แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ การกำหนดคุณสมบัติของพนักงานและเหตุที่พนักงานจะต้องพ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (5) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจและพนักงานทุกคนตามวันที่บทกฎหมายดังกล่าวกำหนด กฎหมายดังกล่าวมิใช่เป็นบทกฎหมายกำหนดความผิดที่มีโทษในทางอาญาที่จะต้องใช้ขณะกระทำความผิดและต้องห้ามมิให้ใช้บังคับย้อนหลังไปก่อนการกระทำความผิด
เมื่อมาตรา 9 (5) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับในวันที่ 6 กันยายน 2550 โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยจึงต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าว คือ ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษหรือพ้นระยะเวลาการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษแล้วแต่กรณีเกิน 5 ปี เมื่อโจทก์กระทำความผิดกฎหมายอาญา และคดีถึงที่สุดในวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โจทก์จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นพนักงานตามมาตรา 9 (5) ที่แก้ไขเพิ่มเติม อันเป็นเหตุให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งพนักงานตามมาตรา 11 (3) จำเลยยกเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ได้ คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่ง อัตราค่าจ้างเดิม และนับอายุงานต่อเนื่อง กับจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างเดิมเดือนละ ๔๑,๖๙๒ บาท นับแต่วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมาวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีคำพิพากษาว่าโจทก์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔ ประกอบมาตรา ๓๖๕ (๓) ลงโทษจำคุก ๓ เดือน และปรับ ๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุก ให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๒ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน โจทก์ฎีกา เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอ่านคำสั่งศาลฎีกา ที่ไม่รับฎีกาของโจทก์ คดีถึงที่สุด ต่อมาวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุโจทก์ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๙ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๐ แล้ววินิจฉัยว่า มาตรา ๙ (๕) ที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่า ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษหรือพ้นระยะเวลาการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษแล้วแต่กรณีเกิน ๕ ปี พนักงานของรัฐวิสาหกิจจะต้องมีคุณสมบัติหรือไม่มีลักษณะต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวเมื่อกฎหมายนั้นใช้บังคับ คือต้องไม่เป็นผู้เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่ว่าจะได้รับโทษจริงหรือไม่ในช่วงเวลาที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ กรณีมิใช่การบังคับใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังเป็นโทษแก่โจทก์ และมิใช่การกำหนดโทษในทางอาญา ระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ ๑ ข้อ ๔๐ กำหนดให้พนักงานพ้นสภาพการเป็นพนักงานด้วยสาเหตุต่าง ๆดังนี้ ๔๐.๔ เป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตินี้ย่อมถือว่าระเบียบดังกล่าวถูกแก้ไขเพิ่มเติมไปในตัว หาจำต้องแก้ไขเพิ่มเติมในข้อระเบียบส่วนนี้อีกไม่ เพราะพระราชบัญญัติใหม่ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมถือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติเดิมจึงไม่จำต้องแจ้งให้แก่พนักงานของจำเลยทราบ ดังนั้นการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุโจทก์ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๑๘ และระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ ๑ ข้อ ๔๐.๔ จึงชอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างฉบับลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ จำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยจะยกเหตุที่โจทก์ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นพนักงานตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๙ (๕) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๐ มาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ การกำหนดคุณสมบัติของพนักงานและเหตุที่พนักงานจะต้องพ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งมาตรา ๙ (๕) ที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดคุณสมบัติพนักงานและเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งพนักงานเพื่อใช้เป็นแนวทางเดียวกันจึงมีผลใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจและพนักงานโดยทั่วถึงกันตามวันที่บทกฎหมายดังกล่าวกำหนด มิใช่เป็นบทกฎหมายกำหนดความผิดที่มีโทษในทางอาญาที่จะต้องใช้ขณะกระทำความผิดและต้องห้ามมิให้ใช้บังคับย้อนหลังไปก่อนการกระทำความผิดดังที่โจทก์อุทธรณ์ เมื่อมาตรา ๙ (๕) ที่แก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๐ อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ย่อมมีผลใช้บังคับแก่จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานด้วย กล่าวคือโจทก์ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษ หรือพ้นระยะเวลาการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษแล้วแต่กรณีเกิน ๕ ปี หากเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙ (๕) จะเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งพนักงานตามมาตรา ๑๑ (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อได้ความว่าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิพากษาว่าโจทก์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๔ ประกอบมาตรา ๓๖๕ (๓) ลงโทษจำคุก ๓ เดือน และปรับ ๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๒ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ต่อมาวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๔ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอ่านคำสั่งศาลฎีกาที่ไม่รับฎีกาของโจทก์ คดีถึงที่สุด โจทก์จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นพนักงานตามมาตรา ๙ (๕) ที่แก้ไขเพิ่มเติม อันเป็นเหตุให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งพนักงานตามมาตรา ๑๑ (๓) ดังนั้นจำเลยจึงยกเหตุที่โจทก์ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นพนักงานตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๙ (๕) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๐ มาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ได้ คำสั่งเลิกจ้างชอบแล้วจึงไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.