คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7002/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบต่อสู้ว่ามารดาโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยและ ล. ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินและไม่ทราบว่าเป็นเอกสารปลอม จำเลยสำคัญผิดไปว่าเป็นเอกสารที่มีอยู่จริง ทำให้จำเลยไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคแรก จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมหรือไม่ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองต้นฉบับหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน แต่ในการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยกลับไม่อ้างสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นพยานเพื่อให้ศาลเชื่อว่ามีสภาพเก่าและได้มีการทำขึ้นมานานแล้ว จำเลยเพิ่งอ้างส่งมาพร้อมฎีกาหลังจากมีกรณีพิพาทถึง 3 ปีเศษ ถือได้ว่าเป็นการจงใจที่จะไม่อ้างต้นฉบับสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นพยานมาแต่ต้นซึ่งทำให้โจทก์เสียโอกาสในการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร จึงไม่อาจรับฟังต้นฉบับหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นพยานหลักฐานได้
1/1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก จำคุก 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ข้อหาปลอมเอกสาร
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ โจทก์เป็นบุตรของนายสำราญกับนางต่อม จำเลยกับนายโล้น เป็นสามีภรรยากัน เดิมนางต่อมเป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท หลังจากนั้นจำเลยกับนายโล้นครอบครองทำประโยชน์ ต่อมานายสำราญกับนางต่อมและนายโล้นถึงแก่ความตาย เมื่อปี 2547 โจทก์ร้องขอความเป็นธรรมต่อที่ว่าการอำเภอหันคาให้ช่วยเหลือ โดยอ้างว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลย นายสำราญกับนางต่อมมอบสิทธิครอบครองที่ดินให้จำเลยกับนายโล้นครอบครองทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อโจทก์ไปขอไถ่ที่ดิน จำเลยไม่คืนที่ดินให้แก่โจทก์ ปลัดอำเภอหันคาเชิญจำเลยมาพบ จำเลยให้ถ้อยคำต่อปลัดอำเภอหันคาว่า นางต่อมขายที่ดินแก่จำเลยกับนายโล้นแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นในการทำหนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นเอกสารปลอมและเชื่อโดยสนิทใจว่าเอกสารดังกล่าวมีอยู่จริง จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง เห็นว่า จำเลยฎีกาว่าได้นำเอกสารหมาย จ.4 ไปใช้โดยสำคัญผิดว่ามีเอกสารดังกล่าวอยู่จริงทำให้จำเลยไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคแรก แต่คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบว่านางต่อมทำหนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 กับจำเลยและนายโล้น จำเลยมิได้นำสืบข้อเท็จจริงว่าจำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่ามีเอกสารหมาย จ.4 อยู่จริง ทั้งจำเลยมิได้ยกปัญหาในข้อนี้ขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ แต่เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ขึ้นฎีกา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าลายพิมพ์นิ้วมือของนางต่อมในต้นฉบับหนังสือสัญญาการซื้อขายท้ายฎีกากับลายพิมพ์นิ้วมือในสำเนาสัญญาเช่ากระบือเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 เหมือนกัน ทั้งเนื้อกระดาษของต้นฉบับหนังสือสัญญาการซื้อขายเก่ามีมานานหลายสิบปีแล้ว โจทก์อ้างว่ากู้ยืมเงินจำเลย 500 บาท แต่เบิกความว่าขอยืมเงินนายเสนาะ 2,000 บาท มาไถ่ที่ดิน ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3 ว่าโจทก์ขอยืมเงินนายเสนาะมาซื้อที่ดินคืนจากจำเลย และพยานโจทก์มีพิรุธ เห็นว่า โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานว่า นางต่อมเคยพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือในสำเนาสัญญาเช่ากระบือเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 โดยมีนางป้อมเบิกความสนับสนุนว่า นางต่อมได้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารดังกล่าวจริง ส่วนจำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านว่าลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 มิใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของนางต่อม ทั้งยังกล่าวอ้างมาในฎีกาว่าลายพิมพ์นิ้วมือของนางต่อมในเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 เหมือนกับต้นฉบับสัญญาซื้อขายท้ายฎีกา โดยยืนยันว่านางต่อมได้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือลงในเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 จริง เมื่อพิเคราะห์เอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 แล้ว เห็นได้ว่าลายพิมพ์นิ้วมือในช่องผู้ขายตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่เหมือนกับลายพิมพ์นิ้วมือของนางต่อมในเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ทั้งโจทก์ยังมีนายละเมียด ซึ่งจำเลยรับว่าได้ลงชื่อเป็นพยานในเอกสารหมาย จ.4 มาเป็นพยานเบิกความว่า ไม่เคยลงชื่อเป็นพยานในเอกสารหมาย จ.4 สนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ว่า ลายพิมพ์นิ้วมือในช่องผู้ขายในต้นฉบับหนังสือสัญญาการซื้อขายท้ายฎีกาไม่เหมือนกับลายพิมพ์นิ้วมือของนางต่อมในเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 และพยานโจทก์มิได้เป็นพิรุธตามที่จำเลยฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าเนื้อกระดาษในต้นฉบับหนังสือสัญญาการซื้อขายท้ายฎีกามีสภาพเก่าแสดงว่ามีมานานหลายสิบปีแล้ว เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองต้นฉบับหนังสือสัญญาการซื้อขาย ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยสามารถนำมาอ้างเป็นพยานให้ศาลเชื่อได้ว่ามีมานานแล้ว แต่จำเลยหาได้อ้างเป็นพยานไม่ กลับเพิ่งอ้างส่งมาพร้อมฎีกา หลังจากมีกรณีพิพาทถึง 3 ปีเศษ พฤติการณ์ถือว่าเป็นการจงใจที่จะไม่อ้างต้นฉบับเป็นพยานต่อศาล และเป็นการทำให้โจทก์เสียโอกาสในการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารต้นฉบับหนังสือสัญญาการซื้อขายที่จำเลยแนบมาท้ายฎีกา จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ส่วนที่โจทก์กับนายเสนาะเบิกความว่า โจทก์ขอกู้ยืมเงินนายเสนาะ 2,000 บาท เพื่อนำเงินมาไถ่ที่ดินจากจำเลย อันเป็นการสอดคล้องกับหนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าสำเนาหนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 เป็นเอกสารปลอม การที่โจทก์จะไปขอกู้ยืมเงินจากนายเสนาะเป็นจำนวนเท่าใด จึงหาใช่ข้อสาระสำคัญไม่ พยานโจทก์ฟังได้ว่าสำเนาหนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 เป็นเอกสารปลอม และเมื่อโจทก์อ้างว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของนางต่อม การที่จำเลยปลอมและใช้หนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ปลอมย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทนางต่อมได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษฐานใช้หนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ปลอมมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share