แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง มุ่งประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษเข้าสู่ร่างกายเนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติดให้โทษทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองซึ่งควบคุมระบบประสาทของผู้ขับขี่ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ และมิได้บัญญัติว่าผู้ขับขี่นั้นต้องขับรถในทางเดินรถด้วย แต่ต้องพิจารณาเพียงว่า ผู้เสพนี้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถหรือไม่ หากผู้เสพปฏิบัติหน้าที่ขับรถไม่ว่าจะเสพในขณะขับรถหรือก่อนหน้านั้น ผู้นั้นได้กระทำผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถได้เสพเมทแอมเฟตามีนในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 43 ทวิ แล้ว และชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 แล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยและสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 43 ทวิ, 157/1, 160 ตรี พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 95, 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ, 127 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง, 160 ตรี วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 (ที่ถูก ไม่ปรับบทมาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคหนึ่ง และต้องปรับบทตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 เพียงบทเดียว) จำคุก 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท ยกฟ้องความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนและยกคำสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ในข้อหาพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะบัญญัติไว้ในลักษณะ 3 ว่าด้วยการใช้ทางเดินรถ แต่ก็ไม่ได้บัญญัติว่าผู้ขับขี่ซึ่งเสพยาเสพติดให้โทษอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 43 ทวิ ต้องขับรถในทางเดินรถด้วย และเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษเข้าร่างกายเนื่องจากฤทธิ์ของยาเสพติดให้โทษทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสมองซึ่งควบคุมระบบประสาทของผู้ขับขี่ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพในการควบคุมยานพาหนะด้อยประสิทธิภาพลง อันอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ ดังนี้ ต้องพิจารณาเพียงว่าผู้เสพยาเสพติดให้โทษเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถหรือไม่ หากผู้เสพยาเสพติดให้โทษเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถไม่ว่าจะเสพในขณะขับรถหรือก่อนหน้านั้น ผู้นั้นก็ได้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวแล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถชนิดที่ 3 เลขที่ 1 นศ. 00004/52 ได้เสพเมทแอมเฟตามีนในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 81 – 4446 นครศรีธรรมราช อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 แล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 วรรคสอง และสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่โทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 จำคุก 8 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 เดือน พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน