คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ตาม ป.อ. มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ณ. ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม ซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นเรื่องการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ณ. ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 พาไม้ขนาดเท่าใดไม่ปรากฏชัด เป็นอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ และใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้าย ณ. แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในข้อหาดังกล่าวว่า เป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่และปัญหาเรื่องฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 364, 365, 371 และนับโทษจำคุกของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1222/2557 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยทั้งสองในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นางวิมลรัตน์ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยข้อกฎหมายก่อนว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นอันระงับไปหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1695/2557 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 364, 365 โดยโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบพยานสรุปใจความสำคัญได้ว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2557 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมแล้วร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายร่างกายนายณัฐพงษ์ บุตรเขยของโจทก์ร่วมซึ่งอยู่ในเคหสถานดังกล่าวและข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1222/2557 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายนายณัฐพงษ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295 และข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายร่างกายนายณัฐพงษ์ในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมซึ่งวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตลอดจนสาระแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุการณ์เดียวกันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกันแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายนายณัฐพงษ์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองของโจทก์ในคดีนี้ ย่อมเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1.2 ว่า จำเลยที่ 2 พาไม้ขนาดเท่าใดไม่ปรากฏชัด 1 อัน เป็นอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ บริเวณหมู่ที่ 11 ตำบลป่าแงะ อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย และใช้ไม้เป็นอาวุธตีทำร้ายนายณัฐพงษ์ แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดในข้อหาดังกล่าวว่าเป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่และปัญหาเรื่องฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share