แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อสัญญาขายใบยาสูบได้กำหนดเวลาชำระหนี้เงินทดรองล่วงหน้าที่ค้างชำระอยู่ไว้เป็นงวดๆตามฤดูการผลิตใบยาสูบการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายละเลยเสียไม่ได้ชำระเงินทดรองล่วงหน้าที่รับไปให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนอันเป็นการผิดสัญญาและในกรณีผิดสัญญาสิทธิของคู่สัญญาที่จะบังคับเอาแก่คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญาประการหนึ่งก็คือบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติการชำระหนี้ตามมูลหนี้นั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินทดรองล่วงหน้าให้แก่โจทก์ได้แม้โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2524 จำเลยตกลงนำใบยาสูบแห้งที่ผลิตได้มาขายให้แก่โจทก์ โดยขอให้โจทก์จ่ายเงินทดรองเป็นค่าซื้อใบยาสูบแห้งล่วงหน้าให้แก่จำเลยก่อน เมื่อนำใบยาสูบแห้งมาขายให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยยินยอมให้โจทก์หักเงินค่าใบยาสูบแห้งชำระเงินทดรองที่จำเลยรับไปและยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในเงินทดรองที่จำเลยรับไปในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีตั้งแต่วันที่จำเลยรับเงินไปจากโจทก์ โจทก์ตกลงและจ่ายเงินทดรองให้จำเลยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2524 เป็นเงิน 2,500,000 บาทเมื่อจำเลยได้รับเงินทดรองไปแล้ว จำเลยนำใบยาสูบแห้งมาขายให้แก่โจทก์หลายครั้ง เมื่อหักเงินทดรองแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2528 เป็นเงินทั้งสิ้น 1,715,688.47 บาทโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน1,715,688.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน1,425,509.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2524 โจทก์ติดต่อซื้อใบยาสูบแห้งจากจำเลยโดยจ่ายเงินทดรองล่วงหน้าให้โจทก์ไม่เคยขอซื้อใบยาสูบแห้งจากจำเลยและไม่ได้บอกเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 367,771.60 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 70,941.60 บาทนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2529 และของต้นเงิน 367,771.60 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2530เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยแต่เพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามสัญญาเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 1 และ 2 เป็นนิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของโจทก์และจำเลย อันมีผลผูกพันให้จำเลยชำระเงินทดรองล่วงหน้าซึ่งยังค้างโจทก์อยู่ตั้งแต่ปี 2524 เป็นเงิน918,660 บาท จำเลยชำระงวดแรกในฤดูการผลิตใบยาสูบ 26/27 เป็นเงิน325,000 บาท ชำระงวดที่สองในฤดูการผลิตใบยาสูบ 27/28 เป็นเงิน296,830 บาท และชำระงวดที่สามในฤดูการผลิตใบยาสูบ 28/28 เป็นเงิน396,830 บาท ในวงเงิน 918,660 บาท โจทก์จะไม่คิดดอกเบี้ยเห็นได้ว่า ตามสัญญาดังกล่าวได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้เป็นงวด ๆ ตามฤดูการผลิตใบยาสูบ เมื่อจำเลยละเลยเสียไม่ได้ชำระเงินทดรองล่วงหน้าให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนอันเป็นการผิดสัญญา ในกรณีผิดสัญญาสิทธิของคู่สัญญาที่จะบังคับเอาแก่คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญาประการหนึ่งก็คือบังคับให้คู่สัญญาปฎิบัติการชำระหนี้ตามมูลหนี้นั้น กรณีนี้โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินทดรองล่วงหน้าให้แก่โจทก์ได้ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างมาในฎีกานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 367,771.60บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน70,941.60 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2529 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม2529 และของต้นเงิน 367,771.60 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2530นั้น เป็นการเกินไปกว่าคำขอให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง(วันที่ 27 กรกฎาคม 2531) ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 367,771.60 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2