แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินมีโฉนดโดยเสน่หาแก่โจทก์โดยจะนำไปจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินภายในกำหนด 7 วัน แต่เมื่อการให้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 29323 ถึง 29328 แขวงบางกะปิ(ลาดพร้าวฝั่งเหนือ)เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร รวม 6 แปลง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2530จำเลยทำสัญญาให้ที่ดินดังกล่าวโดยเสน่หาแก่โจทก์ โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้ง 6 แปลง นับแต่วันยกให้มาจนบัดนี้ จำเลยสัญญาว่าจะไปจดทะเบียนการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันทำสัญญา เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่ไปทำการจดทะเบียนการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนการโอนที่ดินทั้ง 6 แปลงดังกล่าวแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนการโอนที่ดินดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนการโอนที่พิพาทโฉนดเลขที่ 29323 ถึง 29328 แขวงบางกะปิ(ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่อ้างว่าไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยทำสัญญายกที่ดินมีโฉนดให้โจทก์โดยเสน่หาแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ หากฟังว่าเป็นคำมั่นจะให้โจทก์ก็ฟ้องบังคับไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 และมาตรา 526 โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหลอกให้จำเลยทำสัญญายกที่ดินให้โจทก์ ความจริงจำเลยต้องการขายที่ดิน โจทก์จึงอ้างว่าจะไปหาคนมาซื้อให้เพื่อความสะดวกในการขาย โจทก์กับพวกให้จำเลยทำสัญญายกที่พิพาท 6 แปลง ให้โจทก์เพื่อไปแสดงต่อผู้จะซื้อเพื่อผู้จะซื้อจะได้มอบเงินค่าที่ดินแก่จำเลย จำเลยจึงทำสัญญายกที่ดินให้แก่โจทก์จำเลยไม่เคยมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์แต่อย่างใด
จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2533 ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะสัญญาให้ตามฟ้องมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ขอให้ศาลพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความก่อน เพราะสัญญาให้ตามฟ้องเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทนดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ชำระหนี้ตอบแทนโดยการไปจดทะเบียนให้โจทก์ตามข้อตกลง จำเลยยืมเงินจากโจทก์แล้วทำสัญญายกที่ดินให้ เพื่อตีใช้หนี้อันเป็นการหลอกลวงโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า สัญญาตามฟ้องเป็นโมฆะ โจทก์จะฟ้องจำเลยให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินพิพาทให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 526ไม่ได้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2530 จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินโดยเสน่หาแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 ที่ดินที่จำเลยยกให้โจทก์ตามสัญญามีจำนวน 6 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 29323 ถึง29328 แขวงบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.6 แต่หนังสือสัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มีปัญหาวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 525 บัญญัติว่าการให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบและมาตรา 526บัญญัติว่า ถ้าการให้ทรัพย์สินหรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว และผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับไซร้ ท่านว่าผู้รับชอบที่จะเรียกให้ส่งมอบตัวทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์สินนั้นได้ ฯลฯ สำหรับที่พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด การโอนกรรมสิทธิ์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 4 ทวิแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และหนังสือสัญญาให้ที่ดินโดยเสน่หาตามเอกสารหมาย จ.7 ตอนท้ายมีข้อความว่า ฯลฯ คู่สัญญาจะได้นำไปจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินภายในกำหนด7 วัน นับแต่วันทำสัญญาฉบับนี้ จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงว่าจำเลยประสงค์จะยกที่พิพาทให้แก่โจทก์ โดยทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ฉะนั้น เมื่อการให้รายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้ก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อจำเลยให้การต่อสู้เรื่องการทำสัญญาให้ไม่ถูกแบบเป็นการไม่ชอบแล้ว แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ในข้ออื่น ๆ อีกก็ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ฟ้องของโจทก์สามารถบังคับได้ เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน