แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยกับพวกวางแผนขับรถยนต์แท็กซี่ชนรถยนต์ปิกอัพของผู้เสียหาย แล้วลงจากรถเรียกค่าเสียหายจากผู้เสียหายอ้างว่าเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ขอเรียกเพียง 5,000 บาท ผู้เสียหายต่อรอง พวกของจำเลย พูดขู่ว่าหากพูดไม่รู้เรื่องจะเรียกตำรวจ ผู้เสียหายยอมจ่ายเงินให้ 500 บาท แล้วจำเลยกับพวกแยกย้ายหลบหนีไปทันที ดังนั้น การที่จำเลยขู่ว่าจะเรียกเจ้าพนักงานตำรวจมา จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ แต่เป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้เสียหาย เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบเงินให้ ถือได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 337
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 (ที่ถูก 337 วรรคแรก), 83 จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายเข็มชาติ ขับรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 6 ท – 4967 กรุงเทพนหานคร มีจำเลยนั่งมาด้วย ได้เฉี่ยวชนรถยนต์ปิคอัพของนางราตรี ผู้เสียหายที่ขับตามหลังมา นายเข็มชาติกับผู้เสียหายลงจากรถไปดูสภาพรถยนต์ทั้งสองคัน จำเลยลงตามหลังมาบอกว่าค่าเสียหายประมาณ 10,000 บาท ผู้เสียหายส่งมอบให้ 500 บาท จำเลยรับไปแล้วก็แยกย้ายกันกลับไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายกับนางสาวสุมารินทร์ บุตรผู้เสียหาย เป็นพยานเบิกความว่า ขณะผู้เสียหายขับรถยนต์ปิคอัพมาถึงทางลงทับกวาง นายเข็มชาติขับรถแท็กซี่วิ่งตามหลังมาเบียดชนท่อไอเสียของรถผู้เสียหาย กันชนของรถแท็กซี่ร่วงมีเชือกผูกไว้ ผู้เสียหายกับนายเข็มชาติลงไปดู โดยนายเข็มชาติกล่าวหาผู้เสียหายว่าเป็นฝ่ายขับรถเบียดรถแท็กซี่ หากพูดกันไม่รู้เรื่องจะเรียกผู้การ ผู้เสียหายมองไปที่รถแท็กซี่เห็นจำเลยนั่งอยู่ และลงมาพูดคุยด้วยโดยพูดทำนองว่าค่าเสียหายเป็นหมื่นบาท หากไปส่งรถไม่ทันจะถูกปรับและไม่ได้ขับต่อไปขอเงิน 5,000 บาท ผู้เสียหายว่าไม่มี จำเลยต่อรองเหลือ 3,000 บาท ผู้เสียหายบอกว่ามี 1,000 กว่าบาท นายเข็มชาติพูดขู่อีกหลายอย่าง หากพูดไม่รู้เรื่องจะเรียกตำรวจมา ผู้เสียหายให้นางสาวสุมารินทร์ไปตามตำรวจทางหลวงแล้วบอกว่าจะให้ 500 บาท จากนั้นก็ควักเงิน 500 บาทให้ จำเลยรับไปแล้วต่างคนต่างแยกย้ายกัน ส่วนนางสาวสุมารินทร์เห็นผู้เสียหายไปพูดคุยกับนายเข็มชาติและจำเลย แล้วผู้เสียหายส่งเงิน 500 บาท ให้จำเลย จากนั้นผู้เสียหายขับรถยนต์ต่อมาถึงบริเวณสะพานจะเข้าจังหวัดสระบุรี ใกล้ห้างสรรพสินค้าโลตัส จึงเห็นรถแท็กซี่จอดอยู่ โดยมีรถกระบะสีน้ำเงินจอดอยู่ด้านหน้า ผู้เสียหายจอดรถเรียกนายสมพงคนขับรถกระบะมา จำเลยรีบขึ้นรถแท็กซี่ขับออกไปโดยนายเข็มชาติวิ่งขึ้นตามไปด้วย ดังนี้ เห็นว่า การที่จำเลยกับพวกขับรถแท็กซี่ชนกับรถของผู้เสียหายและรถกระบะอีกคันในเวลาต่อมา ลักษณะการชนคล้ายกันนับว่าเป็นข้อพิรุธอย่างยิ่ง นายเข็มชาติเรียกร้องให้ผู้เสียหายรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอ้างว่าฝ่ายผู้เสียหายเฉี่ยวชนรถของตน และอ้างว่าหากพูดกันไม่รู้เรื่องจะเรียกผู้การมา ถือได้ว่าเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบเงินโดยขู่เข็ญว่าจะเรียกผู้การซึ่งหมายถึงให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีที่เป็นอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงต่อผู้เสียหาย แม้จำเลยลงมาพูดคุยด้วยวาจาที่สุภาพไม่มีลักษณะของการข่มขืนใจก็ตาม เมื่อผู้เสียหายมอบเงิน 500 บาท แล้ว จำเลยรีบไปแล้วก็พากันแยกย้ายทันที แสดงให้เห็นว่าจำเลยกับนายเข็มชาติร่วมกันวางแผนมาแต่แรกโดยใช้กลอุบายให้ดูแนบเนียนว่าเป็นเรื่องเกิดอุบัติเหตุและใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ครั้นเมื่อผู้เสียหายมาพบการกระทำของจำเลยกับพวกในลักษณะเดียวกันอีกครั้งภายในเวลากระชั้นชิดต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกก็พากันขึ้นรถแท็กซี่คันดังกล่าวหลบหนีไป จึงเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นว่า เหตุที่รถของจำเลยกับพวกเฉี่ยวชนรถยนต์ของผู้เสียหายนั้น เป็นการจงใจกระทำของจำเลยกับพวกโดยเฉพาะเจาะจงเพื่อจะได้อ้างเป็นเหตุให้เรียกทรัพย์สินจากเหยื่อ ดังนั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยพูดว่าหากตกลงไม่ได้จะเรียกเจ้าพนักงานตำรวจ ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ แต่เป็นการขู่เข็ญผู้เสียหาย คดีฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่จำเลยอันเป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น