คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 141/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์รู้ดีอยู่แล้วว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ แต่กลับรับสมอ้างเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของ ป. และนำเช็คพิพาทจาก ก. ภริยาโจทก์ มาฟ้องจำเลยทั้งสอง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยสุจริต ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,724,884 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,724,884 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 มิถุนายน 2557) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเช็คพิพาทลงวันที่ 25 มิถุนายน 2556 สั่งจ่ายเงิน 10,000,000 บาท เป็นเช็คของห้างฯ จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายโดยมิได้ประทับตราสำคัญของห้างฯ จำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยนางปณิดดาได้เช็คพิพาทมาจากนางละเอียด แล้วนางปณิดดานำมามอบให้นางเกษรภริยาโจทก์แล้วนางเกษรมอบให้โจทก์ หลังจากเช็คพิพาทเลยกำหนดชำระเงินไปแล้ว ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 จำเลยที่ 2 ได้สั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 โจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย หลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 นางละเอียด และนางปณิดดาในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 คดีส่วนอาญาดังกล่าว พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ระหว่างโจทก์กับนางปณิดดามีหลักฐานการกู้ยืมเงิน 10,000,000 บาท โดยโจทก์เป็นผู้เขียนสัญญากู้และลงชื่อเป็นผู้ให้กู้ นางปณิดดาลงชื่อเป็นผู้กู้ มีนางเกษรภริยาโจทก์ลงชื่อเป็นพยาน สำหรับนางปณิดดานั้นข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่า ต่อมาถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำคุก รวม 10 ปี ในความผิดฐานฉ้อโกงนายจัด ผู้เสียหาย เป็นเงิน 21 ล้านบาทเศษ โดยอ้างว่าเป็นนายหน้าขายโรงแรมเจบี หาดใหญ่ หากขายได้จะแบ่งเงินกำไรให้ผู้เสียหาย ตามสำเนาคำพิพากษา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์และนางเกษรภริยาโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ได้มอบเงินสด 10,000,000 บาท โดยโจทก์เบิกเงินสดจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาหาดใหญ่ 2,000,000 บาท รวมกับเงินสดที่โจทก์เก็บไว้ที่บ้านอีก 8,000,000 บาท ให้แก่นางปณิดดาไปในวันทำสัญญากู้เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555 แต่นอกจากตามบัญชีเงินฝากของโจทก์และนางเกษรซึ่งเปิดบัญชีเงินฝากไว้ธนาคารเดียวกับโจทก์ ไม่ปรากฏว่ามีการถอนเงิน 2,000,000 บาท จากบัญชีเงินฝากของโจทก์ ดังที่โจทก์อ้างและไม่มีการถอนเงิน 2,000,000 บาท จากบัญชีเงินฝากของนางเกษรแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเหตุที่โจทก์มีเงินสดเก็บไว้ที่บ้านจำนวนมากถึง 8,000,000 บาท เพราะต้องใช้เป็นทุนหมุนเวียนทางธุรกิจ แต่ก็ไม่ได้เบิกความว่าเป็นธุรกิจใดที่ต้องใช้เงินสดหมุนเวียนจำนวนมากเช่นนั้น นอกจากนี้ที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์เป็นผู้เขียนสัญญากู้เอง โดยใช้กระดาษที่หาได้จากที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวในขณะนั้น ซึ่งเดิมนางปณิดดาบ่ายเบี่ยงว่าไม่ต้องทำหลักฐานการกู้แต่โจทก์ยืนยันให้ทำ ส่วนข้อความด้านหลังสัญญากู้ที่ระบุว่ายืม 2,000,000 บาท เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555 แต่ให้ลงว่ายืม 10,000,000 บาท และยืมอีก 4,000,000 บาท เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 (ไม่ได้ทำสัญญา) เป็นรายการที่ผู้อื่นยืมเงินไปไม่เกี่ยวกับนางปณิดดานั้น เห็นว่า โจทก์กับนางเกษรรับว่าเพิ่งรู้จักกับนางปณิดดาได้ประมาณ 1 ถึง 2 ปี เงินที่อ้างว่าขอกู้จำนวนมากถึง 10,000,000 บาท จากสถานะของโจทก์ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนนางเกษรเป็นเจ้าของตลาดและนางปณิดดาเป็นนายหน้าขายที่ดินที่เพิ่งรู้จักกันไม่นาน แต่กลับไม่มีการตระเตรียมการทำสัญญากู้กันเป็นกิจลักษณะ โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์หากระดาษจากใกล้ ๆ ตัวในขณะนั้นเองทางนำสืบของโจทก์ไม่มีการพูดถึงหรือเรียกหลักประกันไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือทรัพย์ ตามสัญญากู้ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย จึงเป็นการผิดวิสัยการกู้ยืมตามปกติธรรมดาอย่างยิ่งส่วนข้อความด้านหลังสัญญากู้ที่โจทก์เบิกความบ่ายเบี่ยงไปว่าข้อความดังกล่าวเป็นหนี้กู้ยืมรายอื่นๆ ไม่เกี่ยวกันนั้น ไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้เลยเพราะเป็นการผิดวิสัยที่จะเขียนเรื่องเงินกู้ของคนอื่นไว้ด้านหลังสัญญากู้ระหว่างโจทก์กับนางปณิดดา ทั้งโจทก์ไม่นำสืบว่าเหตุใดโจทก์จึงต้องทำเช่นนั้น เมื่อโจทก์รับว่าเป็นผู้เขียนข้อความไว้เองว่า ยืมจำนวน 2,000,000บาท เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555 แต่ให้ลงว่ายืม 10,000,000 บาท ทั้งในการกู้เงินจำนวนมากแต่กลับไม่มีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันตามรูปแบบสัญญาซึ่งโจทก์สามารถทำได้ง่าย ๆ เพราะไม่ใช่สัญญาที่มีข้อตกลงและเงื่อนไขพิเศษสลับซับซ้อนที่ต้องให้ทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมายเป็นผู้ดำเนินการ ในการกู้ยืมไม่มีการพูดถึงหรือเรียกหลักประกัน ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่โจทก์กับนางเกษรรับว่าเพิ่งรู้จักกับนางปณิดดา อันผิดวิสัยของการกู้ยืมเงินตามปกติธรรมดาโดยทั่วไปดังวินิจฉัยมาข้างต้นเช่นนี้ ยิ่งทำให้ทางนำสืบของโจทก์ไม่น่าเชื่อว่า โจทก์ให้นางปณิดดากู้เงินไป 10,000,000 บาท เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555 ตามสัญญากู้ แต่กลับทำให้น่าเชื่อว่านางเกษรกับนางปณิดดาจะต้องมีผลประโยชน์ในธุรกิจบางอย่างร่วมกันจึงยอมให้นางปณิดดายืมเงินจำนวนมากได้โดยไม่ต้องทำสัญญากู้ ไม่ต้องมีหลักประกันและไม่คิดดอกเบี้ย เจือสมกับที่นางปณิดดาเบิกความว่า นางปณิดดาเคยประกอบธุรกิจร่วมกับนางเกษรและเคยยืมเงินนางเกษร 2,000,000 บาท เพื่อไปวางมัดจำซื้อที่ดิน โดยไม่ได้ทำหลักฐานการกู้ยืมไว้ ต่อมานางเกษรและนางละเอียดร่วมเป็นนายหน้าขายโรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์ด้วย นางเกษรจึงให้ทำสัญญากู้ ไว้กับโจทก์ เป็นเงิน 10,000,000 บาท เป็นเงินกู้เดิมที่ไม่ได้ทำหลักฐานไว้ข้างต้น 2,000,000 บาท ที่เหลือเป็นการประกันว่านางเกษรจะต้องได้รับส่วนแบ่งค่านายหน้าขายโรงแรมและต่อมายังให้นำเช็คพิพาทมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติม ยิ่งทำให้พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นไปอีกว่าเป็นความจริงดังจำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ ทั้งตามเช็คพิพาทก็เห็นได้ประจักษ์ชัดเจนว่า เป็นเช็คของห้างฯ จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินจำนวนมากถึง 10,000,000 บาท แต่ไม่มีตราประทับของห้างฯ จำเลยที่ 1 ในช่องผู้สั่งจ่าย ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เรียกเก็บเงินไม่ได้เพราะลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่สมบูรณ์ หากเป็นเช็คที่โจทก์อ้างว่านางปณิดดานำมาชำระหนี้เงินกู้จริง โจทก์หรือนางเกษรก็น่าจะต้องสอบถามถึงความเป็นมาและความผิดปกติไม่สมบูรณ์ของลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทดังกล่าวและขอให้ประทับตราสำคัญของห้างฯจำเลยที่ 1 เจ้าของบัญชี แต่ทางนำสืบของโจทก์กลับไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือนางเกษรได้มีการสอบถามถึงความเป็นมาและความผิดปกติของเช็คพิพาทดังกล่าวแต่อย่างใดอันเป็นข้อพิรุธและผิดวิสัยอีกประการหนึ่ง เมื่อฟังประกอบกับพฤติการณ์ของโจทก์และนางเกษรดังวินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของนางปณิดดาถึง 10,000,000 บาท ตามที่ระบุในหลักฐานการกู้ยืมแต่น่าเชื่อว่าเดิมนางปณิดดาเป็นหนี้เงินกู้นางเกษรภริยาโจทก์อยู่ 2,000,000 บาท โดยไม่ได้ทำหลักฐานการกู้ยืมกันไว้ ต่อมาโจทก์เขียนสัญญากู้เงิน ระบุจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ให้จำเลยลงชื่อเป็นผู้กู้โดยโจทก์รับสมอ้างเป็นผู้ให้กู้ ให้นางเกษรเจ้าหนี้ลงชื่อเป็นพยาน ต่อมานางเกษรยังให้นางปณิดดายืมเงินไปอีก 4,000,000 บาท จึงได้ทำบันทึกเพิ่มเติมไว้ด้านหลัง ต่อมานางเกษรเกรงว่าจะไม่ได้รับส่วนแบ่งค่านายหน้าเป็นเงินประมาณ 10,000,000 บาท จากการร่วมกับนางปณิดดาและนางละเอียดขายโรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์และเกรงว่านางปณิดดาจะไม่คืนเงินที่ยืมไปข้างต้น จึงขอให้นางปณิดดานำเช็คมาวางเป็นหลักประกันกับนางเกษร นางละเอียดจึงขอยืมเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 2 นำมามอบให้ ต่อมาการขายโรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์ไม่สำเร็จและนางปณิดดาไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้นางเกษร โจทก์จึงนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินแล้วจึงนำมาฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยโจทก์รู้ดีอยู่แล้วว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ แต่กลับรับสมอ้างเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของนางปณิดดาและนำเช็คพิพาทจากนางเกษรมาฟ้องจำเลยทั้งสอง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริต ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นเช่นกัน ไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นๆ อีก
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท

Share