แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเป็นอำนาจของศาลที่จะบังคับโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องในฐานะพนักงานอัยการมีอำนาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา
การที่จำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และบรรดาเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จะต้องขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2583 มาตรา 27, 91 วรรคหนึ่ง และมาตรา 94 แต่คดีนี้ศาลและผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 อีกทั้งค่าปรับก็มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย แต่การชำระเงินค่าปรับหรือการบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านเช่นเดียวกับหนี้เงินในคดีแพ่ง มิฉะนั้นแล้วการลงโทษทางอาญาจะไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายอาญาจัดเป็นกฎหมายมหาชนว่าด้วยความผิดและโทษทางอาญาเป็นบทบัญญัติถึงความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับรัฐ ทั้งการกระทำความผิดนั้นยังได้ชื่อว่ากระทบกระเทือนต่อมหาชนเป็นส่วนรวม จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติล้มละลายซึ่งผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูก (1) (2) (4)) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 10 เดือน รวม 7 กระทง ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 210,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 70 เดือน จำเลยทั้งสองนำสืบรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์บางส่วนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 140,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 46 เดือน 20 วัน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน
วันที่ 20 สิงหาคม 2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เรียกเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ของจำเลยที่ 1 (ผู้คัดค้าน) และผู้แทนของจำเลยที่ 1 มาดำเนินการไต่สวน และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรับดำเนินการตามคำร้องขออายัดบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 แล้วส่งเงินชำระค่าปรับตามคำพิพากษาต่อศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 28, 29 ต่อไป
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตกแก่ผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 หากผู้ร้องประสงค์ที่จะดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จะต้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อผู้คัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้ผู้ร้องดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ โดยไม่ต้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านก่อน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า การที่ผู้ร้องจะดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อผู้คัดค้านหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาอ้างว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเป็นการตีความต้องตรงตามตัวบทโดยเคร่งครัดเท่านั้น แต่มิได้วินิจฉัยว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องดำเนินการบังคับคดีจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขัดต่อมาตรา 22, 109 และ 110 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 เพราะแม้ค่าปรับคดีอาญาเป็นโทษทางอาญา และการบังคับคดีเป็นการบังคับโทษตามประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม แต่เป็นการบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ต้องอยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 109 จึงไม่อาจนำเงินที่รวบรวมได้ในคดีล้มละลายไปชำระค่าปรับในคดีอาญาได้นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย คำพิพากษาของศาลที่ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 140,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาดังกล่าว การบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) (4) เป็นโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ลงแก่ผู้กระทำความผิดที่ระบุไว้โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 (4) การบังคับคดีลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นอำนาจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 246, 247 และ 248 เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า” แต่ในการยึดทรัพย์อาจต้องมีผู้นำชี้และนำยึด อีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น ผู้ร้องในฐานะพนักงานอัยการที่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 14 (7) จึงเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอาญาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเต็มตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้ร้องจะต้องขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 จำเลยที่ 1 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วนั้น ปรากฏว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม” มาตรา 91 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์…” และมาตรา 94 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ถ้ามูลหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม…” ตามบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่ต้องขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายคงมีเฉพาะเจ้าหนี้ซึ่งมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนลูกหนี้ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นแต่คดีนี้ศาลและผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 อีกทั้งค่าปรับก็มิใช่หนี้ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายดังกล่าว หากจะตีความตามที่ผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้าน ก็ไม่มีกฎหมายใดมาสนับสนุน ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลายก็มีเจตนารมณ์ที่บัญญัติขึ้นเพื่อจัดการชำระสะสางหนี้สินของบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวเท่านั้น แม้ได้ความว่าค่าปรับเป็นเงินก็ตาม แต่การชำระเงินค่าปรับหรือการบังคับโทษปรับเป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอาญาที่จะต้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเต็มจำนวนตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเช่นเดียวกับหนี้เงินในทางแพ่ง มิฉะนั้นแล้วการลงโทษทางอาญาจะไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายอาญาจัดเป็นกฎหมายมหาชนว่าด้วยความผิดและโทษอาญาเป็นบทบัญญัติถึงความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับรัฐ ทั้งการกระทำความผิดนั้นยังได้ชื่อว่ากระทบกระเทือนต่อมหาชนเป็นส่วนรวม จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติล้มละลายซึ่งผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน