แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความในพินัยกรรมส่วนที่เพิ่มเติมตอนท้ายไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไม่สมบูรณ์ แต่ไม่มีผลกระทบถึงพินัยกรรมทั้งฉบับ ข้อความเดิมในพินัยกรรมย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับ เมื่อพิเคราะห์ข้อความส่วนที่ยังมีผลใช้บังคับได้ ย่อมเห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมได้โดยชัดแจ้งว่า ต้องการยกทรัพย์สินของผู้ตายให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียว ข้อความในส่วนอื่นในพินัยกรรมที่ระบุทรัพย์สินเป็นข้อๆ เป็นเพียงส่วนประกอบให้เห็นว่า ผู้ตายมีทรัพย์สินใดบ้าง หรือมีทรัพย์สินที่ผู้ตายจำได้ในขณะที่กำลังเขียนพินัยกรรมเท่านั้น ทรัพย์สินที่ผู้ตายเขียนระบุเพิ่มเติมตอนท้ายโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับ น่าเชื่อว่าเป็นเพราะผู้ตายเพิ่งระลึกนึกได้ว่ามีทรัพย์สินดังกล่าวด้วย แต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของผู้ตายที่ต้องการยกทรัพย์สินของตนเองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลย คดีฟังได้ว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดให้แก่จำเลย ทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 ดังนั้น โจทก์ทั้งเจ็ดจึงถูกตัดโดยผลของพินัยกรรมทำให้ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตาย
แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความได้สละประเด็นข้อพิพาททั้งหมด คงให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า จำเลยต้องแบ่งทรัพย์มรดกที่พิพาทแก่โจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ เพียงใด ก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งกำหนดให้ ส. เป็นผู้รวบรวมทรัพย์มรดกแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่า ๆ กัน เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 139,986.09 บาท โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 7 คนละ 104,989.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 139,986.09 บาท โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 7 คนละ 104,989.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 กรกฎาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ให้ยกอุทธรณ์จำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยแถลงสละประเด็นข้อพิพาททั้งหมดคงขอให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นว่า จำเลยจะต้องแบ่งทรัพย์มรดกที่พิพาทตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ เพียงใด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 139,986.09 บาท โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 7 คนละ 104,989.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่โจทก์แต่ละคนได้รับ นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 กรกฎาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า นายมุ่ยหรือเก๋งกับนางฮวย เป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ นางกิมหยิน นายเจริญภัทร นายสมนึก และนายพก ผู้ตาย ผู้ตายไม่มีภริยาและบุตร ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2547 นายมุ่ยกับนางฮวยถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว นางกิมหยิน นายเจริญภัทรและนายสมนึกถึงแก่ความตายไปก่อนแล้วเช่นกัน นายเจริญภัทรไม่มีภริยาและบุตร นายสมนึกมีบุตร 2 คน แต่บุตรนายสมนึกไม่ได้ฟ้องร้องเกี่ยวข้องในคดีนี้ นางกิมหยินมีบุตร 4 คน คือ นายสุนทร นายสุรชัยหรือสุรัฐ นายสมพงษ์ และจำเลย โจทก์ที่ 4 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุนทร มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ โจทก์ที่ 5 ถึงโจทก์ที่ 7 นายสุนทรถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2553 อันเป็นเวลาหลังผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรของนายสุรชัย นายสุรชัยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 ก่อนผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ยกทรัพย์มรดกรวม 11 รายการ ให้แก่จำเลย ทั้งได้เขียนข้อความต่อจากลายมือชื่อผู้เขียนในพินัยกรรม มีข้อความว่า ยกทรัพย์พิพาทตามฟ้องซึ่งเป็นหุ้นที่ผู้ตายได้ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมดให้แก่จำเลยด้วย แต่ผู้ตายไม่ได้ลงลายชื่อกำกับส่วนที่เขียนเพิ่มเติมดังกล่าว หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วจำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกาเนื่องจากเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่า ข้อความส่วนที่เพิ่มเติมด้านล่างไม่สมบูรณ์เพราะเจ้ามรดกไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ ส่วนข้อความอื่นในพินัยกรรมมีผลสมบูรณ์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดมีว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมแบบเขียนด้วยตนเองทั้งฉบับ กำหนดการเผื่อตายของผู้ตายในเรื่องของทรัพย์สินของผู้ตายไว้แล้วในพินัยกรรมดังกล่าวมีข้อความว่า “ข้าพเจ้า นายพก ศรีเก่งกระจ่าง… ได้ทำพินัยกรรมขึ้นไว้เพื่อแสดงเจตนาว่า เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรม ให้ทรัพย์สินต่าง ๆ ของข้าพเจ้า ให้นายเฉลิมเกียรติ เกรียงศักดิ์ศรี แต่เพียงผู้เดียว หลานคนอื่นไม่มีสิทธิ์ ทรัพย์สินของข้าพเจ้ามีดังนี้…” เมื่อผู้ตายเขียนระบุทรัพย์สินรวม 11 ข้อแล้ว ก็เขียนในตอนท้ายของพินัยกรรมก่อนลงลายมือชื่อว่า “….ข้าพเจ้าถ่ายเอกสารฝากไว้กับบุคคลที่ข้าพเจ้านับถือไว้เพื่อเป็นหลักฐาน เพื่อมิให้หลานของข้าพเจ้าได้มาฟ้องแบ่งทรัพย์สินของข้าพเจ้า…” เมื่อลงลายมือชื่อในฐานะเป็นผู้เขียนพินัยกรรมแล้ว ผู้ตายได้เขียนข้อความเพิ่มเติมต่อจากลายมือชื่อของผู้ตายไว้ว่า “หุ้นทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้เล่นไว้ที่ A.B.N. แอมโรว์ ขอยกให้นายเฉลิมเกียรติ เกรียงศักดิ์ศรี หุ้นทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้เล่นไว้ที่บริษัทซิกโก้ ขอยกให้นายเฉลิมเกียรติ เกรียงศักดิ์ศรี” แม้ศาลฎีกาเห็นด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่า ข้อความส่วนที่เพิ่มเติมไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่ศาลล่างทั้งสองก็วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า ไม่มีผลกระทบถึงพินัยกรรมทั้งฉบับ ข้อความเดิมในพินัยกรรมย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ข้อความส่วนที่ยังมีผลใช้บังคับได้ดังกล่าวแล้ว ย่อมเห็นเจตนาของผู้ทำพินัยกรรมได้โดยชัดแจ้งว่า ต้องการยกทรัพย์สินของผู้ตายให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียว ข้อความในส่วนอื่นในพินัยกรรมที่ระบุทรัพย์สินเป็นข้อ ๆ เป็นเพียงส่วนประกอบให้เห็นว่า ผู้ตายมีทรัพย์สินใดบ้าง หรือมีทรัพย์สินที่ผู้ตายจำได้ในขณะที่กำลังเขียนพินัยกรรมเท่านั้น แม้ในส่วนของทรัพย์สินพิพาทจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายเขียนระบุเพิ่มเติมตอนท้ายโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับ น่าเชื่อว่าเป็นเพราะผู้ตายเพิ่งระลึกนึกได้ว่ามีทรัพย์สินดังกล่าวด้วย แต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของผู้ตายที่ต้องการยกทรัพย์สินของตนเองทั้งหมดซึ่งรวมทั้งทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลย ในการตีความพินัยกรรมศาลย่อมต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของผู้ทำพินัยกรรมเป็นสำคัญ เพราะเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายทำมาหากินได้มาโดยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ย่อมมีสิทธิโดยสมบูรณ์จะยกให้แก่ผู้ใดก็ได้ หาใช่ต้องตีความให้เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นผู้เสียหาย โดยฟังว่าผู้ทำพินัยกรรมมีเจตนายกทรัพย์ให้แก่จำเลยเฉพาะทรัพย์ 11 รายการ ดังที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาไม่ คดีฟังได้ว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมดให้แก่จำเลย ถือเป็นการทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว ทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 ดังนั้น โจทก์ทั้งเจ็ดจึงถูกตัดโดยผลของพินัยกรรมทำให้ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายตามฟ้องจากจำเลยได้ แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยจะสละประเด็นข้อพิพาททั้งหมด คงให้ศาลวินิจฉัยเพียงประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า จำเลยจะต้องแบ่งทรัพย์มรดกที่พิพาทแก่โจทก์ทั้งเจ็ดหรือไม่ เพียงใด ก็ตาม แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งกำหนดให้นายสุนทรเป็นผู้รวบรวมทรัพย์มรดกแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่า ๆ กัน เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดในข้ออื่นก็ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้คดีมีผลเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ