภูมิลำเนาของผู้ชำระบัญชีและสำนักงานผู้ชำระบัญชีโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และส่งคืนแก่ผู้รับด้วยสาเหตุว่าไม่มีผู้รับตามที่จ่าหน้าก็ต้องถือว่าผู้รับไม่ได้รับไปรษณีย์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ต้องใช้วิธีปิดหมาย หรือปิดโฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อให้เป็นผลตามกฎหมายจึงจะชอบด้วยมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่ได้รับหนังสือเชิญพบและหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงเอกสารที่จำเลยที่ 1 ส่งแก่โจทก์ทุกฉบับ โจทก์จึงไม่มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินภายในกำหนดเวลาสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลฎีกาพิจารณาขยายกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์การประเมินให้แก่โจทก์ นั้น เห็นว่า มาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากรหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือหนังสืออื่นที่มีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือเจ้าพนักงานสรรพากรนำส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือ ณ สำนักงานของบุคคลนั้น ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลอื่นใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว และอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทโดยจดรายการที่ตั้งของสำนักงานผู้ชำระบัญชีคือ เลขที่ 87/149 อาคารออลซีซั่น ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ถือว่าโจทก์ได้เลือกเอาที่ตั้งดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเกี่ยวกับการชำระบัญชี และถือว่าเอกสารรายการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่เจ้าพนักงานทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน กรณีโจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัท แต่ถือว่ายังคงอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นในการชำระบัญชี ซึ่งผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ขณะนั้นคือผู้ชำระบัญชีมีอำนาจหน้าที่สะสางหนี้สินและทรัพย์สินของโจทก์ กับใช้หนี้และแจกจ่ายทรัพย์สินของโจทก์ในช่วงที่มีการชำระบัญชี ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการเกี่ยวกับการชำระบัญชีโดยการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับย่อมเป็นการส่งที่ชอบด้วยมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และมีบุคคลลงชื่อรับไว้ โดยระบุว่าเป็นพนักงาน ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2553 ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 มาตรา 22 ประกอบมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ.2546 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น ตามหมวด 6 ระบบงานไปรษณีย์ การนำจ่ายสิ่งของทางไปรษณีย์ ข้อ 64 ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ บริษัทถือว่าบุคคลต่อไปนี้ เป็นผู้แทนของผู้รับ ข้อ 64.1 บุคคลซึ่งอยู่ในบ้านเรือนเดือนกันกับผู้รับ 64.2 บุคคลซึ่งทำงานอยู่ในสถานที่เดียวกันกับผู้รับ 64.3 เจ้าหน้าที่รับรองหรือผู้ดูแลของโรงแรมหรืออาคาร 64.4 ผู้ทำหน้าที่เวรรับส่งหรือเวรรักษาการณ์ของหน่วยงานหรืออาคาร เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวข้างต้นให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้วตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร การที่ผู้ชำระบัญชีของโจทก์ย้ายสำนักงานไปยังเลขที่ 345/13 ตรอกต้นโพธิ์ แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร นานถึงหนึ่งปีเศษโจทก์จึงแจ้งย้ายที่อยู่ของผู้ชำระบัญชี ก็เป็นกรณีหลังจากถือว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยชอบแล้ว เป็นความบกพร่องของโจทก์เองที่ไม่แจ้งย้ายที่อยู่ผู้ชำระบัญชี เพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ดังนั้น คำสั่งของรัฐมนตรีที่ไม่อนุญาตให้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ชอบแล้ว ส่วนข้ออ้างของการไม่อนุญาตให้ขยายกำหนดเวลาโดยไม่ใช่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือมีผลกระทบต่อบุคคลจำนวนมากก็เป็นเพียงข้อความประกอบการวินิจฉัยไม่อนุญาตให้ขยายกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์เท่านั้น อนึ่ง อำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่จะพิจารณาสั่ง หากคำสั่งของรัฐมนตรีไม่ชอบ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของรัฐมนตรีได้ แต่มิใช่เป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์โดยอาศัยมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ดังที่โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาขอให้พิจารณาสั่งขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่ศาลภาษีอากรกลางยกข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รับหนังสือเตือนให้ไปชำระเงินภาษีอากรค้างพร้อมสำเนาหนังสือแจ้งการประเมินของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ศาลภาษีอากรกลางถือว่าเป็นวันที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้โต้เถียงกันในประเด็นนี้ ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยไม่ชอบ นั้น เห็นว่า ข้อวินิจฉัยดังกล่าวของศาลภาษีอากรกลางเป็นเพียงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยหนึ่งประการในประเด็นข้อพิพาท กรณีรัฐมนตรีมีเหตุสมควรขยายกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์หรือไม่ หาใช่เป็นคำวินิจฉัยไม่ชอบในข้อที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งกันแต่อย่างใด ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share