คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9050/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าก่อนสมัครเข้าร่วมโครงการ โจทก์ทราบข้อตกลงหรือเงื่อนไขตามข้อบังคับโครงการที่ระบุห้ามพนักงานเข้าร่วมโครงการมีสิทธิได้รับคืนเงินโบนัสที่เตรียมไว้ชำระค่าจองซื้อหุ้นนั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติว่า ข้อบังคับโครงการเพิ่งจัดทำขึ้นหลังจากโจทก์สมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งแรก จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
สัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสมัครใจผูกพันกันตามโครงการจ่ายเงินโบนัสในรูปแบบหุ้นสามัญ ซึ่งจำเลยจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการส่งเสริมและจูงใจให้ลูกจ้างจงรักภักดีต่อองค์กร แสดงว่าเป็นสัญญาที่อยู่บนพื้นฐานนิติสัมพันธ์จ้างแรงงาน จึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องหรือเกิดขึ้นเนื่องจากการจ้างแรงงานที่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 เมื่อสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงหรือเงื่อนไขตามข้อบังคับโครงการข้อ 6.3 ระบุว่า “…ในกรณีที่การจ้างแรงงานของพนักงานสิ้นสุดลง พนักงานที่เข้าร่วมโครงการจะไม่มีสิทธิจองซื้อหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรรอีกต่อไป โดยถือเสมือนว่าธนาคาร (จำเลย) ได้ยกเลิกหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรรดังกล่าวแล้ว” ไม่ได้กำหนดถึงกรณีพนักงานหรือลูกจ้างลาออกจากงาน และข้อ 6.5 ที่ระบุว่า “หากมิได้มีการระบุไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับฉบับนี้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ซึ่งรวมถึงการไม่ได้มีการจองซื้อหรือการยกเลิกสิทธิในการจองซื้อหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรร ห้ามมิให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการมีสิทธิที่จะได้รับชำระเงินในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน (เงินโบนัส) หรือค่าตอบแทนกรณีพิเศษสำหรับส่วนที่เตรียมไว้สำหรับชำระค่าจองซื้อหุ้น นอกจากการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ในการชำระค่าจองหุ้นที่ถูกจัดสรร” เป็นการกำหนดเงื่อนไขลอย ๆ ไม่ชัดแจ้งว่าสาเหตุที่ไม่ได้จองซื้อหุ้นหรือยกเลิกสิทธิการจองซื้อหุ้นเกิดจากการกระทำหรือความผิดของฝ่ายใด ทั้งไม่มีข้อกำหนดอัตราค่าปรับหรือริบเงินโบนัสตามพฤติการณ์การกระทำที่เป็นเหตุให้ไม่ได้จองซื้อหุ้น เมื่อพิจารณาสภาพการทำงาน ภาวะค่าครองชีพ ความเดือดร้อนของโจทก์ ระดับค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์อื่นของโจทก์ ฐานะแห่งกิจการของจำเลย สภาพเศรษฐกิจและสังคมทั่วไป และสภาพข้อบังคับโครงการประกอบกันแล้ว ข้อบังคับโครงการที่กำหนดเงื่อนไขตัดสิทธิขอรับคืนเงินโบนัสซึ่งเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับมาตั้งแต่จำเลยอนุมัติจ่ายให้ในแต่ละปีย่อมทำให้จำเลยในฐานะนายจ้างได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควร ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจสั่งให้ข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานอันได้แก่ข้อบังคับโครงการในส่วนนี้มีผลใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 โดยให้จำเลยจ่ายคืนเงินโบนัสส่วนที่ยังไม่ได้นำไปซื้อหุ้นพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ลาออกตามฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ลาออกมีผลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 แต่ในส่วนพิพากษาศาลแรงงานกลางกลับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 อันเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 105,158.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน104,505.50 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 104,505.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 7 สิงหาคม 2555) ต้องไม่เกิน 635 บาท
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาและตามที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2553 จำเลยจัดทำโครงการ TMB PERFORMANCE SHARE BONUS 2010 เพื่อกระจายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ลูกจ้าง โดยจำเลยนำเงินโบนัสประจำปี 2553 และปี 2554 ของลูกจ้างในอัตราร้อยละ 50 ของแต่ละปี กันไว้ชำระค่าจองซื้อหุ้นร่วมกับเงินที่จำเลยจัดสรรให้เพิ่มเติมอีกร้อยละ 25 ตามค่าความเสี่ยงหารด้วยราคาเสนอขายหุ้นสามัญเฉลี่ยในรอบ 90 วัน ในแต่ละปีของเงินโบนัสที่กันไว้ซื้อหุ้นนั้นหุ้นดังกล่าวจะแบ่งเป็น 3 ส่วนเท่ากัน มีกำหนดเวลาจองซื้อภายในเวลา 3 ปี ถัดจากแต่ละงวดปี เงินโบนัสของปี 2553 ลูกจ้างได้รับเป็นเงินไปแล้วร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 ลูกจ้างจะได้รับเป็นหุ้น โดยหุ้นส่วนที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีกำหนด การจองซื้อในช่วงวันที่ 2 ถึงวันที่ 9 เมษายน 2555 ช่วงวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2556 และช่วงวันที่ 1 ถึงวันที่ 8 เมษายน 2557 ตามลำดับ เงินโบนัสของปี 2554 ลูกจ้างได้รับเป็นเงินไปแล้วร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 ลูกจ้างจะได้รับเป็นหุ้น โดยหุ้นส่วนที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดการจองซื้อในช่วงวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2556 ช่วงวันที่ 1 ถึงวันที่ 8 เมษายน 2557 และช่วงวันที่ 1 ถึงวันที่ 8 เมษายน 2558 ตามลำดับ จำเลยแจ้งข้อกำหนดและเงื่อนไขของโครงการให้แก่ลูกจ้างทุกคนทราบทางระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ภายในองค์กร(อินทราเน็ต)ตั้งแต่ก่อนโจทก์สมัครเข้าร่วมโครงการครั้งแรกสำหรับเงินโบนัสของปี 2553 แต่เอกสารอื่น ๆ รวมทั้งที่ยื่นประกอบการพิจารณาภายหลังไม่มีข้อความระบุเหมือนกับข้อบังคับโครงการ ที่ระบุว่า “หากมิได้มีการระบุไว้เพื่อเป็นอย่างอื่นในข้อบังคับฉบับนี้ไม่ว่าจะกรณีใด ๆ ซึ่งรวมถึงการที่ไม่ได้มีการจองซื้อหรือการยกเลิกสิทธิในการจองซื้อหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรร ห้ามมิให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการมีสิทธิที่จะได้รับชำระเงินในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนผลการปฏิบัติงาน (เงินโบนัส)หรือค่าตอบแทนพิเศษสำหรับส่วนที่เตรียมไว้สำหรับชำระค่าจองซื้อหุ้น นอกจากการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ในการชำระค่าจองซื้อหุ้นที่ถูกจัดสรร” และในการประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยครั้งที่ 1/2553 ไม่ได้แจ้งในที่ประชุมว่าหากผู้เข้าร่วมโครงการทำงานไม่ครบ 3 ปี แต่ยังไม่ได้รับหุ้นจะถูกริบเงินโบนัส โจทก์สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวสำหรับเงินโบนัสของปี 2553 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 ซึ่งก่อนที่จำเลยจะรวบรวมจัดทำข้อบังคับโครงการ ข้อบังคับโครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 ต่อมาโจทก์ได้รับการจัดสรรหุ้นส่วนที่ 1 จำนวน 8,700 หุ้น ซึ่งกันเอาเงินโบนัสประจำปี 2553 ของโจทก์ไปชำระ คงเหลือเงินโบนัสประจำปี 2553 ของโจทก์ที่ยังไม่ได้นำไปดำเนินการซื้อหุ้น 27,406.50 บาท เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 โจทก์สมัครเข้าร่วมโครงการโดยจำเลยกันเอาเงินโบนัสประจำปี 2554 ของโจทก์ร้อยละ 50 จำนวน 77,099 บาท เตรียมไว้สำหรับชำระค่าหุ้นที่จำเลยจะดำเนินการจัดสรรให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ลาออกมีผลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 โจทก์ขอรับเงินโบนัสของปี 2553 และปี 2554 ส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดสรรหุ้นให้แก่โจทก์ จำเลยปฏิเสธอ้างเหตุว่าโจทก์สละสิทธิที่จะรับเงินโบนัสดังกล่าว โดยศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงื่อนไขตามข้อบังคับโครงการ ทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควร จึงสั่งให้มีผลใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 จำเลยต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่โจทก์ลาออกตามฟ้อง
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทราบข้อตกลงหรือเงื่อนไขตามข้อบังคับโครงการ ที่ระบุห้ามมิให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการมีสิทธิที่จะได้รับชำระเงินโบนัสที่เตรียมไว้ชำระค่าจองซื้อหุ้นคืน ตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะสมัครเข้าร่วมโครงการกับจำเลยแล้วนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้มาว่า เอกสารต่าง ๆ ที่จำเลยแจ้งข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของโครงการให้โจทก์ทราบก่อนที่โจทก์จะสมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งแรก ไม่มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่กำหนดให้ลูกจ้างต้องสละสิทธิในเงินโบนัสที่ยังไม่ได้นำไปชำระค่าจองซื้อหุ้นดังที่ระบุไว้ในข้อบังคับโครงการ ข้อบังคับตามเอกสารดังกล่าวเพิ่งจัดทำขึ้นหลังจากโจทก์สมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งแรกแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีเพียงประการเดียว โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ผูกพันกันตามโครงการมิใช่สัญญาจ้างแรงงานจึงไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 และข้อบังคับโครงการที่กำหนดเงื่อนไขว่ากรณีที่ไม่ได้จองซื้อหุ้นให้แก่โจทก์ โจทก์จะขอรับเงินโบนัสคืนไม่ได้นั้น ไม่ได้ทำให้จำเลยในฐานะนายจ้างได้เปรียบโจทก์เกินสมควรจึงมีผลผูกพันและใช้บังคับต่อกันได้ นั้น เห็นว่า แม้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ผูกพันกันตามโครงการจะเกิดขึ้นจากความสมัครใจของโจทก์เอง มิได้เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ในฐานะลูกจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยในฐานะนายจ้างก็ตาม แต่เมื่อจำเลยจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการส่งเสริมและจูงใจให้ลูกจ้างจงรักภักดีต่อองค์กร ทุ่มเทความรู้ความสามารถในการทำงานและอยู่ทำงานให้แก่องค์กรเป็นเวลานาน แสดงว่าสัญญาตามโครงการนั้นเกิดบนพื้นฐานนิติสัมพันธ์จ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องหรือเกิดขึ้นเนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 สำหรับในส่วนที่ข้อบังคับโครงการระบุว่า “…ในกรณีที่การจ้างแรงงานของพนักงานสิ้นสุดลงพนักงานที่เข้าร่วมโครงการจะไม่มีสิทธิจองซื้อหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรรอีกต่อไป โดยถือเสมือนว่าธนาคาร (จำเลย) ได้ยกเลิกหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรรดังกล่าวแล้ว” ก็กำหนดถึงกรณีการจ้างงานสิ้นสุดลงไว้เพียง 4 กรณี ได้แก่ การเกษียณอายุการทำงาน การเสียชีวิตการโอนย้ายพนักงานไปยังบริษัทอื่น และการสิ้นสุดการจ้างอันเนื่องมาจากการยุบเลิกตำแหน่งหรือการทุพพลภาพถาวร โดยไม่มีการกำหนดถึงกรณีที่พนักงานหรือลูกจ้างลาออกจากงาน ส่วนข้อ 6.5 ที่ระบุว่า “หากมิได้มีการระบุไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับฉบับนี้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ซึ่งรวมถึงการไม่ได้มีการจองซื้อ หรือการยกเลิกสิทธิในการจองซื้อหุ้นที่ยังไม่มีการจัดสรร ห้ามมิให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการมีสิทธิที่จะได้รับชำระเงินในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน (เงินโบนัส) หรือค่าตอบแทนกรณีพิเศษสำหรับส่วนที่เตรียมไว้สำหรับชำระค่าจองซื้อหุ้น นอกจากการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ในการชำระค่าจองหุ้นที่ถูกจัดสรร” ก็เป็นการกำหนดเงื่อนไขลอย ๆ ที่ไม่ชัดแจ้งว่าสาเหตุที่ไม่ได้จองซื้อหุ้นหรือยกเลิกสิทธิในการจองซื้อหุ้นเกิดจากการกระทำหรือความผิดของฝ่ายใดระหว่างโจทก์กับจำเลย ทั้งไม่มีข้อกำหนดอัตราค่าปรับหรือริบเงินโบนัสของโจทก์ตามพฤติการณ์ของการกระทำอันเป็นเหตุให้ไม่ได้จองซื้อหุ้นหรือยกเลิกสิทธิการจองซื้อหุ้น เมื่อพิจารณาสภาพการทำงาน ภาวะค่าครองชีพ ความเดือดร้อนของโจทก์ ระดับค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์อื่นของโจทก์ ฐานะแห่งกิจการของจำเลย สภาพเศรษฐกิจและสังคมทั่วไปและสภาพข้อบังคับโครงการประกอบกันแล้ว ข้อบังคับโครงการที่กำหนดเงื่อนไขตัดสิทธิขอรับคืนเงินโบนัสซึ่งเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตั้งแต่จำเลยอนุมัติจ่ายให้ในแต่ละปีดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยในฐานะนายจ้างได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควรที่ศาลแรงงานกลางใช้อำนาจสั่งให้ข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานอันได้แก่ข้อบังคับโครงการในส่วนดังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 14/1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่โจทก์ลาออกตามฟ้อง ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ลาออกโดยให้มีผลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 แต่ในส่วนพิพากษาศาลแรงงานกลางกลับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 อันเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม2555 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share