แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นนิติบุคคล จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขับรถยนต์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยขับรถบรรทุกน้ำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขับรถคันดังกล่าวโดยประมาทชนกับรถยนต์กระบะของผู้ฟ้องคดี ทำให้ได้รับความเสียหายและบุตรชายของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีโดยการขับรถ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป หาใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๗/๒๕๕๗
วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลปกครองอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลจังหวัดศรีสะเกษ
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๔ นายภัย พิมพ์วงษา ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลสำโรง ที่ ๑ นายสมัค ยานกาย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๖๖/๒๕๕๔ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบิดาของเด็กชายอภิศักดิ์ พิมพ์วงษา ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ขับรถบรรทุกน้ำสิบล้อของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งบรรทุกน้ำเต็มคันรถไปตามถนนสายอุทุมพรพิสัย – ศรีสะเกษ จากอำเภออุทุมพรพิสัยมุ่งหน้าไปทางสี่แยกส้มป่อย ตำบลสำโรง ถึงที่เกิดเหตุบริเวณหน้าร้านสง่างามการเกษตร ตำบลสำโรง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ขณะนั้นผู้ฟ้องคดีขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บ – ๙๗๓๒ สุรินทร์ จอดอยู่ทางด้านหน้าบริเวณกึ่งกลางของถนนและเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวขวาไว้เพื่อรอจะเลี้ยวเข้าไปในร้านสง่างามการเกษตร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขับรถบรรทุกน้ำมาด้วยความเร็วสูงเกินสมควร ทำให้ไม่สามารถหยุดห้ามล้อได้ทัน จึงได้พุ่งชนเข้าที่ด้านท้ายของรถยนต์คันที่ผู้ฟ้องคดีขับอย่างแรง เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย และเด็กชายอภิศักดิ์ พิมพ์วงษา ซึ่งเป็นบุตรของผู้ฟ้องคดีและนายบุญเดช เมืองจันทร์ ถึงแก่ความตาย ต่อมาศาลจังหวัดศรีสะเกษพิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ มาตรา ๓๐๐ และมาตรา ๓๙๐ ให้จำคุก ๒ ปี ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้รับการเยียวยาหรือชดใช้ค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าปลงศพ
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ทำบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ ผลแห่งสัญญานี้ทำให้สิทธิในการฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีที่จะฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างย่อมระงับสิ้นไป
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้มิใช่คดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่ง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนัยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามนัยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับการร้องขอรับการสนับสนุนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคจากวัดบ้านแก โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ขับรถบรรทุกน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เต็มคันรถไปตามถนนสายอุทุมพรพิสัย – ศรีสะเกษ มุ่งหน้าไปทางสี่แยกส้มป่อย ตำบลสำโรง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ถึงบริเวณหน้าร้านสง่างามการเกษตร ตำบลสำโรง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ขับรถคันดังกล่าวเข้าพุ่งชนรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน บ – ๙๗๓๒ สุรินทร์ ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีผู้ฟ้องคดีเป็นคนขับจอดอยู่ในทางด้านหน้าบริเวณกึ่งกลางถนนและเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวขวาไว้รอเพื่อเลี้ยวเข้าไปในร้านสง่างามการเกษตร เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย และเด็กชายอภิศักดิ์ พิมพ์วงษา บุตรของผู้ฟ้องคดี และนายบุญเดช เมืองจันทร์ ถึงแก่ความตาย การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ขับรถบรรทุกน้ำให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีขับรถบรรทุกน้ำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เป็นการบริการสาธารณะเกี่ยวกับการให้มีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และการเกษตร ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมาตรา ๖๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครอง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถบรรทุกน้ำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แล้วเกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีเป็นเหตุให้บุตรของผู้ฟ้องคดีและนายบุญเดช เมืองจันทร์ ถึงแก่ความตาย กรณีจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการให้บริการสาธารณะเกี่ยวกับการให้มีน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค เมื่อมีการกล่าวหาว่าได้กระทำละเมิดดังกล่าวอันเกี่ยวเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายอภิศักดิ์ พิมพ์วงษา ผู้ตาย ได้ทำบันทึกต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ตกลงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง กรณีบุตรชายถึงแก่ชีวิตเป็นเงิน๑๐๐,๐๐๐ บาท จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จำนวน ๗๐,๐๐๐ บาท และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นสัญญาในทางแพ่ง ซึ่งผลของการทำข้อตกลงดังกล่าว เป็นเหตุให้มูลละเมิดระงับสิ้นไป คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดศรีสะเกษพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบิดาของผู้ตายได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นการฟ้องเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐก็จริง แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องได้ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ขับรถบรรทุกสิบล้อของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งบรรทุกน้ำเต็มคันรถแล้วไปชนรถของผู้ฟ้องคดีเป็นเหตุให้บุตรของผู้ฟ้องคดีและผู้เสียหายรายอื่นถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บหลายรายและได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ โดยเรียกร้องค่าปลงศพและค่าเสียหาย แล้วจึงมาฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการกระทำทางกายภาพ คือ การขับรถ มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ หรือคำสั่งทางปกครอง หรือสัญญาทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” อันเป็นการกำหนดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดอันมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขับรถยนต์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยขับรถบรรทุกน้ำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขับรถคันดังกล่าวโดยประมาทชนกับรถยนต์กระบะของผู้ฟ้องคดี ทำให้ได้รับความเสียหายและบุตรชายของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีโดยการขับรถ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป หาใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายภัย พิมพ์วงษา ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลสำโรง ที่ ๑ นายสมัค ยานกาย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ