แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพิจารณาว่ากรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 และบทกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้ว่าถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในเรื่องการเลิกจ้าง ที่ไม่เป็นธรรมได้ การที่ศาลแรงงานภาค 7 วินิจฉัยโดยตัดสิทธิจำเลยมิให้ยกเอาข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างมาต่อสู้คดีจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 9,712 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 18,452 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานภาค 7 คู่ความแถลงรับว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องให้แก่โจทก์โดยโจทก์ได้รับแล้ว และโจทก์ไม่ติดใจที่จะเรียกดอกเบี้ยในเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว
ศาลแรงงานภาค 7 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 เมษายน 2556) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานที่สาขาจังหวัดราชบุรี ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,712 บาท ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2556 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้าง ระบุเหตุที่เลิกจ้างว่าเนื่องจากมีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามที่จำเลยกำหนด แล้ววินิจฉัยว่า การระบุเหตุเลิกจ้างดังกล่าวเท่ากับจำเลยประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในหนังสือเลิกจ้างเพียงประการเดียวเป็นเหตุเลิกจ้างเมื่อจำเลยถูกฟ้องก็ชอบที่จะยกเอาเหตุตามที่ระบุในหนังสือเลิกจ้างเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การเท่านั้น จำเลยจะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในหนังสือเลิกจ้างดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ การที่จำเลยยกเหตุว่าโจทก์ประพฤติผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณานั้น จึงเป็นการขัดกับเหตุผลในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นควรกำหนดค่าเสียหาย 15,000 บาท ให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ โดยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง จำเลยจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้หรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่ากรณีจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 และบทกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้ว่าถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ การที่ศาลแรงงานภาค 7 วินิจฉัยโดยตัดสิทธิจำเลยมิให้ยกเอาข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง มาต่อสู้คดีจึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น และชอบที่ศาลแรงงานภาค 7 จะต้องฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ประพฤติผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กระทำผิดวินัยร้ายแรง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ เสียก่อน หากโจทก์ได้กระทำความผิดตามที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ จึงจะวินิจฉัยว่ากรณีมีเหตุที่จะเลิกจ้างโจทก์อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ต่อไป เมื่อศาลแรงงานภาค 7 มิได้ฟังข้อเท็จจริงมา เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวตามที่จำเลยให้การต่อสู้คดีเสียก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 7 ให้ศาลแรงงานภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้กระทำความผิดดังที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีนั้นใหม่ตามรูปคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสาม