คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานในระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ผู้ติดยาเสพติดหลบหนีจากการควบคุมหรือหลบหนีออกนอกเขตศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 29 และ ป.อ. มาตรา 190 มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ให้ครบถ้วนก่อนที่จะฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 4 และ 29
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 วรรคแรก จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ครบถ้วนเพราะจำเลยหลบหนีนั้นถือไม่ได้ว่า เป็นการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เพราะจำเลยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบตามกำหนดระยะเวลา กรณีนี้ต้องมีการจับตัวจำเลยมารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ครบถ้วนเสียก่อน เมื่อยังไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ให้ครบถ้วนก่อน แต่ได้นำตัวจำเลยมาส่งฟ้องศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานในระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ผู้ติดยาเสพติดหลบหนีจากการควบคุมหรือหลบหนีออกนอกเขตศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 29 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ก่อนที่จะฟ้องดังที่จำเลยฎีกา ดังนี้ ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share