คำสั่งศาลฎีกาที่ 9650/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าขณะทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ส. อ่านพูดหรือเขียนหนังสือไม่ได้ ไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ พินัยกรรมจึงเป็นโมฆะ แต่จำเลยปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ เมื่อพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ขณะทำพินัยกรรม ส. มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พินัยกรรมมิได้ทำต่อหน้า ธ. ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอบ้านดุง พินัยกรรมจึงเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1658 และมาตรา 1705 นั้น แม้มิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่ปัญหาว่าพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองทำถูกต้องตามแบบเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์สามารถยกขึ้นอุทธรณ์ได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของ ส. ประกอบคำเบิกความของ ภ. เจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎรของอำเภอบ้านดุง พยานจำเลยซึ่งเป็นพยานคนกลางแล้ว ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า ส. ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองต่อหน้า ธ. ซึ่งลงนามในพินัยกรรมในฐานะกรมการอำเภอเป็นปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอโดยถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วนตามกฎหมาย พินัยกรรมจึงไม่เป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนางสังวาล ฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน 2547 เป็นโมฆะ และให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 9398 ตำบลอ้อมกอ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี กลับคืนเป็นชื่อนางสังวาล หากจำเลยไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า ได้ความจากนางสมบูรณ์พยานโจทก์ว่า โจทก์มีนิสัยเจ้าชู้ชอบเลี้ยงหญิงสาวและเล่นการพนัน น่าเชื่อว่าเป็นเหตุหนึ่งที่นางสังวาลต้องทำพินัยกรรมเพราะไม่ต้องการให้โจทก์เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดิน และได้ความว่าก่อนทำพินัยกรรม นางสังวาลนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้และถูกทวงถามให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง เรื่องที่จำเลยต่อสู้ว่านางสังวาลขอให้จำเลยไถ่ถอนจำนองและจะยกที่ดินให้ เชื่อว่าเป็นความจริง จำเลยตกลงแต่ยังไม่สามารถชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองและรับโอนที่ดินได้เนื่องจากทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี นางสังวาลจึงแสดงเจตนาทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว และแต่งตั้งนางหนูจันทร์บุตรนางทองคำ พี่สาวตนเป็นผู้จัดการมรดก โดยนางหนูจันทร์ไม่ได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของนางสังวาล น่าเชื่อว่านางหนูจันทร์ทำตามคำสั่งของนางสังวาล โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าขณะทำพินัยกรรม นางสังวาลอ่านพูดหรือเขียนหนังสือไม่ได้ ไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ พินัยกรรมจึงเป็นโมฆะ แต่จำเลยปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่วินิจฉัยแล้วว่านางสังวาลต้องการทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่จำเลย แต่นางสังวาลป่วยเป็นมะเร็งตับขั้นสุดท้าย จึงน่าจะเป็นสาเหตุให้นางสังวาลต้องการให้มีคนกลางซึ่งไม่มีส่วนได้เสียกับที่ดินของตนเป็นพยาน จึงแสดงเจตนาทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง โจทก์และนางสมบูรณ์พยานโจทก์ไม่อยู่ขณะนางสังวาลแสดงเจตนาทำพินัยกรรม ที่โจทก์อ้างว่าขณะนั้นนางสังวาลป่วยหนักไม่มีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ มีน้ำหนักน้อย จำเลยมีนางหนูจันทร์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ขณะทำพินัยกรรมนางสังวาลมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และมีนางสุภาพรเจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎรของอำเภอบ้านดุงเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานสอบถามแล้วนางสังวาลต้องการทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่จำเลย และตั้งนางหนูจันทร์เป็นผู้จัดการมรดก นางสังวาลมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์สามารถทำพินัยกรรมได้ จึงพิมพ์พินัยกรรมให้ตามความประสงค์ แล้วให้นายธเชนทร์ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอบ้านดุงตรวจความถูกต้องก่อนอ่านให้นางสังวาลฟังและให้พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นหลักฐาน นางหนูจันทร์และนางสุภาพรเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับที่ดินของนางสังวาล จึงมีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ขณะทำพินัยกรรมนางสังวาลมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พินัยกรรมมิได้ทำต่อหน้านายธเชนทร์ พินัยกรรมจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 และมาตรา 1705 นั้น แม้มิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่ปัญหาว่าพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองทำถูกต้องตามแบบเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์สามารถยกขึ้นอุทธรณ์ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาพินัยกรรมแล้ว พบว่ามีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนางสังวาลถูกต้องครบถ้วน โดยนายธเชนทร์ลงนามในพินัยกรรมในฐานะกรมการอำเภอเป็นปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอ แม้นางสุภาพรจะเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์สับสนไปว่า นายธเชนทร์ไม่ได้สอบถามวัตถุประสงค์ของนางสังวาลและจัดพิมพ์พินัยกรรมด้วยตนเอง แต่นางสุภาพรได้เบิกความตอบคำถามติงของทนายจำเลยว่า หลังจากให้นายธเชนทร์ตรวจดูพินัยกรรมแล้วได้อ่านพินัยกรรมให้นางสังวาลฟังต่อหน้านายธเชนทร์ นางญาณธร และพยาน การพิมพ์ลายนิ้วมือของนางสังวาลกระทำต่อหน้านายธเชนทร์ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า นางสังวาลทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองต่อหน้ากรมการอำเภอโดยถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วนตามกฎหมาย พินัยกรรมจึงไม่เป็นโมฆะ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า ขณะทำพินัยกรรมนางสังวาลไม่มีสติสัมปชัญญะ การให้นางหนูจันทร์ซึ่งมิใช่บุตรเป็นผู้จัดการมรดก จึงมีพิรุธว่านางหนูจันทร์มีส่วนได้เสียกับเจ้าหน้าที่ในการทำพินัยกรรม การทำพินัยกรรมมิได้ทำต่อหน้านายธเชนทร์ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอบ้านดุง จึงมิชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 และมาตรา 1658 พินัยกรรมจึงเป็นโมฆะ เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไว้ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา โจทก์ฎีกาโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกา จึงไม่มีค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ต้องคืนให้ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share