คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8532/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1066 บัญญัติห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ซึ่งการฝ่าฝืนค้าขายแข่งกับห้างหุ้นส่วนมีกฎหมายบัญญัติความรับผิดของผู้ฝ่าฝืนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 1067 วรรคหนึ่งและวรรคสาม โดยวรรคหนึ่งบัญญัติให้ห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมดหรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น และวรรคสามบัญญัติไว้ความว่า การที่ห้างหุ้นส่วนเรียกเอาผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนนั้นไม่ลบล้างสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายในอันจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วน ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติกรณีฝ่าฝืนนี้ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจบังคับผู้ฝ่าฝืนให้หยุดประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนนั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตได้รับความเสียหาย จึงต้องยกคำขอของโจทก์ทั้งห้าที่ขอให้จำเลยทั้งสองหยุดประกอบกิจการในบริษัท ท. อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ และโจทก์ทั้งห้า 72,828,557 บาท และนับถัดจากวันฟ้องปีละ 72,828,557 บาท จนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดดำเนินกิจการผลิตปุ๋ยซึ่งมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ กับให้จำเลยทั้งสองหยุดการดำเนินกิจการผลิตปุ๋ยซึ่งมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ เดือนละ 200,000 บาท นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2548 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดดำเนินการอันเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ และให้จำเลยทั้งสองหยุดดำเนินกิจการในบริษัทไทยไบโอเทค เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด อันเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งห้า เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งห้าชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งห้ากับจำเลยทั้งสองและผู้อื่นอีก 2 คน รวมเป็น 9 คน เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2545 ด้วยเงินลงทุน 5,000,000 บาท สำนักงานแห่งใหญ่ของห้างหุ้นส่วนตั้งอยู่ที่เลขที่ 23/1 หมู่ที่ 2 ตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี มีจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ตามหนังสือรับรองระบุว่า ห้างหุ้นส่วนประกอบกิจการผลิตและจำหน่าย ตัวแทนการค้าปุ๋ยทุกชนิด รวมทั้งสินค้าจำพวกเคมี หรือสินค้าชีวภาพทุกชนิดด้วย ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 จำเลยทั้งสองกับผู้อื่นอีก 5 คน รวมเป็น 7 คน เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไทยไบโอเทค เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 กรรมการบริษัทระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2548 คือจำเลยทั้งสอง ระหว่างวันที่ 18 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 คือนางรัตนา ภริยาจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว และระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2549 คือนางรัตนากับจำเลยที่ 1 ทุนจดทะเบียนระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 เป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาท ซึ่ง ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2548 จำเลยทั้งสองและนางรัตนามีหุ้นอยู่คนละ 25,000 หุ้น รวม 75,000 หุ้น จากจำนวน 100,000 หุ้น และทุนจดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2549 เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท สำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2547 ตั้งอยู่เลขที่ 65 หมู่ที่ 12 ตำบลห้วยหมอนทอง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2547 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2549 ตั้งอยู่เลขที่ 27/9 หมู่ที่ 12 ตำบลเดียวกัน ตามหนังสือรับรองระบุว่า บริษัทประกอบกิจการโรงงานผลิตปุ๋ย ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ยาบำรุงและสัตว์ทุกชนิด เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เป็นตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยทุกชนิด รวมทั้งสินค้าจำพวกเคมี และสินค้าชีวภาพทุกชนิดด้วย ตามคำขอจดทะเบียนบริษัทและสำเนาบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้น บริษัทตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยด้วย โดยทางราชการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้บริษัทเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2548 เริ่มประกอบกิจการโรงงานวันที่ 5 เมษายน 2548 ตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2549
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ ประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1066 เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ มีเพียงจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ทั้งห้าในฐานะหุ้นส่วน จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ได้ ตามมาตรา 1067 ส่วนค่าสินไหมทดแทนนั้น แม้โจทก์ทั้งห้านำสืบไม่ได้โดยชัดแจ้งว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ ได้รับความเสียหายเป็นเงินเท่าใดก็ตาม ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า ทั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์และบริษัทไทยไบโอเทค เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด มีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ จึงไม่ได้รับความเสียหายนั้น โจทก์ทั้งห้าฟ้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย มิได้ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเงินกำไรที่หาได้ ดังนี้ แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์และบริษัทไทยไบโอเทค เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด จะมีผลประกอบการขาดทุนหรือจำเลยทั้งสองไม่ได้รับเงินปันผลจากกำไรของบริษัทไทยไบโอเทค เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด หาทำให้จำเลยทั้งสองไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการฝ่าฝืนประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ ไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองก็ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องหยุดประกอบกิจการในบริษัทไทยไบโอเทค เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด อันเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1066 บัญญัติห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ซึ่งการฝ่าฝืนค้าขายแข่งกับห้างหุ้นส่วนมีกฎหมายบัญญัติความรับผิดของผู้ฝ่าฝืนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1067 วรรคหนึ่งและวรรคสาม โดยวรรคหนึ่งบัญญัติให้ห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมดหรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น และวรรคสามบัญญัติไว้ความว่า การที่ห้างหุ้นส่วนเรียกเอาผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนนั้นไม่ลบล้างสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายในอันจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วน ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติกรณีฝ่าฝืนนี้ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจบังคับผู้ฝ่าฝืนให้หยุดประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนนั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตได้รับความเสียหาย ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองหยุดดำเนินกิจการในบริษัทไทยไบโอเทค เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด อันเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ ซึ่งก็คือให้หยุดประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ขอให้จำเลยทั้งสองหยุดประกอบกิจการในบริษัทไทยไบโอเทค เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยาม ไบโอคัลเชอร์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share